xs
xsm
sm
md
lg

แฉพิรุธอื่อร่างงบประมาณเรืองไกรจี้นายกฯส่งศาลตีความขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือยื่นถึง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี โดยส่งไปยังบ้านมนังคศิลา เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 อาจจะตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 ประกอบมาตรา 146 และมาตรา 142 จึงขอให้นายกรัฐมนตรีส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบ ตามมาตรา 154(2)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2552 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2551 พร้อมมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ จากสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 63 คน เพื่อพิจารณากำหนดการแปรญัตติภายใน 30 วัน แต่ปรากฏว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้มีหนังสือที่ 187/2551 ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว จึงขอนำเสนอให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณาต่อไป
ที่น่าสังเกตคือ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2551 จนถึงวันที่ 26 ส.ค. 2551 เป็นจำนวน 60 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดการแปรญัตติภายใน 30 วันไปถึง 30 วัน และจากการตรวจสอบวาระการประชุมสภาฯ ชุดที่ 23 ปีที่ 1 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ตั้งแต่ครั้งที่ 1 วันที่ 6 ส.ค. 2551 จนถึงครั้งที่ 11 วันที่ 5 ก.ย. 2551 กลับไม่พบว่ามีวาระเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม เกี่ยวกับการอนุญาตให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 30 วัน ตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 98 วรรคสอง
นายเรืองไกร กล่าวว่า แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดของ นพ.สุรพงษ์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2551 ปรากฏว่า วุฒิสภา กลับมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของวุฒิสภา จำนวน 25 คน เป็นการล่วงหน้า ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการเสียอีก พร้อมกับการของดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 154 และข้อ 81 วรรคสอง เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี
นอกจากนี้จากการตรวจสอบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร พบว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 146 เข้าข่ายลักษณะเป็นการตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามนัย มาตรา 154 (2) เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในงบประมาณไว้ที่ 1.835 ล้านล้านบาท โดยมีการปรับลดงบประมาณทั้งสิ้น 45,009 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าในเวลาต่อมา ครม.ของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ประชุมเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2551 มีการพิจารณาเรื่องที่ 15 เรื่องการเสนอขอเพิ่ม งบประมาณรายจ่ายในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2552 โดยเห็นสมควรให้ปรับเพิ่มเติมจำนวน 91,939.28 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่เกินกว่าวงเงินที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรับลดไว้จำนวน 45,009 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่เกินกว่าเดิมอีกถึง 46,930 ล้านบาท ซึ่งถือว่ากระทำมิได้ เนื่องจากเข้าข่ายการแปรญัตติเพิ่มเติมรายการ หรือ จำนวนในรายการ ดังนั้นการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบกับ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2552 จึงเป็นการตรากฎหมายขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ขณะเดียวกันยังพบข้อพิรุธคือ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมพิจารณางบประมาณ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2551 และการประชุมมีต่อเนื่องจนถึงวันที่ 6 ก.ย. 2551 เวลาประมาณ 01.00 น. จึงมีมติให้ความเห็นชอบ ด้วยคะแนน 275 ต่อ 122 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และได้ส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาให้วุฒิสภาพิจารณา ในวันที่ 9 ก.ย.2551 แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 5 ก.ย. 2551 คณะกรรมาธิการ กิจการวุฒิสภา มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สว(กมธ3) 0019/ว2583 เรื่องการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ของวุฒิสภา โดยระบุว่า วุฒิสภาจะต้องพิจารณา ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวภายในยี่สิบวันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 ในการประชุมวุฒิสภาวันศุกร์ที่ 12 ก.ย. 2551
ซึ่งถือว่า การออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ สว(กมธ3) 0019/2583 นี้ กระทำก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.ของวันที่ 6 ก.ย. 2551 จึงเป็นขั้นตอนการตรากฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 146 นอกจากนี้ ยังเป็นการพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 วรรค 4 เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ยังไม่ผ่านความมติขั้นรับหลักการจากสภาผู้แทนราษฎร
ผมเห็นข้อพิรุธมากมาย และพบว่าหลายเรื่องในการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกระทำไม่ถูกต้อง จึงทำหนังสือถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อแจ้งให้ทราบ และคิดว่า ท่านควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 1.ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ตราขึ้น โดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.ร่างพ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวเป็นอันต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น