xs
xsm
sm
md
lg

“ไข่แม้วรุ่น 2” ผสมโรง ป้อง 3 รมต.ไม่ต้องยุติการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
ประธานชมรม 24 มิถุนาฯ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” อ้าง 3 รมต.ที่ถูกกล่าวหาคดีหวยบนดิน ไม่จำเป็นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะ คตส.ไม่มีความชอบธรรม การกระทำใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องเชื่อถือ ชี้ ไม่ยอมรับการตรวจสอบขององค์กรอิสระใดๆ เชื่อ แค่สื่อ และฝ่ายค้าน ก็ตรวจสอบรัฐบาลได้เพียงพอแล้ว

วานนี้ (28 ก.ค.) นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนา รักประชาธิปไตย และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) รุ่น 2 ที่เคยเคลื่อนไหวขับไล่ คมช.และสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องคดีสลากพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงกัน ว่า รัฐมนตรี 3 คนในรัฐบาลปัจจุบันต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ว่า ทางชมรมของตน เห็นว่า รัฐมนตรีทั้ง 3 ไม่จำเป็นต้องทำอะไรทั้งสิ้น ควรจะอยู่เฉยๆ แล้วทำหน้าที่ต่อไป เพราะตนเชื่อว่า คตส.ชุดดังกล่าวมีที่มาไม่ชอบ ไม่สามารถมีอำนาจที่จะมาสั่งให้รัฐมนตรีหยุดทำงานได้ นอกจากนี้ การทำหน้าทีของ คตส.ที่ผ่านมา ก็บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า คตส.ทำหน้าที่อย่างมีอคติ เลือกปฏิบัติ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น สิ่งที่ คตส.ดำเนินการจึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

ผู้ดำเนินรายการถามว่า เมื่อทางชมรม 24 มิถุนาฯ เห็นว่า คตส.ไม่มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ แล้ว องค์กรใดบ้างที่ทางชมรมจะยอมรับให้ตรวจสอบรัฐบาลได้ นายสมยศ กล่าวว่า ตนและชมรม ไม่ยอมรับอำนาจตรวจสอบขององค์กรอิสระที่มีที่มาอย่างไม่ชอบ และดำเนินการตรวจสอบแบบมีวาระซ่อนเร้น เพื่อหวังทำลายอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว นอกนั้นทางชมรมของตนก็ยอมรับ แต่อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า เรื่องของการตรวจสอบรัฐบาลคงไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะองค์กรต่างๆ ในสังคมก็มีอยู่มากมายที่จับตามองรัฐบาลอยู่ตลอด เช่นสื่อมวลชน และฝ่ายค้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ นายสมยศ ยังกล่าวถึงกรณีความขัดแย้งของกลุ่มคน 2 กลุ่ม ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน จนเกิดการทำร้ายร่างกายกันอย่างรุนแรงที่จังหวัดอุดรธานีด้วยว่า เป็นเรื่องของการท้าทายกันของคนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปท้าทาย ไปเหยียบจมูกของคนอีกกลุ่ม จึงทำให้ฝ่ายที่ถูกท้าทายทนไม่ไหว จึงทำให้เกิดการปะทะกันขึ้น ซึ่งตนคิดว่าแนวทางแก้ไขนั้น ตนคิดว่า ควรจะมีการตั้งเวที ที่เป็นกลางสักเวทีหนึ่ง ที่คนทั้งสองฝ่ายจะได้พูดถึงสิ่งที่ตนเองคิด แต่ก่อนจะเกิดเวทีนั้นได้ทั้งสองฝ่ายต้องยุติการชุมนุมเสียก่อน แล้วเมื่อได้พูดให้ประชาชนฟังแล้ว ก็ให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสินโดยการทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการอะไร เช่นหากประชาชน ต้องการให้มีการแก้ไข รธน.รัฐบาลก็ดำเนินการตามนั้น จากนั้นก็ยุบสภาแล้วทำการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายหมดความขัดแย้งลงได้

ทั้งนี้ คำพูดของ นายสมยศ ดังกล่าว เท่ากับว่า ไม่ยอมรับในสิทธิการชุมนุมซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ ฉบับปี 2540 ที่กลุ่มของ นายสมยศ เรียกร้องให้เอามาใช้แทนฉบับปัจจุบัน เพราะหากนาสยมยศยอมรับในสิทธิการชุมนุม ย่อมจะไม่บอกว่า อีกฝ่ายหนึ่งไปยั่วยุจนเกิดการประทะ ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จริงที่ว่า เหตุการณ์ที่อุดรธานีนั้น กลุ่มพันธมิตรฯเพิ่งจะเริ่มตั้งเวทีที่สวนสาธาณณะหนองประจักษ์ แต่ก็ถูกกล่มอันธพาลที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มคนรักอุดรยกขบวนพร้อมอาวุธจำพวกไม้หน้าสาม เหล็กแป๊ป เคียว มีด ขวาน ไปรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ด้าน นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องของการชุมนุมในทุกวันนี้ ควรมีการจัดระเบียบให้ดีกว่านี้ คือ ควรจะมีการจัดระเบียบการชุมนุมว่า ควรจะอย่างสันติมีการควบคุมทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังควรมีการจัดระเบียบสื่อมวลชนให้มีการรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เพิ่มเติมประเด็นความรู้สึกส่วนตัว หรือพูดจาส่อเสียดอันจะนำมาให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังควรจัดเวทีที่เป็นกลางให้ทั้งสองฝ่ายมาพูด เพื่อแสดงความคิดเห็นของตนซึ่งแต่ละฝ่ายก็ต้องอดทน รับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย แล้วค่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเมื่อตัดสินแล้ว ก็ต้องยอมรับในผลนั้นๆ ด้วย

ขณะที่ นายเดโช สวนานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 40 และ 50 กล่าวว่า ตนเห็นว่า รธน.นั้นเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องมีเหตุมีผลที่เหมาะที่ควรเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ แต่เมื่อมีความขัดแย้งขึ้นมาแล้ว ตนคิดว่าอย่างไรเสียกฎหมายก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะลดความขัดแย้งได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ คนต้องใช้และปฏิบัติตามกฎหมายด้วย จึงจะแก้ปัญหาได้

อีกทั้งตนมองว่า ทุกคนควรใช้กฎหมายอย่างพอดี เช่น กฎหมายในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ หรือการเมืองภาคประชาชน ที่ตอนนี้มีบางคน บางกลุ่มตีความหมายของการเมืองภาคประชาชนที่ผิดเพื้ยนไป เพราะสิทธิเสรีภาพแบบมีขอบเขตไม่ใช่การชุมนุมอย่างที่สะพานมัฆวาฬ เพราะอย่างนั้นเรียกว่าการสำลักประชาธิปไตย ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต
นายโคทม อารียา
นายเดโช สวนานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น