xs
xsm
sm
md
lg

แฉ"แม้ว"ยังบงการข้ามทวีป สร้างความแตกแยกในชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า กำลังเข้าสู่การเผชิญหน้า ซึ่งทางพรรคอยากให้ทุกฝ่ายนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวม โดยคำนึงถึงข้อกฎหมาย แต่จากการสถานการณ์ความแตกแยกของพรรคพลังประชาชน จนถึงขั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ต่อสายเข้ามาเคลียร์ปัญหาภายในพรรค ทำให้สถานการณ์การเผชิญหน้ารุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น จุดยืนของรัฐบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหลังความขัดแย้งภายในพรรคยุติลง ก็เกิดการต่อรองต่างๆ และมีพัฒนาการที่จะส่งสัญญาณ และสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง และความขัดแย้ง 2 เรื่องคือ
1. การใช้กลไกแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะส่งเข้าชั้นศาล รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรง อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ วิธีพิจารณาความอาญาของศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาความของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะเดียวกันประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มีการส่งสัญญาณว่าจะถอนร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่า เป็นกฎหายเกี่ยวกับการเงิน ที่ต้องให้นายกฯ เซ็นรับรอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะหมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างยิ่ง ซึ่งการหยิบยกกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระมาพิจารณาก่อนขึ้นศาล ถือเป็นการสร้างเงื่อนไข และเป็นการต่อรอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ถูกจับได้ในคดีที่ติดสินบนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินรัชดา และเกิดจากที่อดีตนายกฯ ต่อสายตรงเคลียร์ปัญหา
2 . การแทรกแซงนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) จนกระทั่งเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาได้มีความพยายามแทรกแซงกรมสรรพากร ผ่านเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ จึงอยากถามว่าเหตุใดกระทรวงการคลัง จึงสั่งให้กรมสรรพากรดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนถึงขั้นหามาตรการมาต่อรอง ทั้งๆ ที่กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่ปกป้องเงินของแผ่นดิน และทำงานเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แทนที่จะปกป้องกระบวนการยุติธรรมแต่กลับมีการดำเนินการตามคำสั่ง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว ในกรณีที่ข้าราชการปฏิบัติตามคำสั่งของนักการเมือง จนต้องถูกรับโทษ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากร 5 คน ที่ถูกไล่ออกเมื่อปี 49 และอีก 5 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา กรณีฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคดีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี การซื้อขายหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนคอมมิวนิเคชั่น
"เป้าหมายของการดำเนินการครั้งนี้ เป็นการเตรียมการสืบทอดอำนาจของพรรคการเมือง หลังการตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ และการที่เข้าไปแทรกแซงนโยบายการคลังการเงิน รวมถึงกรมสรรพากรถือ เป็นการเตรียมทรัพย์สินเพื่อดำรงไว้ซึ่งกลุ่มอำนาจทางการเมือง และสืบทอดอำนาจของอดีตนักการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ์ ทางการเมือง 5 ปี" นพ.บุณัชย์ กล่าว
**ชี้พปช.ชักธงรบองค์กรอิสระ
นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า อาจจะมีความแตกแยกภายในพรรคพลังประชาชน เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยส.ส.ส่วนหนึ่งต้องการคว่ำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติให้ผ่านร่างดังกล่าวไป
แต่เมื่อดูจากการให้สัมภาษณ์ของวิปรัฐบาล มีแน้วโน้มว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่ผ่านสภา โดยอ้างมติของวิปรัฐบาลไม่สามารถไปบังคับ ส.ส.ให้ลงมติรับร่างกฎหมายได้ และการที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน และส.ส.บางส่วนในพรรคได้ให้เหตุผลว่า องค์กรอิสระกำลังตั้งตัวขึ้นมาเป็นอีกอำนาจหนึ่ง นอกเหนือจาก 3 อำนาจในอธิปไตยแล้ว จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการไม่ผ่านร่างกฎหมายขององค์กรอิสระ ที่จะนำเสนอต่อสภานั้น ตนจึงเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณชักธงรบของพรรคพลังประชาชน ต่อองค์กรอิสระ เพื่อเป็นการแก้แค้นทางการเมือง

**"มาร์ค"เตือนรัฐบาลระวังถูกถอดถอน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี่พรรคพลังประชาชน ยืนยันมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า สุดโต่งเกินไปว่า หากยังไม่มีกฎหมายเหล่านี้ ทางองค์กรอิสระยังสามารถใช้กฎหมายเก่า หรือระเบียบต่างๆ เท่าที่อนุโลมไปได้ แต่คำถามที่จะต้องถามพรรคพลังประชาชนก็คือ ทำเช่นนี้เพื่ออะไร โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่รัฐบาลมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 มีเสียงข้างมากที่จะปรับปรุงกฎหมายได้ตามที่เห็นสมควรในวาระของกรรมาธิการ และถ้าเพียงต้องการที่จะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ กับศาลด้วยการคว่ำกฎหมายในวาระที่ 3 ก็น่าคิดว่า เป็นความจงใจที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในการที่จะไม่ออกกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
"ถ้าสุดโต่ง ทำไมในชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่ ไม่ปรับปรุงให้เรียบร้อยถ้าจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ก็อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้ ซึ่งต้องไปตรวจสอบดูว่า กฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่จะมีการจงใจคว่ำนั้น มีเงื่อนเวลาที่ทางฝ่ายรัฐบาลทราบอยู่แล้ว อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขเพิ่มเติมแล้วหรือไม่ ซึ่งต้องไปดูเงื่อนแต่ละฉบับ เพราะบางฉบับรัฐบาลทราบอยู่แล้วว่า ต้องมีใน 1 ปี ถ้ามีการคว่ำในลักษณะที่ไม่สุจริต พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลมีโอกาส วาระที่ 1 รับหลักการไปแล้ว วาระที่ 2 สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ได้ทำ แต่ถึงวาระที่ 3 เพียงเพื่อจะตอบโต้ศาล และมีหลักฐานอยู่ว่า แนวความคิดเริ่มต้นมาจากการใช้มาตรการนี้ตอบโต้ศาล ผมก็มีความรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสุจริตแล้ว ถ้ามีข้อขัดข้องในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ต้องแสดงออกมาก่อนหน้านี้ ในการที่จะพิจารณาในวารที่ 1 ก็ดี หรือในกรรมาธิการฯก็ดี" นายอภิสิทธิ์กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่พรรคพลังประชาชนมีมติในเรื่องดังกล่าวถือเป็นความจงใจที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนึ่ง ซึ่งตนยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผลดีกับใคร รวมทั้งส่วนรวมด้วย ในการที่รัฐบาลแสดงตัวเป็นตัวปฏิปักษ์กับศาล
**กุข่าว"แม้ว"มีแผนปลุกระดมปชช.
ด้านร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ มีแผนปลุกระดมประชาชน เพื่อสร้างความปั่นป่วน วุ่นวายว่า เรื่องนี้เป็นความเพ้อฝันของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ย้ำกับพวกตนเสมอว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจจะไม่ทำร้ายบ้านเมืองเด็ดขาด
ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรมาพูดเรื่องนี้ ในขณะที่ไม่เคยประณามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ใช้วิธีการยุยงประชาชนเลย ถึงแม้พรรคพลังประชาชนจะรับทราบว่า พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่การเป็นพรรคการเมือง ก็ไม่น่าที่จะเลือกปฎิบัติถึงขนาดนี้
**ขู่คว่ำพรบ.วิธีพิจารณาศาลรธน.-ฎีกาแน่
ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนมีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ...ที่เสนอโดยศาลรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เสนอโดยศาลฎีกานั้น ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า การประชุมของพรรคในวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ส.ส.มีการหารือกันถึง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่ส.ส.ไม่สามารถรับได้ ซึ่งนอกเหนือจากเนื้อหาแล้ว ที่ผ่านมาการเสนอกฎหมายรูปแบบนี้ก็ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเมื่อก่อนต้องมีเจ้าภาพในการเสนอกฎหมาย ซึ่งหากรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ผลักดันให้ผ่านสภา แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบให้องค์กรอิสระสามารถเสนอกฎหมายได้เอง แต่จะไปคาดหวังให้ ส.ส. ยกมือให้นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะ ส.ส.มีความเป็นอิสระในการลงมติ ยืนยันว่า พรรคพลังประชาชนไม่ได้ท้าทายองค์กรใดทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องพุดคุยกันถึงแนวทางต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะเชิญให้ผู้เสนอกฎหมายมาชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่เห็นด้วยทำไม ส.ส.พรรคพลังประชาชนถึงไม่เสนอร่างกฎหมายประกบเข้าไป ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า การที่ส.ส.เสนอกฎหมายประกบเป็นเพราะส.ส.อยากได้หน้าว่าเป็นผู้เสนอกฎหมายนั้น เพื่อที่จะได้รับการตั้งเป็นกรรมาธิการ แต่ในประเด็นนี้ส.ส.พรรคพลังประชาชนไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น จึงไม่ต้องเสนอกฎหมายประกบ

**คาดไม่ส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯกทม.
สำหรับความคืบหน้าในการจัดผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชาชนนั้น ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า พรรคได้มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานภาค กทม.เป็นผู้พิจารณาเอง แต่ที่ผ่านมาการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นพรรคมีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่ส่งผู้สมัคร ใครจะมาอ้างว่าเป็นคนของพรรค ก็จะปฎิเสธไป เพราะผู้สนับสนุนของพรรคมีจำนวนมากอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าพรรคพลังประชาชนไม่คาดหวังต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับภาค กทม.ว่าสามารถเลือกคนที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ ซึ่งหากภาค กทม.มีมติเลือกบุคคลใดเข้าแข่งขันก็ต้องส่งรายชื่อในที่ประชุมพรรคเพื่อให้สมาชิกได้รับทราบทั่วกัน และพรรคคงจะไม่โวยวายหากได้คนที่ไม่เหมาะสมมา เพราะได้ให้เอกสิทธิภาคกทม.ไปแล้ว เช่นเดียวกับที่พรรคมอบเอกสิทธิการเลือกรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรี
"สถานการณ์การเมืองวันนี้เปลี่ยนไป มีความซับซ้อนมากขึ้น หากพรรคพลังประชาชนส่งผู้สมัคร ก็จะไม่ไปแอบสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่จะเปิดเผยให้ชัดเจนไปเลย ซึ่งคนที่อยากลงแข่งขันในนามพรรคพลังประชาชน อาจจะคิดหน้าคิดหลังมากกว่าเดิม เพราะเห็นผลโพลของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แม้แต่คุณปลื้มเอง ยังสองจิตสองใจเลย" ร.ท.กุเทพกล่าว

**งดให้ข่าว"เพื่อไทย"เป็นพรรคอะไหล่
สำหรับการตั้งพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคสำรองหากพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคนั้น ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ยืนยันว่าคนที่ไปอยู่พรรคเพื่อไทย คือ อดีตสมาชิกของพรรคพลังประชาชนที่ไม่มีสถานะทางการเมือง กับพรรคพลังประชาชน ซึ่งส.ส.คนใดจะพูดอะไรก็ตาม ไม่ได้เป็นการพูดในฐานะผู้ก่อตั้ง เพราะวันนี้พรรคพลังประชาชนยังนิ่งอยู่ เรื่องนี้ยังมีเวลาพูดคุยกันอีกนาน แต่ยืนยันว่าจะไปไหนพวกเราพรรคพลังประชาชนจะไปด้วยกัน เกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่น
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงพรรคการเมืองใหม่ ในขณะนี้ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพราะมี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ที่ลดสถานะจาก ส.ว.มาเป็นนักร้องเรียนทุกเรื่อง เพื่อถอดถอน ส.ส. ดังนั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชน ต้องระมัดระวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น