xs
xsm
sm
md
lg

“โครงสร้างแกน” สังคมอุดมธรรม (2)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

2. ส่วนแกนกลาง ประกอบด้วยประชาชนที่มีทรัพย์สมบัติและกิจการโดยสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองหรือของบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง มีความสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน และพร้อมที่จะยอมรับกฎ กติกา และวิธีการปฏิบัติบนฐานที่เท่าเทียมกัน

คนส่วนนี้เปี่ยมด้วยพลังวิริยภาพ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง ในทุกเรื่องที่จะให้ผลตอบแทน อีกทั้งมีความสามารถสูงในการปรับตัว ขยันขันแข็ง พลิกแพลงยืดหยุ่น เป็นกลุ่มคนที่สนใจติดตามเหตุการณ์ ข้อมูลข่าวสาร ศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา จึงมีปัญญารู้ทัน หูตาสว่าง แม้จะยึดติดอยู่กับผลประโยชน์เฉพาะตัว แต่เมื่อประเทศชาติต้องการ ก็พร้อมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อส่วนรวม

ดังมีตัวอย่างมากมายในขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ถ้าใช้มาตรฐานทั่วไปวัด ก็ต้องจัดคนพวกนี้อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและเอกชน เช่น พ่อค้าวาณิชย์ นักธุรกิจอุตสาหกรรม พนักงานลูกจ้าง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผู้ทำงานอาชีพอิสระ ยังชีพได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐ ฯลฯ ครอบคลุมอย่างกว้างขวางตั้งแต่ผู้ทำงานอาชีพอิสระไปจนถึงเศรษฐีมหาเศรษฐี

ขมวดเข้ามาให้กระชับอีกสักหน่อย ก็คือ กลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองในทุกสาขาอาชีพ โดยไม่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐหรือองค์กรใดๆ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้หาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงเศรษฐีมหาเศรษฐี ขับเคลื่อนตนเองอยู่ตรงกลางระหว่างประชาชนฐานล่างและกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารที่อยู่ยอดบน

ตามลักษณะของสังคมอุดมธรรม ประชาชนส่วนแกนกลางจะเชื่อมประสานตนเองเข้ากับมวลมหาชนฐานล่างอย่างใกล้ชิด เพราะสองส่วนนี้ไม่มีเส้นแบ่งหรือช่องว่างแต่ประการใด ผู้อยู่ในส่วนฐานล่างสามารถเคลื่อนตัวขึ้นไปสู่ส่วนแกนกลาง และผู้ที่อยู่ส่วนแกนกลางสามารถสลายตนเองเข้าสู่ส่วนฐานล่างได้ตลอดเวลา

กระบวนการไหลเวียนจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน จะดำเนินอยู่อย่างเป็นพลวัต บนเงื่อนไขที่ว่า เมื่อมวลมหาชนฐานล่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มชนในส่วนแกนกลางก็จะยิ่งมีอิสระ และเสรีภาพในการดำรงชีวิต ระบบระเบียบและกฎกติกาต่างๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมายจะยิ่งเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและสะอาดโปร่งใส

โดยนัยก็คือ มวลมหาชนฐานล่างเป็นผู้หล่อเลี้ยงกลุ่มชนแกนกลาง กลุ่มชนแกนกลางจะดำรงชีวิตได้ด้วยดี ก็ต้องอาศัยการยกระดับพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของมวลมหาชนฐานล่าง อันเป็นผลของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหรือระบบ กลไกอำนาจรัฐ โดยคณะผู้บริหารที่ได้รับมอบอำนาจจากมวลมหาชนฐานล่าง

ด้วยเหตุนี้ ในทางการเมือง กลุ่มชนแกนกลาง มีหน้าที่สนับสนุนกระบวนการจุดเทียนปัญญาทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนลงสู่มวลมหาชนระดับฐานล่าง ต้องทำตัวเป็น “พันธมิตร” ที่ไว้ใจได้ของมวลมหาชนฐานล่าง

ในทางเศรษฐกิจ พวกเขามีบทบาทเป็นกองหน้า “วิ่งสู้ฟัด” สร้างงานให้แก่กองทัพผู้ใช้แรงงาน เสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแก่ประเทศชาติโดยรวม

ในทางการเงินการคลัง พวกเขาคือแหล่งรายได้หลักของรัฐ ทั้งด้วยการชำระภาษีอากร และการนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ

คนกลุ่มนี้มีการพัฒนาตนเองสูงมาก มีความเป็นปัจเจกสูง มีคนเก่งคนฉลาดปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป เดินเกมเก่ง ชอบใช้กลเม็ดเด็ดพราย และแสวงหาทางลัดหรือช่องโอกาสพิเศษ แต่จุดอ่อนคือ การยึดติดในผลประโยชน์เฉพาะตน ขาดจิตสาธารณะ หลีกเลี่ยงที่จะอุทิศตัวเพื่อส่วนรวม เป็นต้น จึงไม่ใช่แหล่งกำเนิดสำคัญของผู้นำที่มวลมหาชนฐานล่างไว้ใจได้

ด้วยเหตุนี้เอง บทบาทของพวกเขาจึงเป็น “ตัวช่วย” มากกว่าเป็นตัวนำ ในโครงสร้างสังคมอุดมธรรม

กระนั้นก็ตาม เนื่องจากในหมู่คนส่วนนี้ มีคนดีคนเก่งอยู่มากมาย ในจำนวนนั้นย่อมมีบางคนพร้อมที่จะอุทิศตัว ขึ้นไปแบกรับภาระหน้าที่การงานที่ส่วนยอดบน โดยต้องผ่านระบบคัดกรองอย่างเป็นทางการเสียก่อน

นั่นคือ เมื่อมีผู้ต้องการหรือได้รับการทาบทามให้ไปทำงานส่วนรวม อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ซึ่งก็คือการก้าวขึ้นไปอยู่ส่วนยอดบนของสังคมอุดมธรรม ก่อนอื่นใด จะต้อง “ลงไป” พิสูจน์ตนในหมู่มวลมหาชนฐานล่าง ให้มวลมหาชนฐานล่างมองเห็นถึงความเสียสละ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และความสามารถในการทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง จนกระทั่งได้รับฉันทานุมัติจากมวลมหาชนฐานล่างอย่างเป็นทางการแล้ว จึงมีสิทธิก้าวขึ้นไปรับหน้าที่ใช้อำนาจที่ส่วนยอดบน

อนึ่ง ส่วนแกนกลางนี้ จะเป็นแหล่งใหญ่รองรับกลุ่มผู้มีทรัพย์สมบัติ (กลุ่มทุน)ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งเก่าและใหม่ มองในแง่ดี ก็คือแหล่งพักตัวของกลุ่มทุนทุกประเภท ให้สามารถตั้งหลักแล้วปรับตัวให้เข้าสภาวะใหม่ของสังคมที่มุ่งไปสู่ความเป็นสังคมอุดมธรรม กระทั่งพัฒนาตนเป็นผู้พร้อมอุทิศตนต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสังคมอุดมธรรม

อีกนัยหนึ่ง สังคมอุดมธรรมจะไม่กีดกันหรือทำลายผู้มีทรัพย์สมบัติไม่ว่าในอดีตจะเป็นอย่างไร แต่จะเปิดกว้างให้ทุกคน “วิ่งสู้ฟัด” ในสภาพเงื่อนไขแวดล้อมที่ “เสมอภาค เป็นธรรม” เพื่อให้ผลแห่งความพยายามที่จะสร้างฐานะของตนเอง ตกถึงมวลมหาชนฐานล่าง ตามช่องทางและระบบต่างๆ ที่ได้สร้างและพัฒนาขึ้นมา

3. ส่วนยอดบน ประกอบด้วยบุคคลดีเลิศทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ มีคุณสมบัติเข้าข่าย “เสียสละ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ มีความสามารถ” อย่างแท้จริง

บุคคลเหล่านี้ ล้วนแต่ผ่านการคัดกรองของระบบคัดกรองของมวลมหาชนฐานล่างทั้งสิ้น มีหน้าที่ใช้อำนาจบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุดเสมอ โดยปราศจากผลประโยชน์ส่วนตนอย่างแท้จริง เมื่อใดที่การใช้อำนาจผิดไปจากเจตนารมณ์ของมวลมหาชน มีวาระซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์เฉพาะตนแอบแฝง ก็จะถูกเสนอปลดหรือถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ทันที ด้วยระบบสภาฯ ประชาชน (สร้างขึ้นบนฐานของสภาฯ พันธมิตรฯ)

โดยสรุป กลุ่มผู้ใช้อำนาจที่ส่วนยอดบน จะต้องยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม การจะ “อยู่” หรือ “ไป” จะถือเอามาตรฐานคุณธรรม- จริยธรรมเป็นตัววัด ซึ่งสูงกว่าการใช้มาตรฐานกฎหมาย หรือระเบียบวินัยมาเป็นตัววัด

ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ก้าวขึ้นสู่ส่วนยอดบนของสังคมอุดมธรรม จะต้องเป็นผู้ที่มวลมหาชนไว้วางใจได้มากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น