xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติยังอยู่ ต้องปกป้องตุลาการเพื่อแก้ปัญหาชาติ

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

การที่นายสมัคร สุนทรเวช ยุติบทบาททางการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ไม่ได้แก้ประเด็นปัญหาสำคัญของบ้านเมือง เพราะในความเป็นจริง นายสมัครก็ไม่เคยมีฐานะ “ผู้นำที่แท้จริง” ของพรรคพลังประชาชน มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ผู้นำที่แท้จริง และแกนอำนาจที่แท้จริงของพรรคพลังประชาชน ยังคงเดิม

และยังคงเดินเกมการเมือง นำพาประเทศไปในทิศทางเดิม


วิกฤติของประเทศชาติ ก็ยังคงอยู่ !

1. ขบวนการล้มล้างทำลายอำนาจตุลาการ ยังคงดำเนินต่อไป

อำนาจตุลาการในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ กำลังถูกโจมตี

(1) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกแถลงการณ์เขียนด้วยลายมือ มุ่งโจมตี ใส่ร้ายป้ายสีกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะคดีทุจริตของตนเองและภรรยา

(2) บริวารผู้จงรักภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยึดครองใช้สื่อโทรทัศน์ของรัฐ ช่อง 11 กล่าวให้ร้าย โจมตีอำนาจตุลาการของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ป.ป.ช. และ กกต.

(3) พรรคพลังประชาชน ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นนอมินีหรือหุ่นเชิดของพรรคไทยรักไทย ได้ยึดครองสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล และอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ตีกลับร่างกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ถ่วงเวลามิให้อำนาจตุลาการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญยังคงถูกโจมตีใส่ร้ายได้ต่อไป

(4) มีการจัดตั้งประชาชนผู้จงรักภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงออกและเคลื่อนไหว เพื่อมุ่งต่อต้านอำนาจตุลาการ เช่น การเผาโลงศพที่มีชื่อของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การเผาหุ่นที่มีชื่อของ ป.ป.ช. เป็นต้น

2. อัยการสูงสุดยังล่าช้า ทำให้ความยุติธรรมต้องล่าช้า

(1) ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม

(2) กกต. ได้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ ไปแล้ว และได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ให้ดำเนินการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคต่อไป

แต่ปรากฏว่า จนบัดนี้ การดำเนินการในขั้นตอนของอัยการสูงสุด ก็ยังคงไม่ได้ทำหน้าที่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ การดำเนินการเสนอให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรคนั้น ผ่านการชี้ขาดเรื่องใบแดงของกรรมการบริหารพรรค ทั้ง 3 พรรค ได้ผ่านการสอบสวนข้อเท็จจริง ผ่านการพิจารณาวินิจฉัยในขั้นตอนของ กกต. มาจนหมดสิ้นแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีเสนอเรื่องยุบพรรคพลังประชาชนนั้น ศาลฎีกาฯ เป็นผู้พิพากาชี้ขาด ให้ใบแดงแก่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนไปแล้ว และ กกต. ก็ได้วินิจฉัยมติเอกฉันท์ ให้เสนอเรื่องยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ

อัยการสูงสุด จึงไม่น่าจะมีข้ออ้างว่า จะต้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงใดเพิ่มเติมให้เกิดความล่าช้า หากจะพิจารณา ก็คงพิจารณาเพียง “ประเด็นข้อกฎหมาย” เท่านั้น

(3) ประเด็นข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 บัญญัติว่า

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งผูใดกระทําการ กอ หรือสนับสนุนใหผูอื่นกระทําการอันเปนการฝ่าฝนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญวาดวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการไดมาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทําใหการเลือกตั้งมิไดเปนไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ใหเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกลาว...

...ถ้าการกระทําของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อไดวาหัวหนาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผูใด มีสวนรูเห็น หรือปลอยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทํานั้นแลว มิไดยับยั้งหรือแกไขเพื่อใหการเลือกตั้งเปนไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ใหถือวาพรรคการเมืองนั้นกระทําการเพื่อให ไดมาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิไดเปนไปตามวิถีทางที่บัญญัติไวในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งใหยุบพรรคการเมืองนั้น ใหเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหนาพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกลาวมีกําหนดเวลาหาปนับแตวันที่มีคําสั่งใหยุบพรรคการเมือง”

มาตรา 237 วรรค 2 มีไว้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงและการทุจริตการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง โดยไม่ไว้หน้า หากกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้งจนได้รับใบแดง ก็ต้องดำเนินการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมืองนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด

เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ปรากฏในรายงานการประชุมของ สสร. ครั้งที่ 34/2550 เมื่อวันอังคาร 26 มิถุนายน 2550 หน้า 38-51 บันทึกไว้ชัดเจนว่า นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และคณะ เป็นผู้ขอแปรญัตติเติมข้อความในวรรคสอง มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ และได้ปรากฏเจตนารมณ์ตามที่ได้มีการอภิปราย คือ ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่รับผิดชอบต่อผู้สมัครของพรรคการเมืองในการควบคุมพฤติกรรมของคนของพรรค ไม่ให้กระทำผิด เปรียบเสมือนบริษัทจะต้องควบคุมพฤติกรรมของพนักงาน เจ้าหน้าที่ของบริษัท ไม่ให้กระทำผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องให้กรรมการบริษัทควบคุมพฤติกรรมของคนในบริษัท ซึ่งน่าจะทำให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด เช่นเดียวกับกรรมการบริหารของพรรค ซึ่งถ้ารู้เห็นหรือรู้การกระทำแล้วต้องแก้ไขเยียวยา ไม่ปล่อยปละละเลย กรรมการบริหารพรรคต้องทำหน้าที่บริหารจริงๆ ไม่ใช่ใส่ชื่อไว้เพื่อเป็นเกียรติ ไม่ต้องทำงาน และหากกรรมการบริหารพรรคคนใด (ผู้ใด) รู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งแก้ไข ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุให้ยุบพรรค

คำว่า "กรรมการบริหารพรรคผู้ใด" หมายถึง กรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งคนใด หรือผู้หนึ่งผู้ใด คนเดียวกระทำผิดก็ได้

คำว่า “มีส่วนรูเห็น หรือปลอยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทํานั้นแล้ว มิไดยับยั้งหรือแก้ไข” หมายความว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคเป็นผู้กระทำเสียเอง ก็เท่ากับว่า มีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลย มิได้ยับยั้งแก้ไข อยู่ในตัวเอง ไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก

คำว่า "ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการ" ก็หมายความว่า เท่ากับว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการ โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก

เหมือนกับ ถ้าบอกว่า "เหตุฆ่ากันตายที่เกิดบนเรือไทยให้ถือว่าเหตุเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย" ย่อมหมายความว่า เมื่อเกิดเหตุฆ่ากันตายบนเรือไทย ไม่ว่าจะแล่นอยู่ในน่านน้ำประเทศไหน ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายไทย ไม่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดในราชอาณาจักรไทยหรือไม่อีก เป็นต้น ต่างกับคำว่า "ให้สันนิษฐานว่า" ซึ่งมีความหมายว่า ให้สงสัย และต้องพิสูจน์ข้อสงสัยนั้นต่อไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยได้ชี้แจง พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แล้วศาลจึงตัดสินว่า ข้อสันนิษฐานหรือข้อสงสัยนั้นถูกต้องหรือมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่

จะเห็นว่า แม้แต่ในการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมาย ก็มีความชัดเจนอยู่ในตัวเอง อัยการสูงสุด จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องเสียเวลา หรือทำให้เกิดความเนิ่นช้า แต่อย่างใดเลยแม้แต่น้อย

(3) ประเด็นการเมือง ซึ่งอันที่จริง อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจนำปัจจัยทางการเมืองมาพิจารณาประกอบด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ไม่มีอะไรน่าห่วงแทนพรรคการเมืองที่จะถูกยุบ เพราะ ส.ส.ก็สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ และเขาได้เตรียมการรองรับไว้หมดแล้ว

มีการจดชื่อพรรคใหม่ มีการจัดเตรียมที่ตั้งพรรคใหม่ มีการประชุมกันไปเรียบร้อยแล้วด้วย ที่ตึกชินวัตรไหมไทย ซอยประสานมิตร

(4) สิ่งที่ “อัยการสูงสุด” ควรจะห่วง คือ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นการ “เปิดโอกาส” ให้ขบวนการของฝ่ายการเมืองที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในช่วงหลังๆ

ยิ่งล้าช้าต่อไป อัยการสูงสุดอาจเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม

3. พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่

(1) พรรคพลังประชาชน มีพฤติกรรมเป็น “นอมินีของไทยรักไทย” (ตามความเห็นของ กกต.)

ก่อนหน้านี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย สั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย โดยชี้ชัดว่า

“...มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้าดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งประสงค์เพียงดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ นอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตลอดจนบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนยากที่หาอุดมการณ์อันแท้จริงของพรรคให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนโดยรวมว่า เมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะดำเนินการปกครองโดยสุจริต ไม่ประพฤติมิชอบหรือบริหารราชการแผ่นดินโดยแอบแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง...”

พรรคพลังประชาชนจึงไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น

(2) พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ ได้ผ่านการเลือกตั้ง เข้าสู่อำนาจรัฐ โดยกระทำการทุจริตเลือกตั้ง ที่เป็นความผิดร้ายแรง กระทั่งมีคดียุบพรรคอยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำให้ล่าช้า

แต่ความล่าช้าดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้ทั้ง 3 พรรค มีความชอบธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

(3) พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่น่าจะชอบธรรมมาแล้ว และคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ก็ได้กระทำการใช้อำนาจ มีมติ ครม.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 กรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร อันอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อการกระทำผิดดังกล่าวเลย

(4) การที่มีการสร้างสถานการณ์ให้ นปก. บุกไปทำร้ายพันธมิตรฯ จนเกิดเหตุรุนแรง มีคนตาย 1 คน บาดเจ็บมากกว่า 40 คน จากนั้น นายสมัคร และคณะรัฐมนตรีก็มีมติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าเหตุ ทั้งๆ ที่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ตามกฎหมายปกติ จึงน่าจะเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมิชอบ เกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ซึ่งแม้แต่ ผบ.ทบ.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับสูง ยังแสดงออกถึงความไม่จำเป็นของการใช้อำนาจตามสถานการณ์ฉุกเฉิน

คณะรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบ

(5) กรณีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าคณะรัฐมนตรี กระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน และยังมีพฤติกรรมแสดงเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ (เพียงแต่ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการอยู่เท่านั้น) พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค ที่ให้การสนับสนุนนายสมัคร ก็จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย มิใช่ลอยตัว และยังจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เสมือนหนึ่งตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลของนายสมัครเลย

สรุป

1. วิกฤติของประเทศชาติยังคงอยู่

2. พรรคพลังประชาชนไม่มีความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาล ยึดกุมอำนาจฝ่ายบริหาร

3. พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค จะต้องรับผิดชอบ และไม่มีความชอบธรรมที่จะร่วมกันตั้งรัฐบาลแบบเดิมอีกต่อไป

4. อัยการสูงสุด จะต้องรีบดำเนินการ เพื่อมิให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวถ่วงของกระบวนการยุติธรรม

5. ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ ตำรวจ รัฐบาล รัฐสภา หรือประชาชน จะต้องช่วยกันประคับประคอง ปกป้องคุ้มครอง ช่วยเหลือให้ฝ่ายตุลาการสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รอดพ้นจากการขาบจ้วง กระทบต่อสถาบันสูงสุดอันเป็นที่เคารพของประชาชน

6. อำนาจฝ่ายตุลาการ จะต้องทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ตรงไปตรงมา ตามหลักนิติรัฐ เพื่อเป็นหลักยึดของบ้านเมือง คลี่คลายปัญหาวิกฤติความขัดแย้ง ตามระบบและกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น