พัทลุง – กลุ่มเกษตรกรไม้กฤษณาภาคใต้ เผย หลังจากถูกจับกุมและส่งฟ้องศาลเรื่องการแปรรูปกลั่นน้ำมันไม้กฤษณา พบศาลยกฟ้องแต่ของกลางที่ถูกยึดหายหมด ขณะที่ไม้กฤษณาภาคใต้ สต๊อกถึงสิ้นปี 1,000 ต้น มูลค่า 100 ล้านบาท เหตุเป็นที่นิยมของกลุ่มเศรษฐีมุสลิมตะวันออกกลาง
นายกุศล นาวาทอง สมาชิกกลุ่มรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีประชุมสมาชิกกลุ่มรักษ์ไม้กฤษณาจากพื้นที่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ที่น้ำตกไพรวัลย์ อ.กงหรา จ.พัทลุง โดยในที่ประชุมได้สรุปประเด็นปัญหาที่ผ่านมา ที่พวกเราประสบปัญหากันคือ เกษตรกรไม้กฤษณา ประสบปัญหาเรื่องกฎหมายกฎกระทรวงที่ออกมาควบคุม ห้ามแปรรูปไม้กฤษณาในหลายพื้นที่หลายจังหวัด จนสมาชิกรายหนึ่งได้แปรรูปกลั่นน้ำมันไม้กฤษณา ปรากฏว่าถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และส่งฟ้องศาล แต่ ศาลได้ยกฟ้อง แต่ของกลางของสมาชิกที่เจ้าหน้าที่ยึดไปกลับสูญหายหมด เป็นเงินหลายแสนบาท มีหม้อกลั่น และไม้กฤษณา พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งทางสมาชิกฯ จะทำการร้องเรียนในกรณีดังกล่านี้ต่อไป
ความจริงการผลิตไม้กฤษณาน่าจะผลิตเป็นไม้ตัว ดีกว่ากลั่นหรือต้มน้ำมาขายน้ำมัน เพราะจะสิ้นเปลืองมากกว่า และการตลาดจะช้ากว่า แต่การผลิตไม้ตัวจะง่ายกว่า แต่จะเหลือเศษไม้กฤษณาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการแปรรูปไม้กฤษณานี้จะดำเนินการไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป แต่ทางสมาชิกผู้ผลิตไม้กฤษณาจะต้องพิสูจน์ตัวเองเสียก่อน
นายกุศล กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องน้ำมันกฤษณาปลอมปน ปรากฏว่ามีการระบาดโดยมีกรรมวิธี คือนำน้ำมันกฤษณา 1 ลิตร ปลอมปนกับน้ำมันลักษณะคล้ายกฤษณาอีก 10 ลิตร มีการนำมาผลิตและจำหน่าย หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ผู้บริโภครู้ ปัญหานี้ และไม้กฤษณาตัวไม้เจือปนด้วยไม้อื่นๆ
ทั้งนี้ สมาชิกจะต้องมีความซื่อสัตย์เกี่ยวกับการผลิตไม้กฤษณาอย่างเคร่งครัด หาไม่แล้วจะขาดความเชื่อถือจากผู้บริโภค จะทำให้เกิดความเสียหายแล้วจะเกิดการสูญเสียทางการตลาดในที่สุด
“จากประเมินภาพรวมไม้กฤษณาที่ภาคใต้ ขณะนี้อยู่ในสต๊อกถึงสิ้นปี 2551 ประมาณ 1,000 ต้น ราคากลางต้นละ 100,000 บาท มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะทยอยออกขายเป็นล็อต ขณะนี้ดีลเลอร์จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้ขอคำยืนยันถึงปริมาณการผลิตที่แน่นอน ซึ่งผลผลิตไม้กฤษณาทางภาคใต้ที่ออกขายไป ตอนนี้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้ว”นายกุศลกล่าว
ทางด้านนายก่อเดช เส็นหมาด อายุ 64 ปี บ้านเลขที่ 41 หมู่ 8 ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ปลูกไม้กฤษณาทิ้งไว้ในสวน ประมาณ 2,000 ต้น ปลูกมาแล้ว 5 ปี ยังขายไม่ได้ แต่จะไปดูการประมูลก่อน โดยสมาชิกในพัทลุงที่ปลูกไม้กฤษณา มีไม่ต่ำกว่า 30 ราย ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่อำเภอตะโหมด ป่าบอน กงหรา ศรีนครินทร์ และบางแก้ว และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมุสลิม ซึ่งไม้กฤษณา ขายได้ทั้งน้ำมัน และต้น โดยกิ่งกฤษณาที่มีรูปทรงสวย สง่างาม ก็จะมีราคาหลักแสน เป็นที่นิยมในบรรดากลุ่มเศรษฐีมุสลิมตะวันออกกลาง อินเดีย จีน และญี่ปุ่นซื้อไว้ประดับบ้าน
จากที่กลุ่มไม้กฤษณา รวมเป็นกลุ่มก้อนแล้วทำตลาดเอง ปรากฏว่า สามารถตัดพ่อค้าคนกลางได้ประมาณ 6-7 ชั้น เหลือประมาณ 3 ชั้น จะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มปลูกไม้กฤษณามาก และขั้นตอนต่อไป กลุ่มรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้ ที่มีสมาชิก 14 จังหวัดภาคใต้ จะทำการแปรรูปเป็นกลุ่มแปรรูปไม้กฤษณาแห่งประเทศไทย แล้วจะเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น โดยเปิดให้มีสมาชิกทั่วทั้งประเทศ