xs
xsm
sm
md
lg

โทษที่สมัครได้รับ : การขาดจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช ได้กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 มีความว่า มาตรา 267 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 265 มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งแสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิได้ด้วย

การที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีในวันที่ 9 กันยายน สืบเนื่องมาจากการที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ ส.ว. 29 คน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องที่ 1-2 เพื่อขอให้วินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการชิมไปบ่นไป และรายการยกโขยงหกโมงเช้า

ในทันทีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นข่าวปรากฏออกไป ได้มีเสียงสะท้อนจากบุคคลทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล โดยมองว่าการกระทำของนายสมัครไม่ผิด และคนกลุ่มนี้ก็น่าจะอนุมานได้ว่าคือกลุ่มนิยมชมชอบนายสมัคร ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และในฐานะเป็นผู้นำทางการเมืองในตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะเห็นได้จากการที่คนกลุ่มหนึ่งออกมาแสดงพฤติกรรมคัดค้านด้วยการเผาหุ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และเห็นได้จากการที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่จะเสนอให้นายสมัครดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง

2. เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคนที่เห็นด้วยมีทั้งกลุ่มการเมืองตรงกันข้ามกับนายสมัคร สุนทรเวช และกลุ่มคนที่ยึดหลักคุณธรรม และจริยธรรมที่นักการเมืองควรจะมี และควรจะเป็น คนกลุ่มนี้จะได้จากการที่ออกมาแสดงการคัดค้านการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยอ้างความไม่เหมาะสม เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช ขาดจริยธรรมที่นักการเมืองควรจะมี และควรจะเป็น

นอกจากคนสองกลุ่มที่มีมุมมองต่างกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายสมัคร สุนทรเวช ในวันที่ 9 กันยายน ยังสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของวงการตุลาการ และความดื้อด้านของนักการเมืองแบบเก่าที่ลงสู่สนามการเมืองด้วยความไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และทำได้ทุกอย่างเพียงเพื่อให้ตัวเอง และพวกพ้องได้รับประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงภาระและหน้าที่ที่ตนเองจะพึงปฏิบัติในฐานะผู้เข้ามารับใช้ปวงชน และเป็นบุคคลสาธารณะที่ควรจะเป็นแบบอย่างอันดีงามให้คนรุ่นหลังได้เดินตาม

อะไรคือเครื่องบ่งชี้ว่านักการเมืองขาดคุณธรรมและจริยธรรม โดยดูจากกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นตัวอย่าง

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดูความเป็นมาของคดีระหว่างนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ถูกร้อง กับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และ พ.อ.สันธิรัตน์ มหัทธนชาติ เลขาฯ อนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวของ กกต.

เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นพิธีกรจัดรายการชิมไปบ่นไป และรายการยกโขยงหกโมงเช้า ซึ่งบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการว่า เป็นการกระทำต้องห้าม และมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือไม่

ในวันที่ 9 กันยายน เวลา 15.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน นำโดย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย และชี้ขาดด้วยเสียงเอกฉันท์หรือ 9 ต่อ 0 ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดลง ดังที่เป็นข่าวและมีรายละเอียดเป็นที่ทราบกันไปแล้วนั้น

แต่ที่นำเรื่องนี้มาเขียนอีกครั้ง ก็ด้วยเห็นว่าถึงแม้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงรายละเอียด และให้ความกระจ่างทั้งในประเด็นของกฎหมายตามนัยแห่งความหมายแห่งเนื้อหากฎหมาย รวมไปถึงการอ้างเหตุผลในการนำเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับมาใช้ ก็ยังมีประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีการยึดติดตัวบุคคล และผลประโยชน์ที่ตนจะพึงมีพึงได้จากการยืนอยู่ข้างนายสมัคร สุนทรเวช ได้ออกมาแสดงอาการไม่เห็นด้วย หรือได้แสดงพฤติกรรมคัดค้านอย่างโจ่งแจ้งชนิดที่พูดได้ว่า ไม่มีความเคารพต่อสถาบันตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์กรหลักในระบบการปกครองประชาธิปไตย จะเห็นได้จากการที่คนกลุ่มนี้ได้ออกมาพูด และกระทำในทำนองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่น มีการเผาหุ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ได้พยายามที่จะเสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ด้วยการเปิดประชุมสภาฯ แต่ปรากฏว่าล้มเหลวเนื่องจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชนแตกออกเป็นกลุ่มมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการที่จะเสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาอีกครั้ง จึงทำให้สภาฯ ไม่ครบองค์ประชุม และมีการเลื่อนออกไปประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 ก.ย. และมีแนวโน้มว่าจะมีการเสนอชื่อบุคคลอื่นมาเป็นนายกฯ แทนนายสมัคร สุนทรเวช

แต่ไม่ว่าจะมีการเสนอให้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ อีกครั้ง หรือไม่มีการเสนอ หรือแม้กระทั่งเสนอแล้วไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอให้เป็นนายกฯ ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้จะต้องมีการจารึกในประวัติการเมืองไทยอีกครั้งว่า นักการเมืองไทยมองข้ามความสำคัญของการมีคุณธรรมและจริยธรรม แต่มุ่งเน้นการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยพึ่งพาอาศัยตัวบุคคลมากกว่าการดำรงหลักการ และอุดมการณ์ที่นักการเมืองจะพึงมีและพึงเป็น โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

จากคำวินิจฉัยชี้ขาดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นใดที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า นายสมัคร สุนทรเวช ขาดจริยธรรมที่ผู้นำประเทศพึงมี และพึงเป็น

เพื่อให้มองเห็นประเด็นแห่งปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น ใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูเนื้อหาในมาตรา 267 ก็จะพบว่ามีการกระทำอันเป็นการต้องห้ามอยู่ 2 ประเด็น คือ

1. จะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กร ที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน (มิได้)

2. เป็นลูกจ้างของบุคคลมิได้

ในประเด็นการเป็นลูกจ้าง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า คำว่าลูกจ้างตามมาตรา 267 มีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมายอื่น โดยต้องแปลตามความหมายทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า ลูกจ้าง หมายถึง ผู้รับค่าจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากมีการตกลงกับผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า ลูกจ้าง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทั้งสิ้น

จากคำวินิจฉัยในประเด็นว่าเป็นลูกจ้างหรือไม่นั้น เป็นอันเข้าใจได้อย่างไร้ข้อกังขาใดๆ และจากคำวินิจฉัยในประเด็นนี้เองที่ทำให้มองเห็นพฤติกรรมบิดเบือนจากคำว่ามิได้เป็นลูกจ้างแต่เป็นการรับจ้าง ซึ่งโดยเนื้อแท้แห่งความหมายตามนัยแห่งมาตรา 267 เป็นอันเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันในตัวอักษรเท่านั้น ยิ่งกว่านี้ เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการรับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินจากคำให้การของเจ้าหน้าที่สรรพากรในเรื่องของการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ยิ่งทำให้เห็นเจตนาในการบิดเบือนชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีการทำเอกสารย้อนหลัง

นอกจากประเด็นของการเป็นลูกจ้างแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกประเด็นการนำรายได้มาแบ่งปันกัน โดยได้ยกการทำรูปการ์ตูนจมูกชมพู่ใบหน้านายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นพิธีกรของรายการชิมไปบ่นไปในรายการของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เป็นการตกลงเพื่อทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันพึงได้จากกิจการร่วมกัน

จากคำให้การของนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 8 กันยายน และคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 กันยายน เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงการขาดจริยธรรมที่นักการเมืองซึ่งเป็นผู้นำประเทศอย่างชัดเจน และไม่มีใครปฏิเสธได้ถ้ามีความรักความเป็นธรรม และยึดมั่นในสถาบันตุลาการ
กำลังโหลดความคิดเห็น