xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปลูกไม้กฤษณาใต้เมินพ่อค้าคนกลาง รวมกลุ่มขายเอง-ประมูลล็อตแรก12 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม้กฤษณา ไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของภาคใต้ ที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เกษตรกรผู้ปลูกไม้กฤษณาในพื้นที่ภาคใต้ รวมกลุ่มกันปลดแอกพ่อค้าคนกลาง ที่กดราคารับซื้อผลผลิตมาตลอด โดยมีการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกแล้วประสานพ่อค้าต่างชาติเข้าประมูลโดยตรง เตรียมประมูลล็อตแรก 100 กิโลกรัม มูลค่าร่วม 12 ล้านบาท เผยไม้กฤษณามีอนาคต ตลาดต้องการทั่วโลก แต่ยังผลิตตอบสนองได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นายโกศล นาวาทอง สมาชิกกลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้ เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกไม้กฤษณาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันครั้งแรก โดยขณะนี้มีสมาชิกจำนวน 40 ราย จากผู้ปลูกไม้กฤษณาในภาคใต้ทั้งหมดประมาณ 100 ราย รวมจำนวนไม้กฤษณาทั้งหมดประมาณ 100,000 ต้น ส่วนใหญ่เริ่มปลูกเมื่อปี 2540 โดยพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุด คือ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง กระบี่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

“การรวมกลุ่มของผู้ปลูกไม้กฤษณาในภาคใต้ เป็นไปเพื่อรวบรวมผลผลิตของสมาชิกมาอยู่ในศูนย์เดียวกัน ก่อนจะมีการเชิญพ่อค้าจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเศรษฐีตะวันออกกลางมาประมูลราคา การขายแต่ละครั้งจะมีไม้กฤษณาไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม การรวมกลุ่มกันขายเกษตรกรจะได้ราคาที่เป็นจริงตามตลาด ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางบางกลุ่มที่กดราคารับซื้อ ไม่เป็นไปตามราคาของตลาดโลก โดยที่ผ่านมาพ่อค้ามักอ้างว่าผลผลิตที่ได้มีคุณภาพยังไม่ดีพอราคาจึงต่ำ โดยปกติราคาไม้กฤษณาอยู่ที่กิโลกรัมละ 120,000 บาท”

นายโกศล กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรขายไม้กฤษณาได้ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากเกษตรกรขาดข้อมูลของตลาดโลก จึงทำให้ถูกกดราคามาโดยตลอด การรวมกลุ่มกันโดยมีการบริหารจัดการและทำตลาดเอง ทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยจะมีฝ่ายประสานงานของกลุ่มทำหน้าที่ติดต่อกับพ่อค้าชาวต่างประเทศโดยตรงให้มาร่วมกันประมูลไม้กฤษณาทำให้ได้ราคาตามความเป็นจริง กลุ่มพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้รับซื้อไม้กฤษณารายใหญ่จากกรุงเทพฯ ไม่สามารถกดราคาเกษตรกรได้อีกต่อไป

“การรวบรวมไม้กฤษณาจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกมีหลักเกณฑ์ว่าเริ่มจากรายละ 1 ต้นต่อครั้ง ไม่จำเป็นต้องนำออกมาขายเป็นจำนวนมากและทั้งหมด โดยจะทยอยนำออกขายเป็นครั้งคราวให้สมดุลกับราคาและความต้องการของตลาด ในเร็วๆ นี้กลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้จะรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกจำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อติดต่อให้พ่อค้าต่างประเทศมาประมูลเป็นรุ่นแรก และล็อตแรกหลังจากที่มีการรวมกลุ่ม มูลค่าทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 12 ล้านบาท”

นายโกศล กล่าวอีกว่า ไม้กฤษณาสามารถขายได้ทั้งน้ำมันและลำต้น โดยบางกิ่งที่มีรูปทรงสวยงาม จะมีราคาตั้งแต่ 200,000 บาท เป็นต้นไป ซึ่งบรรดาเศรษฐีในกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางจะนิยมมาซื้อไว้ประดับบ้าน

ในปัจจุบันความต้องการไม้กฤษณาของตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมาก แต่เกษตรกรสามารถผลิตสนองตอบความต้องการได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ตลาดโลกมีการสั่งซื้อและสั่งจองจำนวนมาก และเกษตรกรผู้ปลูกไม้กฤษณาทางภาคใต้ก็พร้อมที่จะนำผลผลิตออกขายเนื่องจากไม้กฤษณาที่เริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2540 มีอายุครบสมบูรณ์พร้อมสำหรับการให้ผลผลิตน้ำมัน ซึ่งนำไปแปรรูปเป็นน้ำหอมได้

นายโกศล ยังกล่าวอีกว่า การปลูกไม้กฤษณา สามารถปลูกได้ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งปลูกเชิงเดี่ยว และปลูกแบบสวนผสม เช่น ปลูกผสมกับยางพารา สวนปาล์ม สวนเงาะ อย่างยางพารา ปลูก 77 ต้นต่อไร่ ไม้กฤษณาก็สามารถปลูกผสมได้ 77 ต้น ยางพารา กรีดได้ในระยะเวลา 7 ปี ไม้กฤษณาก็นำผลผลิตออกจำหน่ายในเวลา 7 ปี เช่นกัน

“ไม้กฤษณามีหลายสายพันธุ์ มีทั้งที่งอกขึ้นตามธรรมชาติ และที่เพาะปลูกขึ้นเอง ไม้กฤษณาเป็นพันธุ์ไม้สงวน แต่หากมีการปลูกขึ้นเองก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย โดยจะต้องนำเสนอรายละเอียดแก่ทางราชการ ก่อนหน้านี้มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงบ้าน รวบรวมส่งขายที่ตลาดซอยนานา กรุงเทพฯ โดยมีพ่อค้าชาวไทยกับชาวต่างชาติ เป็นศูนย์รับซื้อเพื่อส่งออก และอีกตลาดคือนำส่งไปขายในประเทศมาเลเซีย ก่อนที่เกษตรกรจะมารวมกลุ่มทำตลาดเองในปัจจุบัน”

นายโกศล กล่าวว่า การลงทุนปลูกไม้กฤษณา มีต้นทุนประมาณปีละ 1,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมการลงทุนแต่ละรุ่นต้นละประมาณ 20,000 บาท จะได้ผลผลิตต้นละ ประมาณ 10 – 20 กิโลกรัม ไม้กฤษณาในภาคใต้ เหมาะสมที่จะปลูกได้ทุกพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่ทำนา ปัจจุบันไม้กฤษณาปลูกมากที่ภาคอีสาน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น