xs
xsm
sm
md
lg

คลังเคลม ธปท.ลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลการหารือร่วมระหว่าง 5 หน่วยงานเศรษฐกิจ ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวที่ระดับ 5.7% ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นการบริโภคและลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่หมอเลี้ยบสั่งสื่อสารการทำงานเศรษฐกิจมากขึ้น มั่นใจเป้าหมายทั้งปี 6% ฟุ้งหลังจากนี้คลัง สภาพัฒน์ ก.ล.ต. สำนักงบฯ ร่วมกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อกับแบงก์ชาติ พร้อมส่งสัญญาณดอกเบี้ยยังลดได้อีก

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม 5 หน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า สิ่งที่หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจเห็นตรงกันคือเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดย สศค.และ ธปท.คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ระดับ 5.0-5.7%

ทั้งนี้ สัญญาณที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวคือการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยในไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณบวกบ้างนั้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วแต่ก็ต้องจับตาดูจนถึงสิ้นปี ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ความเข้มงวดในการใช้นโยบายการเงินก็อาจต้องผ่อนคลายลง สะท้อนว่าดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้เช่นกัน

“แบงก์ชาติและ สศค.เห็นตรงกันว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 7% แต่ถ้าหากราคาน้ำมันปรับตัวลงในทิศทางนี้ก็คงมีการปรับประมาณเงินเฟ้อได้อีก” นายสมชัยกล่าวและว่า ข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทยถือว่าเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานทั้ง 5 นอกจากจะติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดแล้วจะต้องสื่อสารการทำนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมากกว่านี้

ทั้งนี้ ในอนาคตการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมที่เป็นหน้าที่ของ ธปท.จะให้หน่วยงานทั้ง 5 เป็นผู้ร่วมกำหนด โดยสามารถทำได้ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

“บรรยากาศการหารือในวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีการทะเลาะกันอย่างที่สื่อคาดการณ์ไว้ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกันนั้นเพื่อให้การดำเนินนโยบายทางด้านการเงินการคลังสอดคล้องกันและเป็นการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด โดยการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนั้นสามารถทำได้ทั้งการปรับขึ้นและปรับลงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม” นายสมชัย กล่าว

นโยบายการเงินกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมานั้น ธปท.มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะมีข้อมูลในการกำหนดทิศทางเงินเฟ้อในระยะยาว แต่ในอนาคตจะคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลักคือ 1.เศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไรโดยจะนำปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาพิจารณา 2.พิจารณาในเรื่องของพลวัตเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายคาดว่าจะลดลงและในระยะยาวจะไปในทิศทางใด

สำหรับทิศทางของเงินเฟ้อหลังจากที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในเดือนสิงหาคมในเดือนต่อไปจะปรับลดลงพอสมควรเพราะราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามสถานการณ์เดือนต่อเดือนอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินจะมีแนวโน้มที่ผ่อนคลายและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งจะสะท้อนถึงอัตราดกเบี้ยหากไม่อยู่ในระดับเดิมก็ต้องปรับลดลง แต่อย่างไรก็ตามธปท.ได้ให้ความเห็นว่าอยากให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพไม่แกว่งตัวมากนัก

นายสมชัย กล่าวว่า ในขณะที่ ก.ล.ต.ได้ให้ความเห็นว่าในเดือนกรกฎาคมตลาดหลักทรัพย์ปั่นป่วนตามแนวโน้มของภูมิภาคและมีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติมาก โดยตั้งแต่ตั้นเดือนที่ผ่านมาแรงเทขายต่างชาติลดลงถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการซื้อสุทธิแต่ก็ต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ด้านการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รายงานว่าตั้งแต่ต้นปีมีการเบิกจ่ายงบลงทุน 1 แสนล้านหรือประมาณ 34% และได้รับปากว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายได้เดือนละประมาณ 2 หมื่นล้านบาทโดยในสิ้นปียอดการเบิกจ่ายงบจะอยู่ที่ 75% ซึ่งงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจนี้จะมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ในส่วนของความคืบหน้า 6 มาตรการ 6 เดือน ที่รัฐบาลประกาศใช้นั้น สศช.ได้รายงานว่าไม่พบปัญหาและอุปสรรคมากนัก โดยมาตรการด้านไฟฟ้ามีผู้ได้รับประโยชน์ 11 ล้านราย รถเมล์ฟรี 800 คัน ได้ประโยชน์ 4.59 แสนคนต่อวัน รถไฟฟรี 124 ขบวนได้ประโยชน์ 1.4 แสนคนต่อวัน และจะขอปรับเพิ่มเพื่อให้ได้ประโยชน์ครอบคลุมมากขึ้น ส่วนที่มีปัญหาคือเรื่องน้ำประปาที่ต้องเลื่อนการลงทะเบียนการใช้น้ำฟรีออกไปอีก 1 เดือน

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานจะต้องปรึกษาหารือกันให้มากขึ้น ซึ่ง ธปท.ก็เห็นด้วยในแนวคิดนี้ พร้อมมั่นใจว่า หลังจากรัฐบาลนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมาประกาศใช้แล้วจะมีส่วนช่วยผลักดันให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 51 ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6% คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันลดลงส่งผลนักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น

ตีปี๊บงบ ปก.สุขภาพ 8 หมื่นล้าน

นพ.สุรพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า วานนี้ (14 ส.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้สรุปงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะใช้ในช่วงปีงบประมาณ 52-55 จำนวน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ชุมชนทั่วประเทศเพิ่มเติมราว 1 พันแห่ง การสร้างศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง สำหรับโรคหัวใจ 60 แห่ง โรคมะเร็ง 30 แห่ง และอุบัติเหตุอีก 60 แห่ง การพัฒนาศักยภาพและบุคลากรทางการแพทย์ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปจัดทำรายละเอียดแล้วนำกลับมาเสนออีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น