อดีตทูต “กษิต ภิรมย์” ชี้ “ทักษิณ” คือ ผู้ร้ายข้ามแดน ที่หนีคดีอาญา เชื่อ ต่างชาติไม่เชื่อข้อความในแถลงการณ์ เพราะทั่วโลกต่างรู้สถานการณ์ในเมืองไทยดี-อดีตโฆษก คตส.“สัก กอแสงเรือง” ชี้ แถลงการณ์ “แม้ว” กล่าวหาศาลมี 2 มาตรฐาน แค่ข้ออ้างหนีคดี ย้อนถาม ถ้าไม่เชื่อในกระบวนการศาล แล้วจะฟ้อง คตส.กว่า 20 คดีทำไม พร้อมยัน คตส.ทำงานมาตราฐานเดียว ตามหลักฐานที่ปรากฏ
วันนี้ (11 ส.ค.) นายสัก กอแสงเรือง อดีตโฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ถึงคำชี้แจงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลของการไม่เดินทางกลับประเทศไทยมารายงานตัวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ว่า ได้รับการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน ว่า คดีดังกล่าวนั้น คตส.ทำหน้าที่ตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายทุกประการ และให้สิทธิ์ในการชี้แจงข้อกล่าวหามาโดยตลอด ดังนั้น ข้ออ้างของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ว่า กระบวนศาลดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานนั้น ในส่วนของ คตส.นั้น ตนสามารถยืนยันได้ว่า คตส.ทำงานแบบมาตรฐานเดียวกันกับทุกคนและทุกคดี เราทำงานไม่เคยดูหน้า ว่าชอบหรือไม่ชอบใคร ทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏ
ทั้งนี้ ตนอยากย้อนถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า หากถ้าไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแล้ว เหตุใดจึงมามอบตัว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งยังเคยพูดเองว่า เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมจึงกลับมาสู้คดี และหากไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ทำไมถึงใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรม ฟ้องร้อง คตส.กว่า 20 คดี ดังนั้น สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยกระทำมาทั้งหมด หมายถึงการไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมได้อีกหรือ
ซึ่งในส่วนของหน่วยงานอื่นๆ ที่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาว่า ทำงานแบบ 2 มาตรฐานนั้น ตนคิดว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะกล่าวหาหน่วยงานใด ก็ต้องมีหลักฐานมาประกอบ ไม่ใช่มาพูดอย่างลอยๆ ไม่อย่างนั้นก็เหมือนกับการกล่าวหา และโดยส่วนตัวแล้วตนไม่เห็นว่าจะมีใครหรือช่องทางใดที่จะสามารถ แทรกแซงกระบวนการ การตัดสินของศาลได้อย่างไร และตนก็เชื่อมั่นว่า กระบวนการการตัดสินของศาลฎีกาของไทย ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศใด และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศได้ว่ามีความยุติธรรม และไม่ถูกแทรกแซงได้ ซึ่งสิ่งนี้เองจะเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนภูมิใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการตัดสินของศาล
ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งสำคัญในวันนี้คงไม่ต้องไปให้น้ำหนักคำกล่าวอ้างในแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกต่อไปแล้ว เพราะประเด็นสำคัญที่ต้องในวันนี้ ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ ผู้ร้ายข้ามแดน ที่หนีคดีอาญา ไปจากประเทศไทย ไม่ใช่การลี้ภัยทางการเมือง เพราะหากเป็นการลี้ภัยทางการเมือง ก็ต้องทำตั้งแต่เมื่อ 19 ก.ย.2550 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำในตอนนี้
ซึ่งจากนี้คงต้องถามไปยังกระบวนการยุติธรรม ว่า จะดำเนินการติดต่อไปยังรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอตัวกลับมาดำเนินคดีอย่างไร ส่วนฝ่ายอังกฤษจะพิจารณาอย่างไร ก็คงต้องฟังข้อมูลทั้งจากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และฝั่งหน่วยงานยุติธรรมของไทย
ต่อคำถามว่า เมื่อชาวต่างชาติได้อ่านแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว จะมองภาพลักษณ์ และกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ในทางไม่ดีหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเอกอัครราชฑูตของทุกประเทศ ย่อมรู้สถานการณ์ในไทยดี และก็ต้องส่งข้อมูลทั้งหมดไปยังประเทศของตนอยู่แล้ว อีกทั้งสื่อมวลชนทั่วโลกก็รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดี ตนจึงเชื่อว่าคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงน่าจะเป็นคำพูดเพียงด้านเดียวที่ไม่มีน้ำหนักพอ ถึงขนาดจะทำให้คนทั่วโลกเชื่อได้
ด้าน นายมีพาศน์ โปรตระนันท์ อดีตกรรมการกฤษฎีกา และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่า ข้ออ้างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ได้รับการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานจากกระบวนการตุลาการของไทยนั้น รัฐบาลอังกฤษ คงจะมองอย่างเห็นใจ เพราะหากต้องกลับมาถูกดำเนินคดีแล้วถึงขั้นจำคุกเป็นระยะเวลานาน ทั้งสองสามี-ภรรยา คงเป็นเรื่องที่หนักเกินไป เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้ทำอะไรที่มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นจะต้องติดคุกติดตาราง
นายมีพาศน์ กล่าวด้วยว่า หากต่างชาติจะมองภาพลักษณ์กระบวนการศาลของไทยไม่ดีนั้น โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่า ข้อด้อยของศาลไทยก็มีอยู่ นั่นคือ เป็นองค์กรที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก เพราะมีความเป็นอนุรักษนิยมอยู่มาก ทำให้มีความเห็นไม่กว้างขวางเท่าที่ควร ถ้าเทียบกับศาลยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาแล้ว แตกต่างกันเยอะทั้งในด้านของความคิดความอ่านและคุณภาพการศึกษา ซึ่งก็สอดคล้องกับสังคมที่เจริญก้าวหน้าของอเมริกา ดังนั้น ตนคิดว่า กระบวนการทางศาลของไทย ควรปรับแนวคิดของศาลให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การปรับให้ศาลมีภาระให้น้อยลง ไม่ใช่ว่าเรื่องอะไรก็ให้ศาลดำเนินการทั้งหมด และการพิพากษาก็ควรคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ให้มากขึ้น ไม่ใช่พิพากษาจากการตีความแต่หลักนิติศาสตร์เท่านั้น