xs
xsm
sm
md
lg

รุกถอนพาสปอร์ตแดงแม้ว "เตช"เตรียมแถลงการณ์โต้ป้องศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เตช" เตรียมออกแถลงการณ์ตอบโต้ "แม้ว" กล่าวหากระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง พร้อมรอหมายจับจากศาลก่อนยกเลิกพาสปอร์ตทูต รับไม่ง่ายขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากอังกฤษ ด้านปลัดยุติธรรมไม่ห่วงอายุความคดีมีถึง 20 ปี ขณะที่ "ชูศักดิ์" ปฏิเสธลั่น บอกไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล ที่สำคัญแถลงการณ์เกิดจากความรู้สึกที่ "ทักษิณ" ถูกกระทำ ส่วน"เลี้ยบ" เชื่อลูกพี่เล่นงาน คตส.ไม่ใช่ศาล ด้าน"อภิสิทธิ์" จี้รัฐบาลชี้แจงชาวโลกหวั่นเข้าใจผิดกระบวนการยุติธรรมไทย อัยการเดินหน้าฟ้องอายัดทรัพย์ "ทักษิณ" และครอบครัว 6.9 หมื่นล้านบาท พร้อมให้ศาลคุ้มครองการอายัดทรัพย์ ด้านสื่อเมืองผู้ดี ชี้อิทธิพลความมั่งคั่งของพ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้ในศาลอังกฤษ หากไทยเรียกร้องให้มีการส่งตัวกลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คุณหญิงพจมาน ภริยา หนีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก ไปยังประเทศอังกฤษ พร้อมออกแถลงการณ์กล่าวหากระบวนการยุติธรรมของไทยถูกแทรกแซงและดำเนินการ 2 มาตรฐาน ซึ่งต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง มีคำสั่งออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เนื่องจาก ไม่เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลตามเงื่อนไขการอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมปรับเงินประกันทั้งสองคนรวมจำนวน 13 ล้านบาทนั้น

"เตช"สั่งออกแถลงการณ์โต้"แม้ว"

วานนี้ (13 ส.ค.) (13ส.ค.) นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศ กำลังเตรียมที่จะออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของไทย เพื่อใช้เป็นข้ออ้างหนีคดีในศาล ไปพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ

นายเตช ยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย มีความศักดิ์สิทธิ์ และไม่แน่ใจว่า การที่อดีตผู้นำของไทยพูดเช่นนี้จะส่งผลดีต่อตัวเขาเองหรือไม่

ส่วนการดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ มีแนวโน้ม เป็นอย่างไรนั้น นายเตช กล่าวว่า เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนมาก ในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพราะทางการอังกฤษมีความเคร่งครัดมาก ในการพิจารณาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่จะต้องมีการขึ้นศาลด้วย ซึ่งจะเห็นว่า การดำเนินการค่อนข้างยาก ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าไรนั้น ไม่สามารถประมาณการณ์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่อาจใช้ข้ออ้าง ถึงความไม่ปลอดภัย การถูกข่มขู่คุกคาม และไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการศาล ตรงนี้กระทรวงการต่างประเทศจะหาหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริง อย่างไร นายเตช กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ค่อยสันทัด คงเป็นหน้าที่ของอัยการในการหาข้อมูลยืนยันทางการอังกฤษ

ส่วนการเพิกถอนหนังสือเดินทางพิเศษการทูต (พาสปอร์ตแดง) ของพ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษเท่านั้น หรือจะสามารถเดินทาง ต่อไปยังประเทศอื่นๆ ได้ นายเตช กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่ไปถึงขั้นนั้น รู้เพียงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในประเทศอังกฤษ ส่วนการถอนพาสปอร์ตแดงแล้วจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นบุคคลเดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ เนื่องจากไม่เคยมี ประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อน และไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถือพาสปอร์ตกี่เล่ม และมีพาสปอร์ตประเภทอื่นๆ อีกหรือไม่ ส่วนจะมีการพิจารณาถอนพาสปอร์ตอื่นๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ โดยตามกฎหมายเท่าที่ตนทราบ คนสัญชาติไทยทุกคนมีสิทธิมีพาสปอร์ต

อย่างไรก็ตาม หากมีการถอนพาสปอร์ตแดงแล้ว ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ แต่ต้องแยกแยะว่าเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับการดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

รอหมายจับก่อนถอนพาสปอร์ตทูต

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการ ต่างประเทศได้ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เพื่อขอรายละเอียดข้อมูลการออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานภริยา ที่ไม่มารายงานตัวต่อศาล ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งหากศาลทำหนังสือตอบกลับมาเมื่อใด จะมอบหมายให้ อธิบดีกรมการกงสุล พิจารณาว่า ควรยกเลิกหนังสือเดินทางพิเศษทางการทูต หรือพาสปอร์ตเล่มแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ โดยจะยึดตามระเบียบหนังสือเดินทางการทูตเป็นหลัก

"ข้อมูลที่ได้จากศาลเพื่อนำมาพิจารณาถอนหนังสือเดินทาง จะถูกส่งไปยัง สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในการประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยของประเทศอังกฤษ เป็นข้อมูลเตรียมพร้อมถึงความเป็นไปได้ ในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปด้วย"

นายอนันต์ วงศ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ศาลฎีกา ได้ส่งหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนและกระบวนการในการประสานหน่วยงานอื่นในการติดตามตัวบุคคลทั้งสองมาดำเนินคดีในประเทศไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ที่ต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าแถลงการณ์ กล่าวหากระบวนการยุติธรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะเป็นความเห็นส่วนบคคลที่เป็นคู่ความ ประชาชนทั่วไปคงตอบได้ว่ากระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมหรือไม่ โดยหลักแล้วเราต้องเชื่อมั่นในองค์กรหลักของประเทศ ระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องปฏิบัติไปตามหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด รับผิดชอบเรื่องการนำตัว ซึ่งคดีความมีอายุ 20 ปี

อัยการขอศึกษา กม.นำ"แม้ว"กลับ

ด้าน นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวถึงกระบวนการส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนว่า กำลังพิจารณา ข้อกฎหมายทั้งหมด ซึ่งไทยเองก็มีประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้าแดน พ.ศ.2551 แทน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 ส่วนการจะร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต้องรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องการจะให้นำตัว มาดำเนินคดี เช่น ศาล หรืออัยการผู้ทำสำนวนคดีนี้ โดยคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก แม้ศาลจะสั่งออกหมายจับ แต่เอกสารหมายจับอัยการฝ่ายต่างประเทศยังไม่ได้รับมา เพื่อที่จะใช้ประกอบการยื่นคำร้องหากจะขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ดังนั้นเวลานี้จึงยังไม่ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการยื่นคำขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อใด โดยระหว่างนี้อัยการฝ่ายต่างประเทศจะใช้เวลาศึกษาข้อกฎหมายของอังกฤษ และไทยในส่วนขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปจนกว่าจะได้รับเอกสารอย่างเป็น ทางการในการร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งนี้หากกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ของไทย เข้าหลักเกณฑ์ในการขอส่งตัวเป็นผู้ร่ายข้ามแดนได้ก็สามารถดำเนินได้ โดยไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นจึงต้องพิจารณาและตรวจดูข้อกฎหมายโดยละเอียด

"ชูศักดิ์"ยันรัฐไม่มีหน้าที่ปกป้องศาล

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลไทยคงไม่มีอะไรต้องชี้แจงต่อแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ระบุว่าไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมของไทย แม้จะทำให้ต่างชาติมองกระบวนการยุติธรรมของไทยในแง่ลบ เพราะ เป็นเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ท่านวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมที่ประสบอยู่ ถือเป็นความเห็นของท่าน ในส่วนของรัฐบาลไม่มีปัญหาอะไร เป็นคนละส่วนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะไม่ช่วยปกป้องกระบวนการยุติธรรมของไทยในฐานะรัฐบาลเลยหรือ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปพูด เมื่อถามว่า ต่างประเทศจะเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันตุลาการของไทยในทางไม่ดี นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีเหตุผลในตัวของท่านที่ระบุว่า "ผลไม้จากต้นไม่ที่เป็นพิษ" ซึ่งคำนี้ทางสากลเข้าใจได้โดยทฤษฏีกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่สามารถจะไปวิจารณ์ได้ว่า เป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ท่านตกเป็นจำเลย มีหน้าที่ในการชี้แจงตามกระบวนการของท่าน คำนี้เป็นที่เข้าใจได้โดยอัตโนมัติทั่วไป ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่มีหน้าที่ต้องไปขยายความหรือชี้แจงอะไรเพราะเป็นคนละส่วนกัน

ต่อข้อถาม่าจะไม่กลายเป็นตัวอย่างกรณีหากมีความผิดก็หนีออกนอกประเทศแล้วโทษกระบวนการยุติธรรมของประเทศ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ วิพากษ์วิจารณ์กันได้ เพียงแต่เมื่อถามตนก็บอกได้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล ความของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความหมายอยู่ในตัว ท่านคงหมายถึงตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติ ยึดอำนาจ ออกคำสั่ง หรือประกาศ และกลายเป็นผลไม่จากต้นไม้ที่เป็นพิษอะไรต่างๆ ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของท่าน รัฐบาลไม่มีจุดยืนในเรื่องนี้

ส่วนเรื่องขออ้างทางการเมืองขณะที่ตัวเองต้องคดีอาญาประเทศที่รับลี้ภัยจะพิจารณาอย่างไรนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของข้อตกลง เป็นข้อกฎหมาย ข้อสัญญาระหว่างประเทศ ที่ทำกันไว้ รัฐบาลประเทศนั้นจะต้องพิจารณา เราจะไปพิจารณาไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีความผิดทางอาญา มีการพิพากษาจะเป็นลักษณะการขอตัวกลับมาดำเนินคดีหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างประเทศ หมายถึงว่า นายกรัฐมนตรี คงร้องขอไปยังรัฐบาลของประเทศที่ว่า รัฐบาลเขาก็ต้องพิจารณาว่า สำหรับรัฐบาลไทยกระทรวงการต่างประเทศจะต้องพิจารณา แต่เวลานี้เราไม่มีหน้าที่ ชี้แจงสถานะของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นอย่างไร และขณะนี้พิจารณาอะไรยังไม่ได้เพราะยังไม่มีคำร้องเข้ามา

อ้ำอึ้งเชื้อกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะเป็นนักกฎหมายยังเชื่อมั่นกระบวนการศาลอยู่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พูดยากเพราะหลายเรื่อง หลายราวที่เกิดขึ้นขณะนี้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราไปวิพากษ์วิจารณคงไม่ดี เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนถึงคำแถลงการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้สังคมมองว่าเราเห็นพ้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ว่าถูกกลั่นแกล้ง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่แสดงท่าทีก็บอกว่า เห็นพ้อง ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ก็บอกว่าวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการ จะเอาอย่างไรกัน ตนคิดว่าดีที่สุดไม่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะหากวิจารณ์ก็ไปต่อว่าวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ก็หาว่าเห็นด้วยกับพ.ต.ท.ทักษิณ คิดว่าคำถามไม่ยุติธรรมสำหรับตนเหมือนกัน

ส่วนที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศว่าไม่เลิกการ ชุมนุมนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สุดแต่เขา เมื่อถามว่า รัฐบาลไม่คิดจะพูดจา หรือจะแก้ปัญหานำความเรียบร้อยสู่บ้านเมืองหรือ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไรในขณะนี้ ถ้าคิดว่าจะคลี่คลายลงก็ดี แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีก็พูดแล้วว่า จะไม่มีการปะทะ ตรงนี้น่าจะดีขึ้น

"มาร์ค"จี้รัฐบาลโต้แถลงการณ์"แม้ว"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในการยกเลิกหนังสือเดินทางทางการฑูตของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า แต่ละหน่วยงานทั้งอัยการ ตำรวจ กระทรวงต่างประเทศ ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ ก็จะไม่มีปัญหา

ส่วนรัฐบาลที่ดูเหมือนจะนิ่งเฉยในการตอบโต้กับแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ทำให้ประเทศเสียหายนั้น ทุกคนต้องช่วยกันยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรม ของไทยไม่มีปัญหา ส่วนใครจะรู้สึกเห็นใจหรืออาจเข้าใจความจำเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจงประชาคมโลกเพราะไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล แต่เป็นความน่าเชื่อถือของประเทศ หากประเทศไทยถูกมองว่าขาดกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง จะกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศ ส่วนรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังในการนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับผิดหรือไม่นั้น ฝ่ายค้านจะติดตามตรวจสอบ แต่ตอนนี้ต้องดูท่าทีของรัฐบาลก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ต้องออกมายืนยันกระบวนการยุติธรรมไทย

สำหรับสถานะของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้หลบหนีคดีหรือลี้ภัยทางการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เข้าใจว่า ยังไม่มีการขอลี้ภัย แต่เป็นการไม่มารายงานตัวแล้วศาลออกหมายจับ ซึ่งขั้นตอนการลี้ภัยเป็นเรื่องฝ่ายอังกฤษที่จะพิจารณา หากมีการขอ ส่วนการขอตัวพ.ต.ท. ทักษิณ กลับมาดำเนินคดี ก็ต้องว่าไปตามสนธิสัญญาและกฎหมายของทั้งสองประเทศ ส่วนที่มีข่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ขาดเงินถึงขั้นต้องยืมเงินจากอดีตประธานสโมสรแมนฯซิตี้ 130 ล้านบาทนั้น อาจเป็นปัญหาการบริหารสโมสรฟุตบอลมากกว่า

ส่วนที่มีข่าวว่า รัฐบาลไทยอาจจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นกฎหมายลักษณะไหน ความผิดอะไร แต่จะออกกฎหมายเพื่อใช้เจาะจงตัวบุคคลไม่ได้ ทั้งนี้เห็นว่าต้องให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป เพราะคดียังไม่สิ้นสุดทั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ภริยา ส่วนที่มองกันว่า คนมีเงินทำผิดแล้วไม่ต้องติดคุกซึ่งไม่เป็นธรรม กับคนทั่วไปนั้น คิดว่า กระบวนการยุติธรรมยังไม่ยุติ ทุกฝ่ายต้องทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีของตัวเองโดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิเคราะห์ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ต่างประเทศจะทำให้ สถานการณ์การเมืองไทยดีขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากทำให้การเผชิญหน้าหลายๆ อย่างลดลง ก็คงทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนสถานการณ์ในพรรคพลังประชาชนนั้น ต้องไปถามคนใน แต่เห็นว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีอารมณ์ดี ส่วนจะแบ่งก๊วนอย่างไรนั้น ต้องแยกเรื่องการเมือง กับคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากกัน

"เลี้ยบ" อ้าง "แม้ว" อัด คตส.ไม่ใช่ศาล

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง วิเคราะห์แถลงการณ์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมน่าจะหมายถึงกระบวนการตรวจสอบของ คตส. ที่ยังมีข้อมูลไม่รอบด้าน เช่น กรณีหวยบนดินที่ คตส.ยังมีความเห็นต่างจากอัยการ ซึ่งหลายคดีที่ คตส.ตรวจสอบ กลับมีการดำเนินการแตกต่างกัน เช่น คดีกล้ายาง ทั้งที่ตนร่วมประโยชน์ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย แต่กลับไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเหมือนอย่างกรณีการอนุมัติออกหวยบนดิน

"ผมไม่เชื่อว่าแถลงการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณที่ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการยุติธรรม จะส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุน ต่างประเทศ เพราะเห็นว่านักลงทุนที่จะเข้ามาในไทยคงต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว และขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศก็ไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องดังกล่าว"

ศาล รธน.ยันไม่มีใครแทรกแซงได้

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง คำแถลงการณ์ของพ.ต.ท. ทักษิณ ที่พาดพิงว่ากระบวนการยุติธรรมมีการถูกแทรกแซง และมีการตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการกับตัวเองโดยเฉพาะ ว่า ในที่ประชุมคณะตุลาการในวันนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงคำแถลงการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใด สำหรับกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ มีที่มาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ทุกประการ ทั้งวิธีการการได้มาซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และหลังจากได้องค์คณะตุลการแล้วก็จะมีการเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และถวายสัตย์ ก่อนเข้ามาทำหน้าที่
 
นอกจากนี้การทำงานของคณะตุลาการที่ผ่านมา องค์คณะทั้งหมดก็ได้ทำหน้าที่ ตามที่ได้ถวายสัตย์ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคำร้องก็เป็นตามกรอบ วิธีพิจารณา ส่วนการแทรกแซงการทำงานของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนมั่นใจว่าไม่มีกระบวนการใดมาแทรกแซงได้ อย่างแน่นอน

สภาทนายโต้ "แม้ว" น่าอายใส่ร้ายศาล

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ โต้ แถลงการณ์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า สภาทนายความในฐานะองค์กรมหาชนวิชาชีพทางกฎหมายและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและผดุงความยุติธรรม เห็นว่า ข้อความในแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กระทบโดยตรงกับความน่าเชื่อถือของระบบงานตุลาการของประเทศ เป็นถ้อยแถลงที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างชัดเจน การกล่าวเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมของประเทศและองค์กรที่มีเกียรติที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ส่วนตัวเป็นผู้ที่มีคดีติดตัวและเป็นคดีอาญาที่ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แสดงให้เห็นถึง ความพยายามของนักการเมืองที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและหลบหนีการประกันตัว แล้วยังกล้าบิดเบือนข้อมูลและให้ร้ายระบบการยุติธรรมของประเทศไทยอย่างไม่ควรที่จะให้อภัย

ประเทศไทยได้พัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศตลอดมาเกือบร้อยปี บัดนี้มีบุคคลซึ่งเป็นคนไทย ได้ทำให้เกิดความ ด่างพร้อย อาศัยการที่เคยเป็นผู้นำประเทศและอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองที่ล่มสลาย มากล่าวหาระบบการศาลของประเทศไทยในทำนองที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องที่น่าอับอายและไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

"เติ้ง" เห็นใจ "ทักษิณ" ระเห็ดไปนอก

นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่าสถานการณ์การเมือง ขณะนี้ทุกคนควรทำใจให้สบายจะดีกว่า เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้คาดคะเนกันไม่ถูก เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนดังนั้นต้องจับตาดูเหตุการณ์แต่ละช่วงๆว่าเป็นอย่างไร

ส่วนการเดินทางออกนอกประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้สถานการณ์ คลี่คลายหรือไม่นั้น นายบรรหาร กล่าวว่า ก็ได้แต่เห็นใจ ตนไม่ซ้ำเติมใคร อย่างไร ก็ตามไม่ได้มีการพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด ในฐานะที่ร่วมวงการการเมือง เช่นเดียวกันยอมรับว่ามีเยื้อใยอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดต้องว่าไปตามรูปคดีจะออกมาอย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น คงต้องแล้วแต่ความคิดเห็นของพ.ต.ท.ทักษิณเอง ในเมื่อตัดสินใจเช่นนี้ต้องเป็นเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณเอง เราคงไปก้าวก่ายไม่ได้ จึงตอบไม่ได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณตัดสินใจถูกหรือไม่ ส่วนสถานการณ์อาจจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ตอบไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก เพราะตอนนี้พรรคการเมือง ที่เป็นแกนนำอาจมีปัญหาพอสมควร มีหลายกลุ่มในพรรค ซึ่งจะไม่ตอบแทนเขา แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ที่คิดว่าจะอยู่ไม่ยาวอาจจะยาวก็ได้

ไม่มีใครถอนอายัดทรัพย์"ทักษิณ"ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 ส.ค.) มีการประชุม คณะกรรมาธิการกิจการ การเงิน การคลังและการธนาคาร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังประชาชน เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือข้อกฎหมายการอายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 6.9 หมื่นล้านบาท หลังจากที่คตส. ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปแล้วว่า จะสามารถทำได้หรือไม่

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ กล่าวหลังการประชุมว่า การที่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ เชิญตัวแทน ป.ป.ช. กรมบัญชีการ กรมสรรพากร และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาให้ ข้อมูลกรณี คตส.อายัดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว 6.9 หมื่นล้านบาท กรรมาธิการซีกพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในที่ประชุม เพราะเกรงว่าจะเป็นการดำเนินการช่วยเหลือใครบางคน ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯต้องระมัดระวังเรื่องนี้ ซึ่ง คตส.มีมติให้อายัดทรัพย์ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด สั่งฟ้องแล้ว และล่าสุด ความเห็นของคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช.ก็เตรียมสั่งฟ้องภายในสัปดาห์นี้ จึงอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนยุติธรรมมากกว่าเพื่อจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร

นายกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุม ผู้แทนจาก ธปท. ได้ชี้แจงชัดเจนว่า ธปท. ไม่มีอำนาจในการถอนอายัดทรัพย์ เนื่องจากเป็นคำสั่งของ คตส.ที่ปฏิบัติตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ซึ่งให้อำนาจเต็มทั้งกฎหมาย ปปง.และกฎหมายป.ป.ช.ดังนั้น ธปท. จึงไม่สามารถสั่งให้สถาบันการเงินถอนอายัดทรัพย์ได้ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด หาดถอนอายัด ในช่วงนี้จะถือว่าละเมิดคำสั่งของ คตส.เป็นความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องไปต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น

อัยการขอศาลคุ้มครองอายัดเงิน

นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงสำนวนคดีแพ่ง ขอให้ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ 6.9 หมื่นล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติว่า คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. ที่มีนายวัยวุฒิหล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด เป็นประธาน ได้ทำความเห็นไปแล้วว่า สมควรส่งฟ้องศาล เหลือเพียงความเห็นของนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เพียงคนเดียว ทั้งนี้ ในสำนวนคำฟ้อง ได้ขอให้ศาลคุ้มครองคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ คตส.มีมติอายัดไว้กว่า 6.9 หมื่นล้านบาทด้วย ดังนั้นหากเจ้าทรัพย์ต้องการทรัพย์สินคืนให้ไปว่ากันชั้นศาล

ด้านนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีแพ่ง ขอให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่า หากอัยการ ส่งฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะรับไว้พิจารณา ทั้งนี้เชื่อว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีไม่นาน เนื่องการศาลฎีกาฯใช้ระบบไต่สวน แตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป ที่ใช้เวลาพิจารณาคดีเป็นปีๆ

ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณหนีไปอยู่ต่างประเทศจะไม่ส่งผลกระทบต่อรูปคดี เพราะคดีนี้เป็นคดีแพ่ง สามารถไต่สวนพยานลับหลังได้ อย่างไรก็ตามเอกสาร ในคดีนี้มีมาก ดังนั้นควรจะให้เวลาทีมกฎหมายฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบพยานหลักฐานด้วย

ยังไม่ออกหมายจับ"อ้อ"คดีเลี่ยงภาษี

เช้าวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอาญา เจ้าของสำนวนคดีที่ ศาลอาญาพิพากษาจำคุก คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม 3 ปี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน 2 ปี ฐานจงใจ เลี่ยงภาษีหุ้น บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 546 ล้านบาท ได้เรียกประชุมองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณากรณีคุณหญิงพจมาน เดินทางไปประเทศอังกฤษพร้อมกับครอบครัวโดยไม่กลับมารายงานตัวต่อ ศาลฎีกาฯ ในคดีที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ฐานทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 11 ส.ค.51 และถูกออกหมายจับพร้อมปรับเงินประกันจำนวน 13 ล้านบาท

ภายหลังองค์คณะผู้พิพากษาหารือกันเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า ในทางปฏิบัติเมื่อศาลอนุญาตให้จำเลยประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ หรือฎีกาแล้ว สัญญาประกันจะมีผลผูกพันให้นายประกันส่งตัวจำเลยต่อศาล ตามกำหนดนัด ดังนั้น ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์หรือฎีกาจึงยังไม่มีกำหนดนัดที่จะให้นายประกันส่งตัวจำเลย จนกว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาและนัดจำเลยให้มาฟังคำพิพากษา หากจำเลยไม่มาโดยไม่มีเหตุจำเป็น ก็จะออกหมายจับ และปรับนายประกันต่อไป ซึ่งกรณีคดีคุณหญิงพจมานชินวัตร จำเลยที่ 2 ในคดีเลี่ยงภาษีศาลอาญาก็จะปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น

สื่อนอกชี้ส่งตัว "แม้ว" ยื้อ

วันเดียวกันนี้ หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์ ในประเทศอังกฤษได้เสนอรายงานข่าวเรื่อง"เพราะเหตุใดมหาเศรษฐีต่างแดนจึงนิยมเดินทางมาลี้ภัยในอังกฤษ" ในรูปคำถามคำตอบ เขียนโดยนายโรเบิร์ต เวอร์ไคค์ บรรณาธิการ โต๊ะข่าวกฏหมาย เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมาของการเดินทางกลับมาอังกฤษของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งกระบวนการทางกฎหมาย ถ้าหากทางการไทยต้องการให้อังกฤษส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ตลอดจนเรื่องที่พ.ต.ท.ทักษิณจะสามารถขอลี้ภัยทางการเมืองในอังกฤษได้หรือไม่ ซึ่งดิ อินดิเพนเดนท์บอกว่าถ้าหากทางการไทยตัดสินใจที่จะขอให้ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณกลับ ทางพ.ต.ท.ทักษิณก็สามารถโต้แย้งในศาลอังกฤษได้และความมั่งคั่งร่ำรวยของเขา ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเขา เมื่อต้องการได้รับคำแนะนำทางกฎหมายที่ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น