xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่? เรียนฟรีมีจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษโดย....สุกัญญา แสงงาม

“นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ไม่ฟรีจริงนี่หว่า โรงเรียนยังเรียกเก็บค่าโน่นค่านี่ รวมๆ กันก็หลายพันบาท”

“ไม่เห็นค่าใช้จ่ายลดลงเลย แถมยังจ่ายสูงกว่าปีก่อน โรงเรียนอ้างสารพัด “พิเศษ” สอนพิเศษ กิจกรรมพิเศษ จ้างครูต่างชาติ”

“เปลี่ยนชื่อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เป็นนโยบายช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 15 ปี ดีกว่าหลอกประชาชนว่าฟรี ความหมายตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตฟรีต้องไม่เสียสตางค์”

นี่คือ เสียงบ่นของผู้ปกครองโทรมาโวยวายที่สายด่วน 1579 จนสายแทบไหม้
เสียงสะท้อนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี “ไม่ฟรีจริง” เริ่มหนาหู กระทั่งผู้บริหารฝ่ายการเมืองนั่งไม่ติดเก้าอี้ ขอความร่วมมือฝ่ายข้าราชการประจำโยนหินถามทางว่าหากจัดการศึกษาฟรีแบบไม่เก็บเงินแม้แต่บาทเดียว รัฐบาลต้องควักกระเป๋าเท่าไหร่

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เลือกโรงเรียน 3 แห่งคือ ร.ร.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ ร.ร.สวนอนันต์ และ ร.ร.พุทธจักรวิทยา นำร่องการศึกษาฟรีแบบผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายสตางค์ โดยเบื้องต้นเติมเงินให้โรงเรียนใช้บริหารสถานศึกษาละ 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นโยบายนี้จะออกมานั้น “ร.ร.ทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมป์”จัดให้นักเรียนเรียนฟรีมา 3 ปีแล้ว

“ชัยอนันต์ แก่นดี” ผอ.ร.ร.ทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ เล่าให้ฟังว่า เข้ารับตำแหน่งในปี 2549 ตอนนั้นโรงเรียนมีเด็กไม่กี่ร้อยคนและเกือบ 100% ฐานะยากจนหรือมีรายได้รวมกันทั้งครอบครัวไม่ถึง 6 หมื่นบาทต่อปี รวมทั้งจำนวนไม่น้อยมีปัญหาในเรื่องความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งจากสภาพความเป็นอยู่ดังกล่าวทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง เด็กหลายคนขาดเรียนบ่อย

“ผมและครูจึงไปเคาะประตูบ้านนักเรียนเพื่อสอบถามสาเหตุพบว่าเด็กต้องหยุดไปรับจ้าง นำรายได้ที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงมาซื้อชุดนักเรียน หนังสือเรียน เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ พอรับทราบปัญหาก็จุดประกายให้ผมมีแนวคิดจัดเรียนฟรี โดยใช้เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่รัฐบาลจัดให้มาบริหารสถานศึกษา พร้อมกับยึดแนวทางการบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

“ผมนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับคณะกรรมการสถานศึกษา แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ผมบอกว่าลองดูก่อนเพราะอยากเห็นอนาคตของเด็ก และผมให้สัญญาว่าจะผลักดันให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้นด้วย ในที่สุดคณะกรรมการก็ตกลง ส่วนอาจารย์ ผมก็ขอความร่วมมือ โดยบอกว่านับจากนี้ไปคงต้องทำงานหนักกันหน่อยนะเพื่ออนาคตของลูกศิษย์ พวกเราทุกคนไปตามเด็กให้กลับมาเรียน พยายามโน้มน้าวนักเรียนว่าเรียนจบมัธยม ต่อไปจะหางานดีๆ ทำ สำหรับนักเรียนคนไหนมีปัญหาด้านการเงินและต้องออกไปรับจ้างโดยทำงานหนักเกินไป ทางโรงเรียนก็จ้างให้เด็กทำงานแทนโดยจ่ายแรงให้เด็กวันละ 200 บาท เช่น ขายน้ำให้เพื่อนนักเรียนช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน หรือทำงานอื่นๆ ที่คิดว่าเขาจะทำได้”

ผอ.อนันต์ เล่าต่อว่า เมื่อแก้ปัญหาแรกจบ ก็มีปัญหาใหม่มาเพิ่มความหนักใจให้อีกเพราะผลการเรียนของเด็กโดยภาพรวมค่อนข้างต่ำ จึงตัดสินใจควักกระเป๋าใช้เงินส่วนตัวไปเช่าห้องแถว 2 คูหา เดือนละ 5 พันบาทเพื่อเปิดสอนพิเศษให้นักเรียนฟรี โดยขอความร่วมมือจากครูมาสอนหลังเลิกเรียน รวมทั้งอาศัยความสนิทสนมกับอาจารย์ ร.ร.สวนกุหลาบ และอาจารย์โรงเรียนดังที่เกษียณไปแล้วเชิญมาช่วยสอนพิเศษหลังเลิกเรียนด้วย ขณะเดียวกันให้รุ่นพี่ช่วยติวให้รุ่นน้องและเปิดชั่วโมงติวให้เด็กที่อยู่ ป.6 แล้วกำลังจะศึกษาต่อชั้น ม.1 จนผลสัมฤทธิ์ค่อยขยับขึ้น

กระทั่งต่อมาภายหลังเจ้าของห้องแถว ทราบว่า โรงเรียนเช่าเพื่อใช้ทำอะไร ก็ให้ใช้ฟรีโดยไม่คิดสตางค์

“จากโรงเรียนที่ถูกเมิน วันนี้โรงเรียนมีนักเรียนมากกว่า 1,700 คน นี่ผมมีแผนบริหารสถานศึกษาเพื่อให้เป็นโมเดลเรียนฟรี เพื่อให้รัฐบาลรู้ว่าหากจัดเรียนฟรี รัฐต้องสนับสนุนจำนวนเท่าไหร่ ช่วยเหลืออะไรบ้างด้วย”

ทีนี้ ก็มาถึงโรงเรียนที่กำลังจะถูกทดลองเรื่องเรียนฟรีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย(จริงๆ) กันบ้างว่าพวกเขามีความคิดเห็นเช่นไร

“ปัญญา สุขะวณิชย์” ผอ.จันทร์หุ่นบำเพ็ญ กล่าวว่า ด้วยภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณในการบริการสถานศึกษา สื่อการเรียนการสอน และอื่นๆ ทำให้จำเป็นต้องเก็บเงินบำรุงการศึกษาประมาณคนละ 1,700 บาทต่อเทอม มาจ้างครูต่างชาติ จัดหาคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียน อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องและได้รับงบประมาณเพิ่มนอกเหนือจากเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ก็น่าจะทำให้การขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองหมดไปได้

ขณะที่ น.ส.อัญชลี ประกายเกียรติ ผอ.ร.ร.สวนอนันต์ ให้ความเห็นว่าถึงแม้สพฐ.เลือกสวนอนันต์นำร่องโครงการเรียนฟรีและให้งบประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อมาใช้จ่าย ซึ่งชดเชยจากที่โรงเรียนเคยเรียกเก็บจากนักเรียนเทอมละประมาณ 1,700 บาท แต่ไม่รู้ว่าจะเพียงพอหรือไม่ เพราะโรงเรียนจ้างครูสาขาขาดแคลน และครูต่างประเทศ มาสอนรวมกัน 11 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 แสนบาท

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนต่างแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การที่รัฐเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ผู้ปกครอง พ่อแม่ อยากเห็นมากกว่า นั้นก็คือ การที่นักเรียนมีคุณภาพและส่งให้ถึงฝั่ง ไม่ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือไปเรียนสายอาชีพที่สนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น