xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.เชื่อมั่นหุ้นไม่หลุด600จุด ลูกค้าเริ่มลงทุนเพิ่มเก็บของถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ผู้จัดการกองทุนระบุ แรงกดดันจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ ไม่ฉุดดัชนีหุ้นไทยหลุด 600 จุด ชี้กระทบจิตวิทยาระยะสั้นเท่านั้น ลุ้นความชัดเจนทางการเมือง หนุนดัชนีรีบานด์ ระบุเป็นจังหวะที่ลงทุนได้ แต่ต้องจับจังหวะให้ดี ล่าสุดลูกค้าเริ่มทยอยลงทุนเพิ่ม มองเป็นโอกาสดีในการเก็บของถูกทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชีย เพื่อรับผลตอบแทนที่สูง

นายฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดกับตลาดหุ้นไทยในวันนี้ เป็นผลกระทบจากจิตวิทยาจากปัญหาการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วานิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมามากแล้วจากปัญหาการเมืองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแรงกดดันจากความกังวลที่ว่าจะมีสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาอีกหลายแห่งประสบกับปัญหาสภาพคล่องตามมาอีกนั้น จะไม่ฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยลงไปต่ำกว่า 600 จุด และเชื่อว่ายังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตลาดหุ้นไทย ซึ่งหลังจากนี้ ดัชนีน่าจะรีบาวน์กลับขึ้นมาได้ และหากบวกกับปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกทาง
“ผลกระทบกับตลาดหุ้นไทย เป็นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งในช่วงนี้ จะยังเห็นการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อนำไปชดเชยผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าตลาดปรับลงไปมาก ก็จะส่งผลต่อแวลูเอชั่นของตลาด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นจังหวะที่น่าลงทุน แต่ต้องจับจังหวะให้ดี เพราะเซนติเมนต์ของตลาดในตอนนี้ยังไม่ดี”นายฐนิตพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนกองทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศของเอวายเอฟ ไม่มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บราเธอร์ส แต่อย่างใด ซึ่งปัจจัยลบต่างๆ ที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นในช่วงนี้ ในส่วนของนักลงทุนเองมีการใส่เงินลงทุนเข้ามาเรื่อยๆ เพราะนักลงทุนเข้าใจว่า การที่ตลาดปรับลดลงนั้น มาจากสาเหตุอะไร ซึ่งในช่วงที่ตลาดแกว่งตัวเช่นนี้ นักลงทุนเองก็ต้องการหามืออาชีพเข้ามาช่วย
นายฐนิตพงศ์วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์ส ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย เพราะตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เราเองรวมถึงนักวิเคราะห์ต่างก็คาดการณ์กันแล้วว่า สถาบันการเงินในสหรัฐอเมิรกาจะได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ออกมาโวยวายถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าว ซึ่งสถาบันการเงินเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาซับไพรม์จะยังไม่จบที่เลห์แมน บราเธอร์ส เท่านั้น แต่จะมีออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องในเร็วๆนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั้งนั้น เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง
ทั้งนี้ การที่ตลาดเครดิตค่อนข้างขาดสภาพคล่องในปัจจุบัน เชื่อว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัดสภาพคล่องเข้ามาในระบบอย่างรุนแรงอีกครั้ง เช่นการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะเดียวกัน เชื่อว่าเฟอเองจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโดยตรง แต่ก็เป็นการลดความรู้สึกของนักลงทุนต่อปัญหาดังกล่าว
ส่วนปัญหาสภาพคล่อง แน่นอนว่าคงลดลงทั่วโลก เพราะในหลายตลาดพอมีปัญหาเครดิตขึ้นมา ก็ทำให้การระดมทุนลำบอกขึ้น เพราะเงินออกมาในตลาดน้อย ซึ่งเรื่องนี้ ต้องอาศัยธนาคารกลางของแต่ละประเทศในการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ
นายฐนิตพงศ์กล่าวต่อถึงแนวโน้มราคาน้ำมันว่า เร็วๆนี้ น่าจะเห็นราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ เราเคยคาดการณ์ไว้แล้วว่าราคาน้ำมันจะต้องปรับตัวลดลงตั้งแต่ปรับขึ้นไปที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะถูกกำหนดโดยดีมานด์และซับพลาย ซึ่งเรามองว่าระดับราคาที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น น่าจะเป็นระดับราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง CDO (Collateralised Debt Obligation) คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.02 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของเงินฝากทั้งระบบที่ 8 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนใน CDO ที่เกี่ยวข้องกับกับเลห์แมน บราเธอร์สนั้น มีมูลค่ารวมประมาณ 4,300 ล้านบาท และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประมาณ 5,300 ล้านบาท
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีการลงทุนใน CDO เช่น ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งคิดเป็นวงเงินประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่ธนาคารกรุงเทพมีการกันเงินสำรองไว้แล้วเต็ม 100% ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีเงินลงทุนใน CDO ประมาณ 2,800 ล้านบาท ซึ่งมีการกันสำรองไว้เพียง 51% เท่านั้น
ในขณะที่ธนาคารกรุงไทย ออกมาเปิดเผยว่า มีสัดส่วนการลงทุนใน CDO ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บราเธอร์ส เพียง 1% ของ CDO ที่ถืออยู่ทั้งหมด
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) เปิดเผยว่า ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งในกรณีของเลย์แมน บราเธอร์ส และยังมีสถาบันการเงินแห่งอื่นที่ยังทำท่าว่าจะมีปัญหาตามมาอีกนั้นไม่ได้ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ไถ่ถอนหน่วยลงทุนแต่ประการใด อย่างไรก็ตามผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับตัวลดลงมาซึ่งกองทุน FIF ของบริษัทเองก็ปรับตัวลงมาตามภาวะตลาดเช่นเดียวกัน และในช่วงนี้กลับมีลูกค้าเข้ามาลงทุนในกองทุนหุ้นมากขึ้นเพราะมองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยและในภูมิภาคปรับตัวลงมามาก ซึ่งการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยเป็นผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นมากกว่า โดยเฉพาะในเอเชียและไทยน่าจะมีผลกระทบในวงจำกัด เพราะมีสถาบันการเงินที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับเลย์แมน บราเธอส์ค่อนข้างน้อย ในส่วนของกองทุน FIF ของบริษัทก็ไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับเลย์แมน บราเธอส์เลย
“แต่กรณีของเลย์แมน บราเธอส์ตลาดค่อนข้างประหลาดใจที่รัฐบาลปล่อยให้ล้มโดยไม่เข้ามาอุ้มเหมือนสถาบันการเงินที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเลย์แมน บราเธอร์สเป็นบริษัทวาณิชธนกิจไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งอาจจะมองว่ามีผลกระทบในวงกว้างน้อย อีกทั้งใกล้การเลือกตั้งของสหรัฐการจะนำเงินภาษีมาอุ้มสถาบันการเงินลักษณะนี้อาจจะดูไม่เหมาะนัก”
กำลังโหลดความคิดเห็น