xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ล้นสถานทูตอังกฤษ จี้ส่งตัว”แม้ว-อ้อ”-โกวิทขู่ปลุกม็อบสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พันธมิตรฯ” ยื่น จม.เปิดผนึกถึงสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เรียกร้องส่งตัว “ทักษิณ-พจมาน” กลับมาดำเนินคดีในไทย เตือนรัฐบาลผู้ดีเห็นแก่ความสัมพันธ์อันยาวนาน ระบุหาก “ผู้ร้ายหนีคดีอาญา” ขอลี้ภัยสำเร็จ จะเป็นตัวอย่างเลวร้ายให้กลุ่มเศรษฐีคนอื่น ทั่วโลกเอาอย่าง "โกวิท" ปลุกพลังเงียบออกมาชนพวกที่ชอบอาละวาด “สมพงษ์” ลมออกหูหลังข่าว “ทำเพื่อนายใหญ่-นายหญิง” โต้เปล่านำเข้าครม. อ้างทำนานแล้วตั้งแต่6มิ.ย. ศาลฎีกานักการเมืองไต่สวนพยานจำเลยทุจริตที่ดินรัชดาฯเสร็จอีก 7 ปาก ทนายจำเลย แถลงขอศาลไม่ปฏิบัติหน้าที่ซักถามพยาน ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งสุดท้ายตามกำหนดนัด 22 ส.ค.นี้

วานนี้ (19 ส.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมมวลชนมากกว่าสี่หมื่นคน เคลื่อนขบวนจากลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไปยังหน้าสถานทูตอังกฤษ ซึ่งภายหลังถึงสถานทูตอังกฤษแล้ว นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้อ่านจดหมายเปิดผนึก ถึงนายควินตัน เควลย์ เอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ เป็นภาษาอังกฤษ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ได้อ่านคำแปลเป็นภาษไทยยื่นหนังสือสถานทูตอังกฤษโดยมีใจความว่า

“จากกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และภริยา ได้หลบหนีคดีในระหว่างการประกันตัวไปยังกรุงลอนดอนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับบุคคลผู้หลบหนีทั้งคู่ตามที่กล่าวมาข้างต้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้

1) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการตั้งกระทู้สดสอบถามเรื่อง “ผลกระทบจากแถลงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีต่อภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย” ซึ่งนายเตช บุนนาค ได้อ่านถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการในนามกระทรวงการต่างประเทศตอบอย่างเป็นทางการว่า “กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมีความละเอียดถี่ถ้วน และกระบวนการคัดสรรบุคลากรผู้มาเป็นตุลาการ ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมไทยว่ามีความเป็นวิชาชีพสูงมีจรรยาบรรณ และเป็นกระบวนการคัดสรรที่เป็นประชาธิปไตยภายในระบบตุลาการเองที่มีความเข้มงวด ปลอดจากการแทรกแซงภายนอกและเป็นอิสระ ประชาชนในชาติถือเป็นที่พึ่งเสมอมา กล่าวได้ว่า สังคมไทยเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์และยุติธรรมของอำนาจตุลาการตลอดมา

2) ความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงแต่ใช้กฎเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น แต่คือความสามารถในการที่จะกระทำสิ่งต่างๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสังคมขึ้นในราชอาณาจักร ด้วยคะแนนเสียงความนิยม ด้วยหลักนิติธรรม และวิธีการตามอำนาจอธิปไตยที่จะนำพาอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมดังที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกดำเนินคดีในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ ด้วยการใช้ข้อมูลวงในซื้อขายที่ดินเอื้อผลประโยชน์แก่สมาชิกครอบครัว นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้ถูกดำเนินคดี ทำให้เราเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงสัญญาณในทางที่ดีในการปกครองประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงทำให้สภาวะแวดล้อมของประชาชนอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและความเสมอภาค

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ก่ออาชญากรรมจะต้องได้รับความผิดไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใครก็ตาม ในโลกแห่งการฉ้อฉลและอยุติธรรมทักษิณได้หนีคดีความไปยังลอนดอนและมีแผนที่จะขอลี้ภัยในอังกฤษ คำร้องขอของทักษิณในการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในอังกฤษจะต้องได้รับการปฏิเสธ หากว่าทักษิณไม่ถูกนำตัวกลับมาดำเนินคดีในศาลไทย จะเป็นการทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเมืองและประชาธิปไตยและเป็นการกัดกร่อนความสามารถในการเปลี่ยนแปลงภายในราชอาณาจักร ถ้าหากคำขอของทักษิณได้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นตัวอย่างเลวร้ายให้แก่กลุ่มเศรษฐีคนอื่น ผู้มีอำนาจ และผู้ที่ไม่รักษาประชาธิปไตยในไทยและที่อื่นๆให้กระทำตาม

3) เพื่อความสัมพันธ์ฉันท์มิตรอันยาวนานระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ และประชาชนทั้งสองประเทศ และเพื่อคำนึงถึงความสำคัญแห่งหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย การดำเนินการต่อไปอย่างมีวิจารณญาณที่ถูกต้องก็คือการปฏิเสธคำขอลี้ภัยทางการเมืองแก่ผู้ร้ายหนีอาญาแผ่นดิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อส่งสัญญาณที่ถูกต้องในทางประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ”

ทั้งนี้ หลังการอ่านแถลงการณ์จบ นายสนธิ พร้อมด้วยนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ได้นำจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อตัวแทนสถานทูตอังกฤษ โดยระบุว่าจะขอรอคำตอบภายใน 7 วัน หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ได้ประกาศนัดหมายพบกันที่หน้าโรงเรียนโยธินบูรณะ สี่แยกเกียกกาย ในเวลา 10.00 น. วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม เพื่อให้กำลังใจนักเรียนที่ถูกรัฐบาลไล่ที่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

นายสนธิ ได้ประกาศเพิ่มเติมว่า ตัวแทนสถานทูตอังกฤษ ได้รับปากว่าจะดำเนินการส่งเรื่องนี้ไปที่ประเทศอังกฤษโดยเร็ว ดังนั้นเราจะมาฟังคำตอบอีกครั้งในวันอังคารหน้า และในวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคมนี้ เราจะไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงการต่างประเทศ เวลา 10.00 น. เพื่อทวงถามกรณีการยกเลิกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ทุกประเภทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญาจึงไม่ควรที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศ

กระทั่งเวลาประมาณ 12.10 น. พันธมิตรฯ จึงเริ่มเคลื่อนขบวนกลับมายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ด้วยความเรียบร้อย

นายสนธิ กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ ในช่วงค่ำว่า ตอนที่ผมออกช่อง 11 สื่อกระแหนะกระแหนผม คุณสุภิญญา (กล้าณรงค์) ซึ่งเราเคยช่วยเหลือตอนที่แกสู้กับทักษิณ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าผมเข้ามายึดช่อง 11 ทำให้สื่อไม่สื่อมวลชนบางแห่ง พี่น้องทุกคนแดกดันผม ปรากฎว่า ผมอยู่ได้ 11 วัน ถ้าผมอยู่ถึงวันนี้ คนไทยไม่เป็นอย่างนี้ ที่น่าสนใจ วันนี้ จตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วีระ มุกสิกพงษ์ เข้าไปยึดช่อง 11 ถ่มถุยทุกวัน ผมไม่เห็นคนที่กระแหนะกระแหนผมออกมาต่อว่าคนพวกนี้เลย

“วันนี้เราสร้างสื่อขึ้นมาแล้ว ประชาชนจงเข้าใจว่า เอเอสทีวีเป็ของเรา
เราปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยการสร้างสื่อที่ไม่ต้องพึ่งพาใครทั้งสิ้น นอกจากเป็นลูกจ้างของพี่น้อง (ประชาชน)”

"โกวิท"ปลุกพลังเงียบชน

เมื่อเวลา 19.00 น. วานนี้ (19 ส.ค.) พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยได้กล่าว หลังจากเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองได้ 14 วัน ซึ่งเป็นการพูดในระหว่างการสัมมนา เรื่องไฟฟ้ากับความมั่นคงของประเทศ ที่โรงแรมคิงส์ พาวเวอร์ พูลแมน ซอยรางน้ำ ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้านครหลวง โดยมีผู้มาร่วมงานประมาณ 100 คน

พล.ต.อ.โกวิท ระบุในตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่เป็นนักการเมืองมา 14 วัน ถูกด่า 3 เวลา สังคมไทยประหลาด ไม่สนับสนุนคนดี มีแต่คนออกมาอาละวาด ผู้ต้องทำตามกฎหมายก็กล้าๆ กลัวๆ จึงอยากให้พลังเงียบออกมาช่วยกัน

"สังคมไทยมีความแตกต่าง แต่ไม่ควรแตกแยกกันเกินไป ทำให้ประเทศไม่เจริญ แต่ผมพูดมากไม่ได้ เพราะเป็นผู้ต้องหาหลายคดีอยู่ (หัวเราะ) ตอนปฏิวัติ 19 กันยายน 49 ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ จึงไม่ได้ไปในวันนั้น แต่ได้สั่งตำรวจให้วางปืน เพราะกำลังทหารมีมากกว่า เมื่อมี คมช.ผมก็ทำตามหน้าที่ ไม่ทำก็ถูกปลด พูดมากไม่ได้ เดี๋ยวเพื่อนฝูงจะเสียใจ" พล.ต.อ.โกวิท ระบุ

“สมพงษ์” โต้เปล่าเอาใจนายใหญ่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่กระทรวงยุติธรรม เสนอแก้กฎกระทรวง โดยกำหนดให้คำร้องขอการส่งมอบตัวบุคคลและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ตนเข้าใจว่าเป็นกฎหมายรอง เพราะมีกฎหมายหลักที่ออกมาแล้ว ซึ่งตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด แต่ถ้าจำเป็นต้องตราขึ้น เพื่อให้มีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนก็สามารถทำได้

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยการเอาใจนายใหญ่ นายหญิงด้วยการออกกฎกระทรวงเพื่อจะให้การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนยากขึ้น ว่า กฎกระทรวงที่จะนำเข้าครม.ไม่ได้เป็นการเร่งรัดแต่อย่างใด และไม่ได้นำเข้าครม. เมื่อวานนี้ (19 ส.ค.) ซึ่งทำเรื่องนี้เตรียมนำเข้าครม.ตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปตามมาตรา 8 ของพ.ร.บ.การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉบับที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งครบกำหนดเรียบร้อยในวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางกระทรวงได้ทำงานคู่ขนานกันมาตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. แล้ว ซึ่งจะเรียบร้อยภายในอาทิตย์หน้า

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ดังนั้นระบุถึงความชัดเจนแล้วว่าการที่ต่างประเทศ ประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยจะขอส่งคนร้ายข้ามแดนกลับไปสู่ประเทศนั้นๆ มีกำหนด 1-2-3-4-5 ในรายละเอียดซึ่งจะต้องติดตามในภายหลัง แต่ข้อใหญ่ใจความสำคัญคือ ต้องจัดทำเป็นภาษาไทย ต้องมีการหารือกันระหว่าง ศาล อัยการ ศาลยุติธรรม หรือหน่วยงานที่มีความสำคัญของไทยได้วางกรอบไว้ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่า ไปเขียนเพิ่มเติมอะไรต่างๆ

“จะไปเขียนข่าว ลงหัวข้อ แหม! จะทำให้นายใหญ่ นายหญิงกลับมาบ้านเราช้าลง มันไม่เกี่ยว เป็นเรื่องระหว่างประเทศ” รมว.ยุติธรรม กล่าว

เมื่อถามว่า กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการเร่งให้การดำเนินการนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาระบุว่าเป็นอำนาจ ของกระทรวงยุติธรรม นายสมพงษ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรา เป็นหน้าที่อัยการ กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่เพียงแต่ดูในรายละเอียด โดยมีคณะกรรมการกลางมีกระทรวงการต่างประเทศและอัยการสูงสุด เป็นคนทำกัน ส่วนเรื่องการออกกฎกระทรวง กระทรวงยุติธรรมเป็นคนดำเนินการ วางกรอบแนวร่วมกับทางศาล กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานสำคัญเกี่ยวกับการขอบุคคลของประเทศต่างๆส่งตัวในฐานะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

“ทนายแม้ว” ปฏิเสธซักค้านพยาน!

วานนี้ (19 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวนทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาทเศษ พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานจำเลยครั้งที่สี่ คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นคู่สมรสเจ้าพนักงานเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียการทำสัญญากับรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122

โดยวันนี้ทนายความจำเลย นำพยานเข้าไต่สวนรวม 7 ปาก ประกอบด้วย นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง, นายวิรัช กุลเพชรประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี จ.นครปฐม, น.ส.สุจิรัตน์ ทองมี เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี กองล้มละลาย, น.ส.หนึ่งหทัย วงษ์ทอง เจ้าหน้าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด อดีตเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูกิจการและพัฒนาสถาบันการเงิน, นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ซึ่งรับผิดชอบฝ่ายคดี และการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ นายวีระพงษ์ มุทานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด

ก่อนเริ่มการไต่สวนพยาน นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 ได้แถลงหารือต่อศาลว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องประสงค์จะถอนทนายความ แต่เมื่อศาลไม่อนุญาต ในฐานะทนายความจึงขอความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทนายความเกรงว่าจะเกิดปัญหาหากจะทำหน้าที่ซักถามพยานทั้งที่จำเลยประสงค์จะถอนทนายความ ซึ่งองค์คณะฯ โดยนายทองหล่อ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ชี้แจงว่าเมื่อศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตแล้ว ทนายความก็ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ในฐานะทนายความ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับนายเอนก คำชุ่ม ทนายความ ซึ่งขึ้นว่าความเป็นประจำนั้นในวันนี้ไม่ได้เดินทางมาศาล โดยทีมทนายความแถลงต่อศาลว่า นายเอนกติดภารกิจว่าความคดีในศาลอื่น

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาการไต่สวนพยาน นายคำนวณ และ นายเปรมกมล ทินกร ณ อยุธยา ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลว่าไม่ขออนุญาตที่จะซักถามพยาน โดยศาลได้ไต่สวนสอบถามพยานทั้ง 7 ปาก ขณะที่อัยการโจทก์ได้ร่วมซักถามพยานด้วยจนครบ ซึ่งนางธาริษา ผู้ว่าฯ ธปท. เบิกความตอบศาลว่า เคยเป็นประธานกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อปี 2549 แต่พยานไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องที่คุณหญิงพจมาน ร่วมประมูลซื้อที่ดินของกองทุนเพราะขณะที่มีการซื้อขายที่ดิน พยานดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ ธปท.โดยเรื่องการซื้อขายที่ดินของคุณหญิงพจมาน พยานทราบข้อมูลจากข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนเท่านั้น ส่วนแนวทางปฏิบัติซื้อขายที่ดินของกองทุนเป็นอำนาจของกองทุน ไม่ใช่ ธปท. หรือกระทรวงการคลัง แต่โดยหลักการกองทุนเป็นส่วนหนึ่งของ ธปท.ดังนั้น จึงต้องถูกตรวจสอบงบประมาณประจำปีโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย

ต่อมา นายวราเทพ อดีต รมช.คลัง เบิกความตอบศาล สรุปว่า ตนดำรงตำแหน่ง รมช.คลัง ระหว่างปี 2544 -2549 แต่พยานไม่ได้รับผิดชอบดูแลกองทุน โดยพยานได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธานสำนักประเมินราคาสินทรัพย์ กรมธนารักษ์ ที่ดูแลการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

ส่วน นายวีระพงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริการ บจก.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เบิกความตอบศาลว่า บริษัทเข้าร่วมการประมูลซื้อขายที่ดินทั้ง 2 ครั้งโดยได้รับหนังสือแจ้งข่าวว่ามีการประมูล ซึ่งครั้งแรกเป็นการประมูลออนไลน์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ กำหนดให้วางเงินมัดจำการเข้าร่วมประมูลจำนวน 10 ล้านบาท แต่สุดท้ายบริษัทไม่ได้ร่วมเสนอราคา เพราะเห็นว่าครั้งนั้นราคาเริ่มต้นสูงพอสมควร ส่วนครั้งที่สองเป็นการยื่นซองประมูล กำหนดวางเงินมัดจำ 100 ล้านบาท ซึ่งบริษัทร่วมเสนอราคา 730 ล้านบาท โดยการเข้าร่วมประมูลบริษัทต้องการนำที่ดินมาก่อสร้างโครงการบ้านและคอนโดมิเนียม ซึ่งขณะนั้นบริษัททราบหลักเกณฑ์ข้อจำกัดในการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่บริเวณดังกล่าวว่า จำกัดความสูงการก่อสร้างอาคารไม่เกิน 23 เมตร ทั้งนี้ในการวางเงินมัดจำประมูลนั้นบริษัท ได้นำโอนเงินบัญชีของบริษัท เข้าบัญชีกองทุน และเมื่อศาลถามถึงความสัมพันธ์ของกรรมการบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กับ กรรมการบริษัทเอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีจำเลยทั้งสอง เป็นกรรมการด้วย นายวีระพงษ์ ตอบศาลว่า พยานไม่ทราบว่ากรรมการบริหารมีความรู้จักสนิทสนมกันหรือไม่ เพียงใด

สำหรับพยานอีก 4 ปาก เบิกความทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินคดีนี้ ภายหลังเมื่อศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นทั้ง 7 ปาก แล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยอีกครั้งในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ภายหลังนายคำนวณ ทนายความ กล่าวว่าจะยื่นคำให้การของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ยังไม่ทราบ เพราะจะต้องสอบถามทั้งสองว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยยื่นคำให้ไว้ในชั้น คตส. รวมทั้งชั้นศาล โดยคำให้การชั้น คตส. นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความที่รับผิดชอบขณะนั้น ได้ต่อสู้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอที่จะใช้สู้คดีในชั้นศาลได้

ส่วนเรื่องที่ทนายความไม่ได้ทำหน้าที่ซักถามพยาน นั้น นายคำนวณ กล่าวว่า ตนได้กราบเรียนต่อศาลแล้วว่า ตนและทีมทนาย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะลูกความได้แสดงความประสงค์ขอถอนทนายแล้ว เมื่อลูกความมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรจะให้ทนายหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ทนายจึงต้องทำตาม เมื่อลูกความในฐานะตัวการ ไม่ให้ทำแล้ว ทนายในฐานะตัวแทนก็ไม่สามารถทำอะไรได้

เมื่อถามว่า พยานจำเลยที่มาเบิกความ ส่วนใหญ่ ตอบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายแล้วจะส่งผลกระทบต่อรูปคดีจำเลยหรือไม่ นายคำนวณ ทนายความ กล่าวว่า เมื่อพยานไม่เกี่ยวข้องจริงๆ ดังนั้นพยานจึงตอบตรงไปตรงมาตามที่พยานได้พบเห็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ เนื่องจากจำเลยไม่ได้จ่ายค่าว่าความ หลังจากที่ยื่นคำร้องขอถอนทนายแล้วใช่หรือไม่ นายคำนวณ กล่าวปฏิเสธว่าไม่ขอพูดเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าที่ทนายความทุกคนมากันในวันนี้ก็มาด้วยใจ

ขณะที่นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานรับผิดชอบคดีนี้ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าหากวันที่ 22 ส.ค. เสร็จสิ้นการไต่สวนพยานจำเลย แล้วศาลจะนัดวันฟังคำพิพากษาเลยหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานเพิ่มเติมไว้ 3 นัด วันที่ 26 , 29 ส.ค. และวันที่ 2 ก.ย.

ส่วนเรื่องที่จะยื่นคัดค้านหากจำเลยจะขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแทนการเดินทางมาเบิกความด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้อัยการไม่มีโอกาสซักถามพยานนั้น นายเศกสรรค์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะขณะนี้จำเลยยังไม่ได้ยื่นคำร้อง ต้องรอดูอีกครั้งวันที่ 22 ส.ค.

“สื่อเทศ”เกาะติดข่าว

สื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ สำนักข่าวเอเอฟพี, สำนักข่าวรอยเตอร์, สำนักข่าวบลูมเบิร์ก, ข่าวโทรทัศน์ไอทีเอ็นของอังกฤษ, เว็บไซต์ไทมส์ออนไลน์ ของหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์แห่งลอนดอน, หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์ แห่งออสเตรเลีย ต่างรายงานข่าวการชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ

บรรดาสื่อเทศเหล่านี้ รายงานถึงบรรยากาศของผู้ประท้วงจำนวนนับพันนับหมื่นคน “ในชุดสีเหลืองสดใส” ซึ่งจัดโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมกับพูดถึงข้อความในป้ายประท้วงที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อาทิ “ส่งตัวทักษิณกลับบ้าน”, “อาชญากรที่ต้องการตัวมากที่สุด: ทักษิณ และพจมาน”, “อังกฤษได้โปรดเถอะ อย่าให้โจรลี้ภัย”

เอเอฟพีรายงานว่า โฆษกสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษบอกกับทางสำนักข่าวว่า จะส่งจดหมายเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯต่อไปยังลอนดอน พร้อมกับกล่าวว่า “คำขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะมีการพิจารณาตัดสินโดยให้สอดคล้องกับกฎหมายอย่างเข้มงวด”

ขณะที่ข่าวโทรทัศน์ไอทีเอ็นกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยืนยันว่า มีการประท้วงโดยสงบที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ แต่ทางสถานทูตก็สามารถทำงานได้ตามปกติ

ไอทีเอ็นยังรายงานว่า โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษแถลงว่า นโยบายของทางกระทรวงที่ใช้กันมานานแล้วก็คือ จะไม่ยืนยันหรือปฏิเสธว่า มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเฉพาะเจาะจง ได้ถูกร้องขอให้ส่งตัวไปต่างประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แต่ทุกๆ กรณีจะได้รับการพิจารณาตามที่สมควรจะได้รับ โดยสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาในทางระหว่างประเทศของอังกฤษ ตลอดจนเป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆ ของกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอังกฤษ
กำลังโหลดความคิดเห็น