ปชป.จี้ รัฐบาลหุ่นเชิด แจง “แม้ว” หนีอาญา ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อ ปชช.ซ้ำออกแถลงการณ์ทำลายชาติ “สมพงษ์” อ้อมแอ้ม อ้างแถลงการณ์เป็นเรื่องส่วนตัว รัฐบาลห้ามใครพูดไม่ได้ ด้าน “เตช” เข้าชี้แจงเงื่อนไขส่งผู้ร้ายข้ามแดน “เชาวริน” ทนฟังไม่ไหว ลุกประท้วงทันที อ้างนายใหญ่แค่ไปลี้ภัย ยังไม่เป็นผู้ร้าย
วันนี้ (14 ส.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา โดยมี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะพาณิช รองประธาน คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นกระทู้ถามสดเรื่องผลกระทบต่อกรณีคำแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างไม่กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า เป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ ถูกแทรกแซง ไม่เป็นกลาง และถูกนำมาใช้ทางการเมือง ตัดสินคดีโดยใช้ 2 มาตรฐาน และห่วงชีวิตความไม่ปลอดภัย โดยมีการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับความเสียหาย ทั้งที่เหตุผลดังกล่าวอาจจะเป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศเสมือนการเผาบ้านตัวเอง จึงจำเป็นต้องหาจุดยืนของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ต่อท่าทีที่น่าห่วงใยหลังจากผ่านมาเป็นเวลา 3-4 วัน โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความนิ่งเฉยและลอยตัวเหนือปัญหา ขณะที่รัฐมนตรีบางคนกลับชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล และมีการแก้ต่างให้กับแถลงการณ์ดังกล่าวเหมือนกับไม่ใช่รัฐบาลของประเทศไทย แต่เป็นรัฐบาลของคนใดคนหนึ่งหรือที่เรียกว่ารัฐบาลนอมินี การออกมาตอบโต้ของรัฐบาลเหมือนกับกลัวๆ กล้าๆ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้กระบวนการยุติธรรมที่อ้างว่าถูกแทรกแซงดำเนินการฟ้องร้องบุคคลอื่น หรือใช้ต่อสู้คดีทุจริตต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็มีกรณีเหตุการณ์ถุงขนม 2 ล้าน ที่ศาลได้สั่งจำคุก 3 คนซึ่งเกี่ยวข้องกับทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตนขอถามว่า ทางรัฐบาลจะแถลงตอบโต้ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไร และจะแก้ไขเยียวยาภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลกอย่างไร และตนทราบว่า ศาลฎีกาได้ออกหมายจับบุคคลทั้งสองแล้ว ขณะเดียวกัน การหนีคดีอาญาซึ่งเป็นคดีทุจริตรวมถึงคดีอื่นๆ การที่อดีตนายกฯ หลบหนีคดีถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชน และคนไทยต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ดังนั้น เมื่อกระบวนการของคดีความขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว แต่มีการหลบหนีคดีจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำเนินการนำตัวจำเลยมาสู่การพิจารณาคดี เนื่องจากไทยและอังกฤษมีข้อตกลงเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการนำผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาพิจารณาคดี ก็ขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรีด้วย จึงขอถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ตนเห็นว่า คำแถลงการณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยถูกแทรกแซงนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดออกมา และทำให้หลายคนคิดว่ามีผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ความคิดของแต่ละคน แต่การที่รัฐบาลจะมีมาตรการไม่ให้บุคคลใดกล่าวในลักษณะนี้คงห้ามไม่ได้ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศคงเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจง แต่ยืนยันว่าเรามีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมมานาน หากจะเกิดผลกระทบในเรื่องของภาพพจน์ตนคิดว่า ต่างชาติก็คงจะมีการตอบโต้มาบ้างแล้ว แต่ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยได้รับการตอบโต้แต่อย่างใด แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจทางกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรม เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการประสานวานความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนการขอส่งตัวข้ามแดน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้แต่ก็ขึ้นอยู่กับสำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ ได้เข้าร่วมชี้แจงด้วย โดยได้ยืนยันถึงมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของไทย พร้อมกับชี้แจงถึง 12 เงื่อนไขของสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ได้ประท้วงว่า นายเตชกรุณาต่อสภามากเกินไปโดยอ่านเรื่องอนุสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนถึง 6 นาที ซึ่งความจริงไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมิได้เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ยังไม่มีศาลใดตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิด
"เมื่อวาน นายอลงกรณ์ ก็ได้พูดแล้วว่าจากการที่สภาได้รับทรายรายงานของเอ็กซิมแบงก์พอได้จังหวะก็เตะตัดขา ตามกัดไม่ปล่อย ตามจิก ส่วน รมว.ต่างประเทศ ท่านใหม่มากในสภานี้ การที่เอาสัญญามาอ่าน ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับความเสียหาย เพราะท่านลี้ภัยไม่ใช่ผู้ร้ายข้ามแดน" ร.ต.ท.เชาวรินกล่าว