ผู้จัดการรายวัน- อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-นักวิชาการ เชื่อรัฐบาลแห่งชาติผ่าวิกฤติทางตันการเมืองน้ำเน่าในมือพรรคพลังประชาชน ชี้ “สมชาย” เป็นนายกฯไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมากซื้อเวลารอยุบสภา อาจารย์ธรรมศาสตร์ระบุความตรึงเครียดทางการเมืองซึมลึกอีกหลายปี ถึงเวลาต้องปฎิรูปการเมืองใหม่ ด้าน“ปริญญา” เสนอให้พรรคเล็กเป็นนายกฯตัดช่องทางพปช.-ปชป.
วานนี้(14ก.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ชี้ชะตาประเทศ จับตาผู้นำใหม่” โดยนายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า หากดูสภาพการเป็นจริง พรรคพลังประชาชนยังอ้างประเพณีว่า ตนเองมีเสียงมากที่สุดในสภาจึงมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมมือกับพรรคอื่น ดังนั้นโอกาสจะเสนอชื่อคนของพรรคพลังประชาชนก็ยังมีสูง ซึ่งขณะนี้มีชื่อที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ คงสู้นายสมชายไม่ได้ ขณะที่นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แม้จะเป็นคนเก่ง แต่ยังอ่อนอาวุโส ดังนั้น จะอย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็คงเป็นคนของพรรคพลังประชาชน
“นายสมชายคงไม่สามารถแก้วิกฤตที่เกิดจากการแบ่งขั้วได้ เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่า ยังเป็นนอมินีเหมือนเดิม การต่อต้านจึงมีอยู่ต่อไป และนายกฯคนใหม่ คงจะปล่อยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปสักพัก และถ้าถึงจุดยุบสภาก็จะยุบเพื่อเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ แต่ก่อนหน้าจะยุบสภา 4-5 เดือนรัฐบาลคงบริหารงานประจำทั่วไปเรื่อยๆ”นายสุจิตกล่าว
นายสุจิตกล่าวต่อว่า ทางเลือกที่ดีกว่านี้อาจจะมีแต่คิดว่า ส.ส.ส่วนใหญ่คงไม่เอาด้วย เช่น รัฐบาลแห่งชาติ โดยให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเหมือนเดิม แต่ต้องไม่เอาคนพลังประชาชนเป็นนายกฯ เพื่อเอาตรงนี้ไปกดพันธมิตรฯลดการต่อสู้ลงไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือพรรคพลังประชาชน คงไม่ยอมให้พรรคเล็กมาเป็นนายกฯแทน ดังนั้น รัฐบาลแห่งชาติต้องเอาทุกพรรคเป็นรัฐบาลเพื่อสลายขั้วความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าได้บ้าง แม้ไม่เด็ดขาด อาจจะทำให้การประท้วงเบาบางลง และยกเลิกการยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ
“จริงๆ แล้วรัฐบาลแห่งชาติผมไม่ชอบ เพราะขาดการคานอำนาจในฝ่ายค้าน แต่ในภาวะวิกฤตเราต้องจำเป็นเหมือนกัน และประสบการณ์ประเทศอื่นก็เคยมี เช่น อังกฤษเคยมีรัฐบาลแห่งชาติในช่วงมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อปี 2474 กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ช่วงสงครามไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ มีพรรครัฐบาลโดยพรรคอนุรักษ์นิยม”
อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนคงไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ เพราะทำให้อำนาจเขาด้อยลงและเป็นข้อเสนอฝ่ายค้าน แต่เห็นว่า ภารกิจของรัฐบาลขณะนี้อยู่ที่จะแก้ปัญหาการสลายขั้วได้แค่ไหนเพราะประเทศชาติจะแย่ลง เรื่องนี้ สภาผู้แทนเป็นคนเลือกรัฐบาลจะต้องคิดตรงนี้ด้วย อำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจสำคัญของ ส.ส. รัฐธรรมนูญกำลังมอบความเป็นความตายในบ้านเมืองให้กับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.จึงมีคุณค่าไม่ใช่สักแต่ละเลือกกันไป
**หนุน “บรรหาร” ประสานทุกฝ่าย
นายสุจิต กล่าวว่า มีส.ส.อาวุโสที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติได้ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เพราะเป็นผู้ใหญ่ มีทักษะในการติดต่อกับหลายฝ่าย ไม่ได้เป็นคู่ปรปักษ์กับพันธมิตรฯ และสามารถพูดจากับพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ได้
ส่วนภารกิจรัฐบาลแห่งชาตินั้นคือ ทำอย่างไรจะให้การชุมนุมของพันธมิตรฯ ลดน้อยลง หากจะประท้วงไปที่อื่นได้หรือไม่นอกจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น เพราะพันธมิตรฯบอกว่า ไม่ต้องการรัฐบาลที่เป็นนอมินี วันนี้เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองสำคัญที่สุดเพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ แน่นอนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ พรรคการเมืองอาจไม่ชอบ แต่ขอให้คิดเพราะจะช่วยลดการเผชิญหน้าได้ระดับหนึ่ง แต่การยุบสภาจะแก้ปัญหาการเผชิญหน้าได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้
** ชูปฏิรูปการเมืองรอบใหม่
นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองเป็นอัมพาต ดังนั้นเพื่อให้การเมืองเดินไปได้ ต้องคลี่คลายการแบ่งขั้วก่อนโดยทั้งสองฝ่ายคือ รัฐบาลพรรคพลังประชาชนต้องฉลาดที่จะเลือกผู้นำที่ยอมรับกับประชาชน สร้างความชอบธรรมในการบริหารงาน แรงกดดันจะได้ลดลง ขณะที่พันธมิตรฯ ต้องช่วยลดความร้อนแรงทางการเมืองโดยอาจย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล และชุมนุมที่อื่นโดยสันติ สงบ
ทั้งนี้ อยากคาดการณ์แนวโน้มว่า ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ ขี้เหร่หรือไม่ ได้รับความชอบธรรมสูงหรือไม่ แม้จะทำให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงไปได้ แต่คิดว่า ความตึงเครียดจะอยู่กับประเทศพอควร กินเวลาหลายปี เพราะปัญหาความขัดแย้งได้ลงลึกถึงโครงสร้างการเมือง ทางออกคือ เราต้องปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ จัดสถาบันการเมืองใหม่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างความชอบธรรม ควรประกาศชัดเจนว่า จะปฏิรูปการเมืองรอบใหม่
นายประจักษ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ ต่างจากการแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็น เพราะวันนี้สังคมไม่ไว้ใจหากรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็เพื่อมุ่งประโยชน์ให้พรรคตัวเองเท่านั้น รัฐบาลต้องประกาศปฏิรูปการเมืองร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยต้องดูบทเรียนจากช่วงปี 2540 ที่รัฐบาลบรรหาร เผชิญภายใต้แรงกดดันการเมืองมากมาย แต่รัฐบาลบรรหารก็ผลักดันการปฏิรูปการเมืองได้คะแนนเสียงพอควร วันนี้รัฐบาลเผชิญแรงกดดันมหาศาล ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการปฏิรูปการเมือง พาการเมืองไทยออกจากวิกฤต
ทั้งนี้ ตัวละครการเมืองที่สำคัญขณะนี้มี สามตัวละครหลัก ๆ แน่นอนวันนี้มี 2 ขั้วที่เผชิญหน้าคือ พรรคการเมืองในระบบ และ ขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็ปฏิเสธขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนไม่ได้ อีกตัวละครคือ กองทัพ ถ้ามองเป็นสามเหลี่ยมก็จะเห็นว่า เราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ พรรคการเมือง และขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนนอกสภาอย่างไร
นายประจักษ์ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่ซับซ้อนเพราะตัวละครการเมืองขณะนี้ไม่เป็นเอกภาพ เราเดินมาถึงจุดสำคัญที่แม้แต่ขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อน มีกลุ่มสนับสนุนพันธมิตร กลุ่มต่อต้าน กลุ่มกลางที่ไม่เห็นด้วยกับสองกลุ่ม ดังนั้น วันนี้มันซับซ้อนไม่ใช่ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่เป็นแบบชาวบ้าน สมัชชาคนจน ซึ่งทำให้การเมืองมีลักษณะประหลาด จับขั้วกันสามกลุ่มไขว้กันไปมา พรรคการเมืองต่อท่อกับกองทัพ และได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอีก การเมืองไทยจึงซับซ้อนมากกว่าเดิม
“ทางออกสังคมไทย ไม่ว่าใครก็ตามเป็นรัฐบาล ควรผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้ชัดเจนว่าเพื่อร่วมกับภาคประชาสังคม ไม่ใช่แก้กฎหมายอย่างเดียว หลายเรื่องมีปัญหาเช่น กติกาเลือกตั้ง กฎหมายยุบพรรค เราอาจจะต้องทบทวนว่า การที่พรรคถูกยุบได้ง่ายๆ จะสร้างปัญหาในอนาคต ที่ไม่มีความต่อเนื่อง หรือ ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด ต้องเอารัฐธรรมนูญ 40 เป็นตัวตั้งในการแก้ไข” นายประจักษ์ กล่าว
**“ปริญญา” แนะตั้งรบ.เฉพาะกิจ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหามีสองประการคือ หนึ่ง ตัดเงื่อนไขความรุนแรง และประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามไปสู่เหตุการณ์นองเลือด เพื่อให้เวลาแก่กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำเนินหน้าไปต่อไปจนถึงที่สุด และ สอง จะต้องมีการแก้ปัญหาที่รัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องแรกนั้นฝ่ายตุลาการกำลังทำหน้าที่อยู่ หน้าที่ของทุกฝ่ายในขณะนี้คือ ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม
นายปริญญา กล่าวว่า การแก้ปัญหาขณะนี้ควรมีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อตัดเงื่อนไขความรุนแรง และนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง โดยการตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ไม่ใช่ทำให้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงขึ้น อาจเทียบเคียงได้กับรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เข้ามาแล้วแก้รัฐธรรมนูญ 4 มาตรา และโยกย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน จากนั้นก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยในครั้งนี้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาควรเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ มีหน้าที่ประคองและคลี่คลายสถานการณ์ ในระหว่างที่ฝ่ายตุลาการกำลังทำหน้าที่ จากนั้นก็ยุบสภา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
“รัฐบาลเฉพาะกิจนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ควรมาจากพรรคพลังประชาชนและไม่ควรมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้านายกรัฐมนตรีมาจากพรรคพลังประชาชน เงื่อนไขของความรุนแรงจะยังคงมีต่อไป พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังชุมนุมต่อ หรือถ้าหากนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะไม่ยอม ถ้าจะตัดเงื่อนไขความรุนแรง นายกรัฐมนตรีควรจะมาจาก ส.ส. ของพรรคอื่น คล้ายๆ กับเป็น “คนกลาง” คือเป็นคนกลางระหว่างพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องเป็น ส.ส. เพราะมาตรา 171วรรคสอง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. “ นายปริญญา กล่าว
**แนะพรรคเล็กเป็นนายกฯ ปิดช่อง พปช.- ปชป.
นายปริญญา กล่าวว่า ในการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจอาจมีทางเลือกสามทาง ทางเลือกที่หนึ่ง รัฐบาลเฉพาะกิจที่มาจากทุกพรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เงื่อนไขคือจะต้องเป็น ส.ส. และได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่ง ส.ส. มีอิสระในการลงมติ โดยไม่ถูกผูกมัดโดยมติพรรคการเมืองตามมาตรา 126 วรรคห้า ส่วนรัฐมนตรีจะมาจากพรรคไหนบ้างหรือมาจากทุกพรรค รัฐธรรมนูญมิได้ไว้ ซึ่งถ้าใช้ทางเลือกนี้ สภาผู้แทนราษฎรก็จะไม่มีผู้นำฝ่ายค้านตามมาตรา 110
ทางเลือกที่สอง พรรคพลังประชาชนรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล แต่ปัญหาคือนายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคไหน เพราะอาจจะไม่ยอมกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นถ้าจะใช้ทางเลือกนี้ อาจต้องเชิญอีกหนึ่งพรรคมาร่วมรัฐบาล และให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ของพรรคนั้น ทางเลือกที่สาม พรรครัฐบาล 6 พรรคเดิมเป็นรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านต่อไป แต่ควรให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่พรรคเล็ก ในสูตรนี้ดูเหมือนว่าพรรคชาติไทยจะมีโอกาสได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่เป็นไปได้ว่าพรรคพลังประชาชนเกรงว่าพรรคชาติไทยจะมีอำนาจต่อรองมากเกินไป เพราะเป็นแกนนำของ 5 พรรค พรรคพลังประชาชนก็อาจจะให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่พรรคการเมืองที่เล็กกว่าพรรคชาติไทย
ทั้งนี้เมื่อมีรัฐบาลเฉพาะกิจแล้ว แกนนำพันธมิตรฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและควรยุติการชุมนุม และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไปเพราะขณะนี้ไม่ใช่เรื่องข้อโต้แย้งว่าใครถูกใครผิด เพราะนั่นคือหน้าที่ของศาลและกระบวนการยุติธรรม เรากำลังพูดถึงทางออกทางการเมืองตามวิถีทางที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เราสามารถประคับประคองสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการเกิดเหตุการณ์นองเลือดมาได้มากกว่า 100วัน ถ้าประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ ประชาธิปไตยไทยจะก้าวใหญ่ๆ ไปข้างหน้าหนึ่งก้าว แต่ถ้าไม่ได้ทุกอย่างที่ทำมาตั้งแต่หลัง 2535 อาจสูญเปล่าไปทั้งหมด สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตระหนักในข้อนี้ และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นมานี้ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ โดยมองข้ามไปถึงการปฏิรูปการเมือง เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองระยะยาวต่อไป
**ตัดสินคดีที่ดินรัชดา 17 ตค. จุดเปลี่ยนพปช.
เมื่อถามว่า ขณะนี้อดีตนายกฯทักษิณ อ่อนกำลังหรือยัง นายปริญญา กล่าวว่า ตัวเร่งที่จะทำให้ความแตกแยกในพรรคพลังประชาชนมีสูงคือ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีแรกคือ คดีที่ดินรัชดาจะอ่านคำพิพากษา 17 ก.ย. แต่การอ่านคดีนี้ต้องอ่านต่อหน้าจำเลย ถ้าวันนั้น จำเลยไม่มา ศาลจะออกหมายจับ ฟังคำพิพากษาภายใน 30 วัน ถ้าพ้นไปแล้ว ก็สามารถอ่านลับหลังได้ สรุป คือ 17 ต.ค. จะมีการอ่านคำพิพากษา จุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของพรรคพลังประชาชน
วานนี้(14ก.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ชี้ชะตาประเทศ จับตาผู้นำใหม่” โดยนายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า หากดูสภาพการเป็นจริง พรรคพลังประชาชนยังอ้างประเพณีว่า ตนเองมีเสียงมากที่สุดในสภาจึงมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมมือกับพรรคอื่น ดังนั้นโอกาสจะเสนอชื่อคนของพรรคพลังประชาชนก็ยังมีสูง ซึ่งขณะนี้มีชื่อที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ คงสู้นายสมชายไม่ได้ ขณะที่นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แม้จะเป็นคนเก่ง แต่ยังอ่อนอาวุโส ดังนั้น จะอย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็คงเป็นคนของพรรคพลังประชาชน
“นายสมชายคงไม่สามารถแก้วิกฤตที่เกิดจากการแบ่งขั้วได้ เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่า ยังเป็นนอมินีเหมือนเดิม การต่อต้านจึงมีอยู่ต่อไป และนายกฯคนใหม่ คงจะปล่อยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปสักพัก และถ้าถึงจุดยุบสภาก็จะยุบเพื่อเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ แต่ก่อนหน้าจะยุบสภา 4-5 เดือนรัฐบาลคงบริหารงานประจำทั่วไปเรื่อยๆ”นายสุจิตกล่าว
นายสุจิตกล่าวต่อว่า ทางเลือกที่ดีกว่านี้อาจจะมีแต่คิดว่า ส.ส.ส่วนใหญ่คงไม่เอาด้วย เช่น รัฐบาลแห่งชาติ โดยให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเหมือนเดิม แต่ต้องไม่เอาคนพลังประชาชนเป็นนายกฯ เพื่อเอาตรงนี้ไปกดพันธมิตรฯลดการต่อสู้ลงไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือพรรคพลังประชาชน คงไม่ยอมให้พรรคเล็กมาเป็นนายกฯแทน ดังนั้น รัฐบาลแห่งชาติต้องเอาทุกพรรคเป็นรัฐบาลเพื่อสลายขั้วความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าได้บ้าง แม้ไม่เด็ดขาด อาจจะทำให้การประท้วงเบาบางลง และยกเลิกการยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ
“จริงๆ แล้วรัฐบาลแห่งชาติผมไม่ชอบ เพราะขาดการคานอำนาจในฝ่ายค้าน แต่ในภาวะวิกฤตเราต้องจำเป็นเหมือนกัน และประสบการณ์ประเทศอื่นก็เคยมี เช่น อังกฤษเคยมีรัฐบาลแห่งชาติในช่วงมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อปี 2474 กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ช่วงสงครามไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ มีพรรครัฐบาลโดยพรรคอนุรักษ์นิยม”
อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนคงไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ เพราะทำให้อำนาจเขาด้อยลงและเป็นข้อเสนอฝ่ายค้าน แต่เห็นว่า ภารกิจของรัฐบาลขณะนี้อยู่ที่จะแก้ปัญหาการสลายขั้วได้แค่ไหนเพราะประเทศชาติจะแย่ลง เรื่องนี้ สภาผู้แทนเป็นคนเลือกรัฐบาลจะต้องคิดตรงนี้ด้วย อำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจสำคัญของ ส.ส. รัฐธรรมนูญกำลังมอบความเป็นความตายในบ้านเมืองให้กับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.จึงมีคุณค่าไม่ใช่สักแต่ละเลือกกันไป
**หนุน “บรรหาร” ประสานทุกฝ่าย
นายสุจิต กล่าวว่า มีส.ส.อาวุโสที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติได้ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เพราะเป็นผู้ใหญ่ มีทักษะในการติดต่อกับหลายฝ่าย ไม่ได้เป็นคู่ปรปักษ์กับพันธมิตรฯ และสามารถพูดจากับพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ได้
ส่วนภารกิจรัฐบาลแห่งชาตินั้นคือ ทำอย่างไรจะให้การชุมนุมของพันธมิตรฯ ลดน้อยลง หากจะประท้วงไปที่อื่นได้หรือไม่นอกจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น เพราะพันธมิตรฯบอกว่า ไม่ต้องการรัฐบาลที่เป็นนอมินี วันนี้เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองสำคัญที่สุดเพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงก็ได้ แน่นอนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ พรรคการเมืองอาจไม่ชอบ แต่ขอให้คิดเพราะจะช่วยลดการเผชิญหน้าได้ระดับหนึ่ง แต่การยุบสภาจะแก้ปัญหาการเผชิญหน้าได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้
** ชูปฏิรูปการเมืองรอบใหม่
นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองเป็นอัมพาต ดังนั้นเพื่อให้การเมืองเดินไปได้ ต้องคลี่คลายการแบ่งขั้วก่อนโดยทั้งสองฝ่ายคือ รัฐบาลพรรคพลังประชาชนต้องฉลาดที่จะเลือกผู้นำที่ยอมรับกับประชาชน สร้างความชอบธรรมในการบริหารงาน แรงกดดันจะได้ลดลง ขณะที่พันธมิตรฯ ต้องช่วยลดความร้อนแรงทางการเมืองโดยอาจย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาล และชุมนุมที่อื่นโดยสันติ สงบ
ทั้งนี้ อยากคาดการณ์แนวโน้มว่า ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ ขี้เหร่หรือไม่ ได้รับความชอบธรรมสูงหรือไม่ แม้จะทำให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงไปได้ แต่คิดว่า ความตึงเครียดจะอยู่กับประเทศพอควร กินเวลาหลายปี เพราะปัญหาความขัดแย้งได้ลงลึกถึงโครงสร้างการเมือง ทางออกคือ เราต้องปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ จัดสถาบันการเมืองใหม่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างความชอบธรรม ควรประกาศชัดเจนว่า จะปฏิรูปการเมืองรอบใหม่
นายประจักษ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ ต่างจากการแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็น เพราะวันนี้สังคมไม่ไว้ใจหากรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็เพื่อมุ่งประโยชน์ให้พรรคตัวเองเท่านั้น รัฐบาลต้องประกาศปฏิรูปการเมืองร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยต้องดูบทเรียนจากช่วงปี 2540 ที่รัฐบาลบรรหาร เผชิญภายใต้แรงกดดันการเมืองมากมาย แต่รัฐบาลบรรหารก็ผลักดันการปฏิรูปการเมืองได้คะแนนเสียงพอควร วันนี้รัฐบาลเผชิญแรงกดดันมหาศาล ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการปฏิรูปการเมือง พาการเมืองไทยออกจากวิกฤต
ทั้งนี้ ตัวละครการเมืองที่สำคัญขณะนี้มี สามตัวละครหลัก ๆ แน่นอนวันนี้มี 2 ขั้วที่เผชิญหน้าคือ พรรคการเมืองในระบบ และ ขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็ปฏิเสธขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนไม่ได้ อีกตัวละครคือ กองทัพ ถ้ามองเป็นสามเหลี่ยมก็จะเห็นว่า เราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ พรรคการเมือง และขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนนอกสภาอย่างไร
นายประจักษ์ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่ซับซ้อนเพราะตัวละครการเมืองขณะนี้ไม่เป็นเอกภาพ เราเดินมาถึงจุดสำคัญที่แม้แต่ขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อน มีกลุ่มสนับสนุนพันธมิตร กลุ่มต่อต้าน กลุ่มกลางที่ไม่เห็นด้วยกับสองกลุ่ม ดังนั้น วันนี้มันซับซ้อนไม่ใช่ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่เป็นแบบชาวบ้าน สมัชชาคนจน ซึ่งทำให้การเมืองมีลักษณะประหลาด จับขั้วกันสามกลุ่มไขว้กันไปมา พรรคการเมืองต่อท่อกับกองทัพ และได้รับการสนับสนุนจากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอีก การเมืองไทยจึงซับซ้อนมากกว่าเดิม
“ทางออกสังคมไทย ไม่ว่าใครก็ตามเป็นรัฐบาล ควรผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้ชัดเจนว่าเพื่อร่วมกับภาคประชาสังคม ไม่ใช่แก้กฎหมายอย่างเดียว หลายเรื่องมีปัญหาเช่น กติกาเลือกตั้ง กฎหมายยุบพรรค เราอาจจะต้องทบทวนว่า การที่พรรคถูกยุบได้ง่ายๆ จะสร้างปัญหาในอนาคต ที่ไม่มีความต่อเนื่อง หรือ ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด ต้องเอารัฐธรรมนูญ 40 เป็นตัวตั้งในการแก้ไข” นายประจักษ์ กล่าว
**“ปริญญา” แนะตั้งรบ.เฉพาะกิจ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหามีสองประการคือ หนึ่ง ตัดเงื่อนไขความรุนแรง และประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามไปสู่เหตุการณ์นองเลือด เพื่อให้เวลาแก่กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำเนินหน้าไปต่อไปจนถึงที่สุด และ สอง จะต้องมีการแก้ปัญหาที่รัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องแรกนั้นฝ่ายตุลาการกำลังทำหน้าที่อยู่ หน้าที่ของทุกฝ่ายในขณะนี้คือ ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม
นายปริญญา กล่าวว่า การแก้ปัญหาขณะนี้ควรมีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อตัดเงื่อนไขความรุนแรง และนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง โดยการตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ไม่ใช่ทำให้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงขึ้น อาจเทียบเคียงได้กับรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เข้ามาแล้วแก้รัฐธรรมนูญ 4 มาตรา และโยกย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน จากนั้นก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยในครั้งนี้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาควรเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ มีหน้าที่ประคองและคลี่คลายสถานการณ์ ในระหว่างที่ฝ่ายตุลาการกำลังทำหน้าที่ จากนั้นก็ยุบสภา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
“รัฐบาลเฉพาะกิจนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ควรมาจากพรรคพลังประชาชนและไม่ควรมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้านายกรัฐมนตรีมาจากพรรคพลังประชาชน เงื่อนไขของความรุนแรงจะยังคงมีต่อไป พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังชุมนุมต่อ หรือถ้าหากนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะไม่ยอม ถ้าจะตัดเงื่อนไขความรุนแรง นายกรัฐมนตรีควรจะมาจาก ส.ส. ของพรรคอื่น คล้ายๆ กับเป็น “คนกลาง” คือเป็นคนกลางระหว่างพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องเป็น ส.ส. เพราะมาตรา 171วรรคสอง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. “ นายปริญญา กล่าว
**แนะพรรคเล็กเป็นนายกฯ ปิดช่อง พปช.- ปชป.
นายปริญญา กล่าวว่า ในการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจอาจมีทางเลือกสามทาง ทางเลือกที่หนึ่ง รัฐบาลเฉพาะกิจที่มาจากทุกพรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เงื่อนไขคือจะต้องเป็น ส.ส. และได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่ง ส.ส. มีอิสระในการลงมติ โดยไม่ถูกผูกมัดโดยมติพรรคการเมืองตามมาตรา 126 วรรคห้า ส่วนรัฐมนตรีจะมาจากพรรคไหนบ้างหรือมาจากทุกพรรค รัฐธรรมนูญมิได้ไว้ ซึ่งถ้าใช้ทางเลือกนี้ สภาผู้แทนราษฎรก็จะไม่มีผู้นำฝ่ายค้านตามมาตรา 110
ทางเลือกที่สอง พรรคพลังประชาชนรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล แต่ปัญหาคือนายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคไหน เพราะอาจจะไม่ยอมกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นถ้าจะใช้ทางเลือกนี้ อาจต้องเชิญอีกหนึ่งพรรคมาร่วมรัฐบาล และให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ของพรรคนั้น ทางเลือกที่สาม พรรครัฐบาล 6 พรรคเดิมเป็นรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านต่อไป แต่ควรให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่พรรคเล็ก ในสูตรนี้ดูเหมือนว่าพรรคชาติไทยจะมีโอกาสได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่เป็นไปได้ว่าพรรคพลังประชาชนเกรงว่าพรรคชาติไทยจะมีอำนาจต่อรองมากเกินไป เพราะเป็นแกนนำของ 5 พรรค พรรคพลังประชาชนก็อาจจะให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่พรรคการเมืองที่เล็กกว่าพรรคชาติไทย
ทั้งนี้เมื่อมีรัฐบาลเฉพาะกิจแล้ว แกนนำพันธมิตรฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและควรยุติการชุมนุม และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไปเพราะขณะนี้ไม่ใช่เรื่องข้อโต้แย้งว่าใครถูกใครผิด เพราะนั่นคือหน้าที่ของศาลและกระบวนการยุติธรรม เรากำลังพูดถึงทางออกทางการเมืองตามวิถีทางที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เราสามารถประคับประคองสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการเกิดเหตุการณ์นองเลือดมาได้มากกว่า 100วัน ถ้าประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ ประชาธิปไตยไทยจะก้าวใหญ่ๆ ไปข้างหน้าหนึ่งก้าว แต่ถ้าไม่ได้ทุกอย่างที่ทำมาตั้งแต่หลัง 2535 อาจสูญเปล่าไปทั้งหมด สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตระหนักในข้อนี้ และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นมานี้ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ โดยมองข้ามไปถึงการปฏิรูปการเมือง เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองระยะยาวต่อไป
**ตัดสินคดีที่ดินรัชดา 17 ตค. จุดเปลี่ยนพปช.
เมื่อถามว่า ขณะนี้อดีตนายกฯทักษิณ อ่อนกำลังหรือยัง นายปริญญา กล่าวว่า ตัวเร่งที่จะทำให้ความแตกแยกในพรรคพลังประชาชนมีสูงคือ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีแรกคือ คดีที่ดินรัชดาจะอ่านคำพิพากษา 17 ก.ย. แต่การอ่านคดีนี้ต้องอ่านต่อหน้าจำเลย ถ้าวันนั้น จำเลยไม่มา ศาลจะออกหมายจับ ฟังคำพิพากษาภายใน 30 วัน ถ้าพ้นไปแล้ว ก็สามารถอ่านลับหลังได้ สรุป คือ 17 ต.ค. จะมีการอ่านคำพิพากษา จุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของพรรคพลังประชาชน