xs
xsm
sm
md
lg

อัยการเตรียมตั้งคณะทำงาน ลากคอ “แม้ว-อ้อ” กลับไทย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา จำเลยที่ 1-2 คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก
อสส.หารือ อธ.อัยการต่างประเทศ ยันหน้าที่อัยการดำเนินการตามหมายจับศาล นำตัว ทักษิณ-หญิงอ้อ ผู้ร้ายข้ามแดนจากอังกฤษมาดำเนินคดีที่ดินรัชดาฯในไทย เตรียมตั้ง รอง อสส.และอัยการระดับสูง เป็นคณะทำงาน ล่าตัว สภาทนาย จี้ อัยการลากคอกลับมารับโทษ

ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา จำเลยที่ 1-2 คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก เนื่องจากผิดสัญญาประกันตัว ไม่เดินทางมารายงานตัวต่อศาลตามกำหนดนัด โดยหลบหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษนั้น

ล่าสุด วันนี้ (12 ส.ค.) แหล่งข่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า หลังจากที่ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ได้หารือกับ นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ เกี่ยวกับแนวทางขั้นตอนการดำเนินการขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว เบื้องต้นเห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองแล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองอยู่นอกราชอาณาจักรไทย ตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการที่จะต้องดำเนินการขอตัวทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยต่อ เพราะคดีที่ดินรัชดาฯ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนพยานจำเลยของศาลฎีกา ซึ่งการดำเนินการตามหมายจับของศาลฎีกา เพื่อนำตัวจำเลยทั้งสองมาดำเนินคดีจึงเป็นหน้าที่ของอัยการ ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงการต่างประเทศ โดยขั้นตอนต่อไปอัยการจะดูว่ารูปคดีเข้าตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ซึ่งหากเข้าหลักเกณฑ์ ก็จะมอบให้สำนักงานอัยการต่างประเทศ นำตัวจำเลยมาโดยการประสานกับสำนักงานอัยการของประเทศอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง และหาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน อ้างว่า คดีนี้เป็นคดีการเมืองไม่ใช่คดีอาญา มีอัตราโทษถึงประหารชีวิต และยื่นเรื่องขอลี้ภัยต่อกระทรวงมหาดไทยประเทศอังกฤษพิจารณาอนุญาตให้ลี้ภัย และไม่ให้ศาลอังกฤษส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศไทย จะทำให้การขอให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดี ก็อาจจะมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นอีก โดยเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างข้อกฎหมายมาต่อสู้อย่างเต็มที่

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวว่า ดังนั้น อัยการสูงสุด จึงเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานอัยการพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการขอลี้ภัย, พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และสนธิสัญญาข้อตกลงด้านกฎหมายระหว่างประเทศไทยและอังกฤษ เพื่อติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จำเลยทั้งสอง ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดยคาดว่า อัยการสูงสุด จะมีคำสั่งแต่งตั้ง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุดอาวุโสลำดับ 1 เป็นประธานคณะทำงานฯ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ และอัยการระดับสูง ที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นคณะทำงาน

ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งตั้งคณะทำงานติดตามตัวจำเลยทั้งสองในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ แต่การขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน เป็นหน้าที่ของอัยการโดยตรง และเชื่อว่า อัยการน่าจะทำงานได้เร็ว โดยอัยการหลายคนเคยมีประสบการณ์ ในการประสานงานกับอัยการอังกฤษมาแล้ว เพราะว่าก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดก็ได้ตั้งคณะทำงานติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จากประเทศอังกฤษ มาขึ้นศาลฎีกาฯ เพื่ออ่านอธิบายคำฟ้องและสอบคำให้การในการนัดพิจารณาคดีครั้งแรกแล้ว

ขณะที่ นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมรรยาทสภาทนายความ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความว่าความคดีในศาลฎีกาฯ ให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า สำหรับคดีที่สภาทนายความรับว่าความให้แก่ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นโจทก์ ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นด้วยกันทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ คดีโครงการออกสลากรางวัลเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน, คดีปล่อยเงินกู้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ให้แก่ประเทศพม่า และคดีทุจริตกล้ายางพารา ซึ่งศาลฎีกาฯรับฟ้องไว้ทั้ง 3 คดี เห็นว่าแม้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะไม่เดินทางกลับมาต่อสู้คดีด้วยตัวเอง แต่เชื่อว่าศาลจะสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ นั้นไม่จำเป็นต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย อีกทั้งศาลฎีกาฯ ใช้วิธีพิจารณาคดีในระบบไต่สวน ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่เป็นระบบกล่าวหา ซึ่งในคดีอาญาทั่วไปนั้นหากจำเลยหลบหนี ศาลอาจสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว แต่สำหรับคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ศาลสามารถดำเนินการพิจารณาไปจนกระทั่งมีคำพิพากษาได้ เช่นเดียวกับกรณีของ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข ที่หลบหนีคดี แต่ศาลก็มีคำพิพากษาได้

นายสิทธิโชค กล่าวต่อว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่มาปรากฏตัวต่อศาลนั้น เท่ากับจำเลยทั้งสองไม่ติดใจจะสู้คดี แต่หากจำเลยทั้งสอง จะนำส่งเอกสารประกอบคำให้การให้ศาลฎีกาฯพิจารณานั้นสามารถระทำได้ แต่ความน่าเชื่อถือจะมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกดำเนินคดีอยู่นั้น ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นคดีที่มีความผิดทางอาญา แต่ใช้ลงโทษกับนักการเมืองเท่านั้น

ด้าน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงการณ์ว่าที่ถูกดำเนินคดีก็เพราะเป็นผลมาจากต้นไม้ที่เป็นพิษ และกระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐาน นั้น เห็นว่าที่ผ่านมา ศาลได้ใช้หลักนิติธรรม ในการดำเนินคดี ไม่ใช่ว่าจะมาวิจารณ์ว่าศาลไทยมีสองมาตรฐาน และอ้างว่าถูกดำเนินคดีเพราะผลไม้มีพิษนั้นไม่ถูกต้อง

“พิษมันอยู่ที่เขา เพราะปุ๋ยมันมีพิษมันก็เลยทำให้เป็นพิษไปหมด ดังนั้น อย่ามาอ้างว่าเป็นเรื่องการเมือง ผมขอเรียกร้องให้อัยการ ดำเนินการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศ เพราะศาลออกหมายจับแล้ว อัยการสูงสุดต้องรีบตั้งคณะทำงาน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องเอาหมายจับไปติดไว้ทุกด่าน ทุกสนามบิน และท่าเรือ” นายกสภาทนายความกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น