xs
xsm
sm
md
lg

มูลเหตุแห่งความพินาศ และทางออกของชาติโดยธรรม

เผยแพร่:   โดย: เพชรอริยะ

นายสมัคร สุนทรเวช มีบุคลิกลักษณะเป็นเจ้าขุนมูลนายก็คือเป็นเผด็จการ เพราะชีวิตของท่านถูกหล่อหลอมมาภายใต้ระบอบเผด็จการมาทั้งชีวิต ดังได้กล่าวมาตลอดว่า “หวังอะไรไม่ได้กับรัฐบาลภายใต้ระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ”ก็ได้แต่สงสารประเทศชาติและประชาชนไทย อันได้ตกภายใต้และการครอบงำของระบอบเผด็จการอันเป็นมิจฉาทิฐิ 2 รูปแบบ คือ ระบอบเผด็จการรัฐประหารสลับขั้วกับระบอบเผด็จการระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อันได้ผิดพลาดมาแล้วอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่ายาวนานถึง 76 ปี แต่คณะผู้ปกครองรุ่นแล้วรุ่นเล่า นักการเมืองกลับเข้าใจผิด เห็นผิด พูดผิด ทำผิด และได้สืบทอดแนวทางมิจฉาทิฐินั้นโดยมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อย จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เรามิได้กล่าวลอยๆ แต่ได้มีเหตุผลรองรับนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระองค์ก็ได้ทรงแนะให้สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยและร่างรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าขอชี้แจ้งไว้เสียโดยชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯ และคณะผู้ก่อการฯ ขอร้องให้ข้าพเจ้าคงอยู่ครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ายินดีรับรอง ก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่า คณะผู้ก่อการฯ ต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ Democratic Government ตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ...”

“ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับไปกรุงเทพฯ แล้ว และได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์ฯ ได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับ
หลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์ที่จะให้มีเสรีภาพในทางการเมืองโดยบริบูรณ์”

“ครั้นต่อมาในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือนและโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่าควรถือหลัก Democracy อันแท้จริงจึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดทำให้มีความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบ Democracy อันแท้ มิฉะนั้น ก็เป็น
การเสียเวลาและเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่...” “...ความตักเตือนของข้าพเจ้าเหล่านี้ไร้ผล ...”

นับแต่ พ. ศ. 2475 เป็นต้นมา ไทยเราได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมากถึง 18 ฉบับ และได้ล้มเลิกไปแล้ว 17 ฉบับ และฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นฉบับที่ 18 มีเหตุการณ์ที่เสี่ยงภัยต่างๆ และทำให้เสียเวลา ประมวลโดยสังเขป ดังนี้

1. 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญ อันเป็นแนวทางมิจฉาทิฐิในเบื้องต้น

2. พระมหากษัตริย์ ทรงคัดค้านด้วยการสละราชสมบัติ

3. รัฐประหาร 14 ครั้ง จาก 2475 - 2549

4. กบฏ เนื่องจากทำรัฐประหารไม่สำเร็จ 13 ครั้ง จาก 2475 - 2549

5. เกิดสงครามก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ พ. ศ. 2508 - 2512

6. เกิดสงครามกลางเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พ. ศ. 2512- 2525

7. เกิดการจลาจลทางการเมืองใหญ่ 3 ครั้ง ได้แก่

- เหตุการณ์จลาจล 14 ตุลาคม 2516

- เหตุการณ์จลาจล 6 ตุลาคม 2519

- และเหตุการณ์จลาจล 19 - 20 พฤษภาคม 2535

8. วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง พ. ศ. 2554 - 2545

9. ปัญหาคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางทุกระดับการเมืองจนถึงรัฐบาลระดับชาติ

10. ปัญหาการครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จากประเทศมหาอำนาจ

11. ประชาชนยากจนและเป็นหนี้สาธารณะ เฉลี่ยคนละนับ 100,000 บาท

12. ปัญหาเรื้อรังโจรมุสลิมแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้ ยากที่จะยุติลงได้

13. ปัญหาอบายมุข ความเสื่อมทรามของสังคมเลวร้ายมากที่สุด ฯลฯ

14. รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นี้ก็เป็นผลจากระบอบเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 โดยล้มรัฐบาลทักษิณ และล้มรัฐธรรมนูญฉบับกึ่งประธานาธิบดี

15. สถานการณ์ปัจจุบันคือการชุมนุมทางการเมืองคัดค้านการบริหารของรัฐบาลสมัคร โดยกลุ่มพันธมิตรฯ

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก และในการล้มเลิกรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งเกือบจะทั้งหมดเกิดจากความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจรัฐและผลประโยชน์ระหว่างผู้ปกครองด้วยกันเองทั้งสิ้น จนนำไปสู่การทำรัฐประหารถึง 14 ครั้ง เพื่อล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการวนเวียนระหว่างรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจากพลเรือน รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพลเรือน... เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จึงก่อให้เกิดวงจรที่เรียกกันว่า “วงจรอุบาทว์” (wicked cycle)

อะไรคือเหตุวิกฤตการเมืองไทย

พบว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญ 18 ครั้ง ผิดไปจากคลองธรรม อันเป็นเหตุวิกฤตของประเทศไทย เกิดจากความเข้าใจผิดอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

1. เห็นผิดในการจัดความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง

รัฐธรรมนูญไทยทั้ง 18 ฉบับ จากการศึกษาวิจัยพบว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทยทั้ง 18 ฉบับ ไม่มีด้านหลักการปกครอง มีแต่เฉพาะด้านวิธีการปกครอง ได้แก่ หมวด และมาตราต่างๆ หรืออาจจะพูดได้ว่าพวกเขานำเอาวิธีการปกครองมาแทนหลักการปกครอง เอาด้านทุติภูมิมาเป็นด้านปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการจัดความสัมพันธ์ที่คลาดไปจากธรรมโดยสิ้นเชิง (ดูตารางประกอบ)

2. เห็นผิดในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตย

3. เห็นผิดรัฐธรรมนูญว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

4. เห็นผิดเข้าใจรูปการปกครอง
(Form of Government) ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย คือเข้าใจระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

5. เข้าใจการเลือกตั้งว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย

ความเห็นผิดทั้ง 5 ประการนี้แหละ คือเหตุวิกฤตชาติ และครอบงำประเทศไทยเราเรื่อยมาอย่างยาวนาน และนี่คือเหตุแห่งความขัดแย้ง แตกแยกของชนในชาติ ทั้งนี้เพราะการเมืองไทยเราไม่มีหลักการปกครองหรือระบอบฯ นั่นเอง

ดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มการเมืองก็ดี พรรคการเมืองก็ดี ต่างก็มีจุดหมายและมรรควิธี หรือวิธีการของตน 20 พรรค ก็ 20 จุดมุ่งหมายและต่างก็ปลุกระดมประชาชนให้มาขึ้นกับหัวหน้าพรรคฯ มันก็ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นพรรค และเป็นภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสานขึ้นในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้อันเนื่องมาจากการเมืองของไทยเราไม่มีหลักการปกครองนั่นเอง และผู้ปกครองเองต่างก็หลงผิด โดยเอาวิธีการปกครอง อันเป็นเพียงรูปแบบของการปกครอง มาเป็นหลักการปกครองดังได้กล่าวแล้วข้างต้น มันจึงทำให้การเมืองไทยล้มเหลวมาตลอด ขอให้ฉุกคิดกันบ้างเถิด

ระบอบมิจฉาทิฐิ ในปัจจุบันจึงอุปมาดุจดัง คลองโคกขามที่คดเคี้ยววกวนมาก จะเห็นได้ว่าไม่ว่าผู้นำรัฐบาลคนใดๆ หรือผู้นำรัฐนาวาใดๆ จะเป็นใครก็ตามล้วนแล้วแต่นำรัฐนาวาไปชนพลิกคว่ำเรื่อยมา ยิ่งนายท้ายเรือโฉเก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ คลองมันคด จะให้เรือไปตรงได้อย่างไรกัน

ดุจดังคูถ นักการเมืองดุจดังหนอน “หนอนย่อมไม่รู้จักคูถที่ดูดกิน”

ดุจดังท่อประปาสนิมเกรอะกรัง น้ำรั่วไหลซึมไปมากมาย ดุจนักการเมืองฉ้อราษฎร์บังหลวงเอาไปหมด ส่วนประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดุจน้ำที่ไหลหยดติ๋งๆ

ทางออกของชาติในสถานการณ์ปัจจุบัน

1. ตั้งรัฐบาลสามัคคีธรรมแห่งชาติจากทุกฝ่ายเพื่อสลายขั้วทางการเมือง

2. สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 นัยหนึ่งก็คือการสถาปนาระบอบการเมืองโดยธรรม ตามลักษณะพิเศษของประเทศไทย คือ (1) หลักธรรมาธิปไตย (2) หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (อย่างมีรูปธรรม) (4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (5) หลักความเสมอภาคทางโอกาส (6) หลักภราดรภาพ (7) หลักดุลยภาพ (8) หลักเอกภาพ (9) หลักนิติธรรม หลักการปกครองทั้ง 9 นี้ จะเป็นศูนย์กลางของปวงชนในชาติ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกองค์กร

3. ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ โดยให้แต่ละมาตรานั้นๆ สอดคล้องหรือขึ้นต่อหลักการปกครอง

สัมพันธภาพที่ถูกต้องโดยธรรมคือ อสังขตธรรมต้องมาก่อนสังขตธรรม, ดวงอาทิตย์ต้องมาก่อนดาวเคราะห์, ยุทธศาสตร์ต้องมาก่อนยุทธวิธี, รัฐศาสตร์ต้องมาก่อนนิติศาสตร์, หลักการปกครองต้องมาก่อนวิธีการปกครอง, จุดมุ่งหมายต้องมาก่อนมรรควิธี ฉันใด หลักการปกครองโดยธรรมต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญ ฉันนั้น จะเห็นว่าไม่ยากเลย ดังนั้น การที่ผู้ปกครองมีความเห็นผิด การที่เรามีแต่รัฐธรรมนูญโดยไม่มีหลักการปกครอง หรือไม่มีระบอบฯ มันจึงเป็นมูลเหตุของความพินาศในทุกๆ ด้านของชาติ ผู้รับผิดชอบสูงสุดของชาติโดยธรรม และประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกันทำบ้านเมืองให้ถูกต้องเสียทีเถิด
กำลังโหลดความคิดเห็น