สตูล – เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงแพะจังหวัดสตูลเร่งพัฒนาและผลักดันให้แพะของจังหวัดสตูล เป็นที่รู้จักและมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้าง Brand Neme แพะของจังหวัดสตูล ให้เป็นที่รู้จักและส่งออกตลาดประเทศมุสลิม
วันนี้ (5 มิ.ย.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 สงขลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนาทางวิชาการ โครงการนำร่องการเลี้ยงแพะในพื้นที่เหมาะสมจังหวัดสตูล ปี 2552 เพื่อพัฒนาและผลักดันให้แพะของจังหวัดสตูล เป็นที่รู้จักและมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และใช้เพื่อเป็นต้นแบบการเลี้ยงแพะของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีศักยภาพและยั่งยืน มีเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสภาบันการศึกษา เข้าร่วมกว่า 200 คน
พร้อมกันนี้ นางสุภาพร พิมลลิขิต รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่า เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแพะของจังหวัดสตูล ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยทั่วไป เพิ่มปริมาณแพะที่มีคุณภาพให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและสามารถส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ พัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและมีการขยายเครือข่าย เพื่อสร้าง Brand Neme แพะของจังหวัดสตูล ให้เป็นที่รู้จักและต้องการบริโภคโดยทั่วไป
ทั้งนี้ นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ หน.กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า การเลี้ยงแพะส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น จึงมีการสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเชิงพาณิชย์ให้ได้คุณภาพ เพื่อขยายส่งออกในรูปแบบผ่านการแปรรูปบรรจุกระป๋องส่งออกไปประเทศมุสลิม อย่าง ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนิเซีย รวมถึงประเทศตะวันออกกลาง โดยมีโรงงานรองรับในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีความต้องการแพะวัน 4 พันตัว ร่วม 1 ล้าน 5 แสนตัวต่อปี
สำหรับจังหวัดสตูลมีเกษตรกร เลี้ยงแพะจำนวน 3,706 ครัวเรือน มีแพะจำนวนกว่า 2 หมื่นตัว ด้านราคาแพะในตลาดกรุงเทพมหานครนั้นราคา กิโลกรัมละ 60 - 65 บาท ตลาดสตูล กิโลกรัมละ 100-120 บาท แพะเขียงในตลาดกรุงเทพมหานครนั้นราคา กิโลกรัมละ 160 บาท ตลาดสตูลแพะเขียงกิโลกรัมละ 250 บาท ทั้งนี้ เพราะจังหวัดสตูลคนส่วนใหญ่จะนำแพะไปทำพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งชาวมาเลเซียมากว้านซื้อ จึงทำให้แพะในพื้นที่จังหวัดสตูลมีราคาแพง