xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองใหม่กับบทลงโทษแรงๆ

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เป็นเรื่องดีที่พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์เรื่อง “การเมืองใหม่” เพราะมีคนเข้าใจผิดว่าการที่จะให้มี ส.ส.แต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30 นั้นเป็นข้อเสนอที่มีการพิจารณาขั้นสุดท้ายแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง

“การเมืองใหม่” ไม่ได้เป็นแนวโน้มเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกา และในแคนาดาก็มีการพูดถึงการเมืองใหม่ โดยเห็นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนไม่สามารถดูแลความเดือดร้อนของประชาชนได้ ซึ่งเป็นปัญหาก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวขององค์กรเอกชนอาสาสมัครมากมาย

ประเด็นสำคัญก็คือ ประชาชนเห็นว่า ประชาธิปไตยมีขอบเขตเกินกว่าการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของประชาชน หลังการเลือกตั้งมีน้อยมาก การแก้ไขปัญหานี้ทำได้สองวิธี คือ ปฏิรูปแก้ไขวิธีการเลือกผู้แทนอย่างหนึ่ง กับคงระบบเดิมไว้ แล้วไปเพิ่มช่องทาง และโอกาสของประชาชนในการมีส่วนร่วมอีกอย่างหนึ่ง ประการหลังนี้สะท้อนจากการนำระบบประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงมาใช้ เท่ากับทำให้ประชาชนได้แสดงความต้องการอย่างตรงไปตรงมา และมีประเด็นที่ชัดเจน ของไทยเราเริ่มใช้ในกฎหมายผังเมือง และต่อมารัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิชุมชนในการพิทักษ์สภาพแวดล้อมของชุมชน

ปัญหาสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทย คือ การซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง การที่นักการเมืองซึ่งอาจไม่มีความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์พอเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และการใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง

ยิ่งมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มหนึ่งก็สามารถกุมฐานเสียงได้ โดยอาศัยงบประมาณแผ่นดินลงไปทำโครงการต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวรายได้จากการทำโครงการเหล่านั้นด้วย

ดังนั้น ภาพของนักการเมืองจึงตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกว่าระบบการเลือกตั้งเป็นผลร้ายต่อระบอบประชาธิปไตยก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การมีองค์กรอิสระ และมีศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินโทษของพรรคการเมือง นับว่าเป็นการทุเลาปัญหาลงได้บ้าง แต่ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็จะกลับมาอีก สมาชิกพรรคที่ถูกยุบก็พากันไปรวมกันอยู่ในพรรคใหม่ เช่น พรรคไทยรักไทยไปอยู่กับพรรคพลังประชาชน เป็นต้น

หากต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างเด็ดขาด ก็ต้องมีบทลงโทษที่แรงกว่านี้ การมีบทลงโทษ การทำความผิดทางการเมืองสามารถทำได้ตามความจำเป็น และความรุนแรงของปัญหา และเท่ากับเป็นการพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการป้องกัน และปรามไม่ให้พรรคมีการซื้อเสียงอีก

วิธีการที่ผมเห็นว่าจะใช้ได้ผลก็คือ การระบุในคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่า จะต้อง “ไม่เคยเป็นสมาชิกของพรรคที่ถูกคำสั่งยุบพรรค” สมาชิกพรรคพลังประชาชนทั้งหมด เมื่อย้ายไปตั้งพรรคใหม่ก็ไม่สามารถลงสมัครได้ พรรคต้องไปหาผู้สมัครใหม่ และถ้าพรรคอื่นๆ ถูกยุบ ลูกพรรคก็หมดสิทธิ การมีบทบัญญัตินี้จะทำให้พรรคเข็ดหลาบ เพราะไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคเท่านั้นที่โดน แต่ผู้สมัครทุกคน และสมาชิกพรรคก็พลอยถูกลงโทษไปด้วย

นี่เป็นเพียงข้อเสนอที่คงมีคนไม่เห็นด้วยมาก โดยอ้างว่าเป็นโทษหนักเกินไป แต่ก็ไม่เห็นวิธีการอื่นที่จะปรามไม่ให้พรรคซื้อเสียงอีก

นอกจากนั้น น่าจะมีการให้หาเสียงได้จน 3 วันก่อนการลงคะแนน การเว้นระยะจะทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากลำบากขึ้น

ปัญหาหลายอย่างของสังคมไทยเรานับวันจะมีมากขึ้น ก็เพราะเรามีการลงโทษนักการเมืองน้อยมาก ผิดกับในเกาหลีซึ่งทำกันอย่างจริงๆ จังๆ ในระยะหลังๆ นี้ศาลพิพากษาลงโทษนักการเมืองอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายวัฒนา อัศวเหม หรือนายสมชาย คุณปลื้ม

นักการเมืองไทยมีความเก่งอยู่อย่างหนึ่งคือ การหาทางเลี่ยงกฎหมาย และมาตรการที่ใช้บังคับต่างๆ เราจึงต้องคิดหาวิธีกาที่ได้ผลจริงๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว

หากเรานำวิธีการเช่นนี้มาใช้ วิธีการ 70:30 ก็ไม่ต้องมี ปล่อยให้มีการเลือกตั้งแบบเก่าไป ในที่สุดนักการเมืองที่เคยชินกับการซื้อเสียง กับการแสวงหาผลประโยชน์ก็จะหมดไป คนดีก็จะเข้าสู่วงการเมืองมากขึ้น

ก่อนจบบทความมีคนมาถามว่า นักเรียนวชิราวุธไปขึ้นเวทีพันธมิตรฯ จริงหรือ มีครูโทร.มาบอกว่าไม่ใช่นักเรียนวชิราวุธ เวลานี้มีนักเรียนอีกหลายโรงเรียนแต่งเครื่องแบบคล้ายกัน การไปร่วมเวทีพันธมิตรฯ เป็นเรื่องที่ดี นักเรียนควรถือโอกาสไปศึกษาหาความรู้ ยิ่งชุมนุมกันใกล้บริเวณโรงเรียนหลายโรงเรียน ครูสังคมศึกษาก็ยิ่งพานักเรียนไปสังเกตการณ์ ฟังคำปราศรัย และสัมภาษณ์ผู้คนที่มาร่วมชุมนุม

จริงอย่างนายสมัครว่า วชิราวุธมีนักเรียนเกือบ 900 คน ผมอยากแถมว่า ก็นั่นน่ะซิ หากจะไปร่วมก็คงไม่ใช่แค่ 3 คน คงไปอย่างน้อยก็ 300 หรืออาจ 700-800 คนก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น