xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทัพทางไกลของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สิ้นเสียงการอ่านคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันอังคารที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เขยิบเข้าใกล้ “การเมืองใหม่” เข้าไปอีกหนึ่งก้าว

แน่นอนว่า มติเอกฉันท์ของ “ตุลาการภิวัฒน์” ครั้งนี้ ย่อมเป็นปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินจริยธรรม และขีดเส้นมาตรฐานทางคุณธรรมของนักการเมืองขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งข้อ ทว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกวุฒิสภาน้ำดีในซีกเดียวกันกับคุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็คือว่ามีคุณูปการไม่น้อยกับการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นครั้งนี้

ดีขึ้นอย่างไร?

นอกจากสมาชิกและ ส.ส.ในสังกัดพรรคพลังประชาชนที่ปราศจากสำนึกเรื่องคุณธรรม-จริยธรรมแล้ว ผมไม่เห็นมีใครที่กล้าออกมาปฏิเสธ หรือวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเหตุผลกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า นายสมัครมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย คือ “กระทำการขัดในเรื่องประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” อีกทั้งยัง “มีการจัดทำหลักฐานเท็จชี้แจงต่อศาล” อีกด้วย

เพราะทุกคนทราบดีว่า การกระทำการขัดในเรื่องประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือ Conflict of Interest นั้นเป็นข้อห้ามที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้ใช้อำนาจรัฐ โดยอย่าว่าแต่ผู้นำประเทศเลย แม้แต่กลไกเล็กๆ ในระบบราชการอย่างข้าราชการชั้นผู้น้อยเอง หากยึดมั่นเรื่องคุณธรรม-จริยธรรม แล้วก็มิอาจใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนไปกระทำการอันเป็นเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้ เช่น ใช้รถยนต์ของหลวงไปในธุระส่วนตัว ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้งาน ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ มติของพรรคพลังประชาชนที่จะผลักดันให้นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายหลังจากที่คณะตุลาการอ่านคำวินิจฉัยไม่นาน โดยแก้ตัวให้นายสมัครว่าสาเหตุที่ถูกวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติก็เพราะ “มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในเรื่องข้อกฎหมาย” จึงเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วประเทศต้องร่วมกันประณามและขัดขวางทุกวิถีทาง

เหตุการณ์ดังกล่าว พิสูจน์ให้เห็นว่า นายสมัคร สมาชิกพรรคพลังประชาชน และคนในระบอบทักษิณ เป็นกลุ่มคนไร้จริยธรรมและคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง และไม่ควรจะได้รับโอกาสให้กลับมามีอำนาจอีกไม่ว่าจะอำนาจในทางใด ไม่ว่าจะในทางนิติบัญญัติ หรือทางบริหาร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยกรอบของ “การเมืองเก่า” ทำให้คนเหล่านี้ยังสามารถดำรงและยึดเกาะอำนาจเอาไว้กับตัวเองได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งๆ ที่ทิศทางของ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ตุลาการ นั้นได้มุ่งหน้าเข้าสู่ “การเมืองใหม่” ไปหมดแล้ว

การเมืองเก่าในแบบของ “ระบอบทักษิณ” (ซึ่งก็รวมเอาพรรคร่วมรัฐบาลของ ตระกูลการเมืองเก่า อย่างเช่น ศิลปอาชา เทียนทอง ขจรประศาสน์ เป็นต้น) จึงกลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่รอวันจะถูกรื้อถอน

โดยส่วนตัว ผมอยากให้พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลลงคะแนนเลือกนายสมัครให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลให้คนหลายคนในสังคมไทยทั้งหลายที่ยัง “หน้ามืดตามัว” กับการเมืองเก่าของระบอบทักษิณจะได้ “ตาสว่าง” และ “ลุกฮือ” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้การลุกฮือจะเป็น “สึนามิ” ที่ซัดระบอบทักษิณและพรรคพลังประชาชนให้ตกไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างรวดเร็ว

ทว่า ลึกๆ แล้ว ผมกลับเชื่อว่าพรรคพลังประชาชน คงจะฉลาดพอที่จะใช้ยุทธวิธี “ลับ-ลวง-พราง” เพื่อลดกระแสความกดดันครั้งนี้ โดยอาจจะมีการเลือกสมาชิกคนอื่นๆ ในพรรคให้ขึ้นมากุมบังเหียนในการบริหารประเทศอีกครั้ง

โดยอาจจะเป็น “3 ส.” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี-สมบัติ อมรวิวัฒน์-สมชาย วงศ์สวัสดิ์

ทั้งนี้ แม้ “3 ส.” จะมีบุคลิกภาพภายนอกดูนุ่ม ดูลึก ดูสุภาพ กว่านายสมัคร แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ทั้ง 3 คนต่างก็เป็น “นอมินีนายใหญ่” ด้วยกันทั้งนั้น นอกจากนี้ทุกคนยังปราศจากความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลอีกด้วย เนื่องจากทั้งหมดก็มีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรีอัปยศชุดที่มีมติให้ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว!

ซึ่งถ้าใครคนใดคนหนึ่งได้รับการเลือกจากสภาฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีจริง ปัญหาก็ยังคงไม่จบและจะยิ่งทำให้ปัญหาฝังรากลึกลงไปอีก .......

นับถึงวันนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 3 เดือนครึ่ง ขาดอีกเพียงไม่กี่วันก็จะครบ 4 เดือน

โดยส่วนตัวผมมั่นใจว่า ระยะเวลา 100 กว่าวัน การเดินทางหลายล้านกิโลเมตรของพันธมิตรฯ นับแสนนับล้านคนทั่วประเทศ หยาดเหงื่อ หยดเลือด รอยน้ำตา ของทุกคนไม่ได้ทุ่มเทลงไปอย่างสูญเปล่าแน่นอน เพราะอย่างน้อยๆ ณ วันนี้ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยก็เริ่มแยกแยะ “การเมืองเก่าอันสามานย์” ออกจาก “การเมืองใหม่” ได้แล้ว

ขณะเดียวกัน เครือข่ายนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ที่จะเป็นผู้สืบทอดปรัชญาแนวคิดในการสานต่อแนวคิดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็กำลังมีการขยายตัวอย่างมีทิศทางและเป็นรูปธรรม

หากพันธมิตรฯ เชื่อมั่นว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อสร้าง “สำนึกทางจริยธรรม” เพื่อสร้าง “การเมืองใหม่” เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” ให้กับชาติ ให้กับลูก-หลาน พวกเราก็จำต้องไม่ใจเร็วด่วนได้ หรือชิงสุกก่อนห่ามอย่างเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น