xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ ขู่ 5 ปีก๊าซหมด ลุ้นดึงเงินดีเซลเข้ากองทุนวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- กรมเชื้อเพลิงฯเผยปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในไทยที่พิสูจน์แล้วจะทยอยหมดลง 4-5 ปีข้างหน้าหรือมีสำรองใช้ไม่ถึง 10 ปีหากการใช้ยังอยู่อัตราปัจจุบัน เร่งหนุนเอกชนเร่งสำรวจและผลิตหวังพบเพิ่มเติมเพื่อรักษาอัตราการผลิตไว้คงที่ แนะต้องเร่งกระจายแหล่งพลังงานอื่นๆ เพื่อรักษาความมั่นคง ขณะที่กบง.วันนี้ลุ้นพลังงานดึงเงินดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯหรือไม่

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หากอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติของคนไทยเฉลี่ยอยู่ในระดับปัจจุบัน 3,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของไทยที่พิสูจน์แล้ว(Proved reserve) จะรองรับการใช้ไปได้อีกประมาณไม่เกิน 10 ปีโดยช่วงปีที่ 4-5 จะทยอยหมดลงอย่างชัดเจน ดังนั้น กรมฯจึงต้องเร่งให้ภาคเอกชนมีการเจาะหลุมสำรวจเพื่อผลิตก๊าซฯในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 500 หลุมหรือมีการลงทุนติดตั้งแท่นผลิต 20-25 แท่นเพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซฯให้คงที่ในระดับปัจจุบันประมาณ 2,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ หากพิจารณาจาก 3 P หรือปริมาณสำรองที่พิสูจน์ รวมกับสำรองที่คาดว่าจะเป็นไปได้ (Probable Reserve)และสำรองที่อาจจะเป็นไปได้ในการผลิต (Possible Reserve) จะมีก๊าซใช้ไปอีกประมาณ 30 ปีหรือปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 33 ล้านล้านลบ.ฟุตซึ่งรวมถึงแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมไทยมาเลเซียหรือ JDA ด้วย ซึ่งทิศทางดังกล่าวคงไทยคงต้องปรับตัวในการกระจายการใช้พลังงานให้มากขึ้นเพราะการสำรวจและผลิตก๊าซไม่ง่ายนักในเมืองไทยเพราะที่สุดแล้วก็ต้องนำเข้ามา” นายไกรฤทธิ์กล่าว

ปัจจุบันไทยมีการผลิตปิโตรเลียมเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณ 7.3 แสนบาร์เรลต่อวันและคาดว่าจะผลิตเพิ่มเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2554 โดยขณะนี้ไทยมีแหล่งปิโตรเลียม 81 แปลงผลิตแล้ว 20 แปลงยังคงเหลืออีก 61 แปลงที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจึงยังมีหวังว่าจะพบก๊าซฯเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง โดยขณะนี้เริ่มมีการสำรวจของภาคเอกชนที่ยื่นขอรับสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 19 ที่กรมฯเปิดให้สัมปทานเมื่อปี 2549 และเมื่อรวมกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 20 ที่ได้ให้สัมปทาน 21 แปลงในปี 2550 ที่จะมีเม็ดเงินสำรวจ 3 ปีข้างหน้าราว 4,000 ล้านบาทก็จะทำให้เห็นทิศทางของปริมาณสำรองก๊าซที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้แหล่งปิโตรเลียมของไทยส่วนใหญ่จะพบก๊าซธรรมชาติเป็นหลักแต่ล่าสุดการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบก็เริ่มมีมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาประสิทธิภาพที่สูงกว่าเดิม โดยขณะนี้ไทยพบน้ำมันดิบที่แหล่งบัวหลวง ในทะเลอ่าวไทย บริเวณจ.ชุมพร ซึ่งรับสัมปทานโดย บ.โซโก้ กำลังผลิต 5,000 บาร์เรลต่อวันคาดว่าจะผลิตได้ปลายปีนี้ ,แหล่งสงขลา และบัวบาน ซึ่งรับสัมปทานโดย บ.นิวคอสตอลฯ ในอ่าวไทยก็จะผลิตได้ในช่วงปลายปีเช่นกันคาดว่าจะเริ่มต้นที่ระดับ 5,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้แหล่งนาสนุ่น อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ บ.แพน โอเรียล เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่นผู้รับสัมปทานจากเแคนาดา ได้มีการเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบเป็น 7,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างการเจาะหลุมเพิ่มเติมบริเวณใกล้เคียง ขณะเดียวกันส่วนของการพัฒนาปิโตรเลียมของกรมพลังงานทหาร จ.เชียงใหม่ผลิตได้ 1,300 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามจากการหารือกับนักธรณีวิทยาพบว่าพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีโอกาสที่จะพบก๊าซมากขึ้นหลังจากมีการพบก๊าซที่ภูฮ่อม ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างจ.อุดรธานีและขอนแก่น

**นำเข้าแอลพีจีวุ่นจับตาประชุมกบง.วันนี้
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ (18 ส.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เป็นประธาน โดยจะมีการตัดสินใจเรื่องการเรียกเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมในช่วงราคาน้ำมันที่ลดลง เพื่อเตรียมรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในอนาคต เพราะคาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะยังคงผันผวนต่อไป ส่วนเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) นั้น จะมีการนำเข้าการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในปลายเดือนนี้

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากฯ กล่าวว่าผู้ค้าน้ำมันเตรียมปรับลดราคาขายปลีกในประเทศทุกประเภทในวันอังคารนี้ (19 ส.ค.) โดยขอรอดูเรื่องการปรับเงินกองทุนน้ำมันฯ ของ กบง.เสียก่อน ซึ่งเห็นว่าควรจะมีการเก็บเพิ่มในส่วนของกลุ่มดีเซล 20-30 สตางค์ ส่วนเรื่องก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับยานยนต์/อุตสาหกรรม นั้น เห็นว่าภาครัฐน่าจะตัดสินใจปรับเพิ่ม 15-20 บาท/กก. เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มียอดการใช้ใหม่ของรถยนต์เพิ่มขึ้น และช่วยแก้ปัญหายอดการนำเข้าแอลพีจีที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

รายงานข่าวจากวงการพลังงาน แจ้งว่า กำลังติดตามการใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)อย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วง 4-5 เดือนก่อนสิ้นปี โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยองมีแผนที่จะหยุดซ่อมประจำปี ซึ่งอาจทำให้การนำเข้าปีนี้จะสูงกว่า 6 แสนตันหรือสูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับแผนเดิมที่เคยคิดไว้ คิดเป็นมูลค่าที่ปตท.ต้องแบกรับภาระประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะที่บอร์ดปตท.มีเงื่อนไขที่จะแบกรับภาระ เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น และขณะนี้เองเงินที่ปตท.แบกรับภาระนำเข้าแอลพีจีไปก่อนหน้านี้ยังไม่มีการจ่ายคืน เพราะต้องรอเงินจากการขึ้นแอลพีจีในรถยนต์ แต่การขึ้นแอลพีจีในรถยนต์ต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่คาดว่าจะประชุมช่วงปลายเดือนส.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น