xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหมดหวังรัฐบาลชี้ไร้หางเสือ-หยุดลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเลี้ยบอ้างอาการเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นไอซียูจึงต้องใช้ยาแรงหลายขนาน วันนี้เข็นมาตรการรากหญ้าเข้า ครม. ขณะที่ "ศุภวุฒิ" ชี้กระตุ้นรากหญ้าได้แค่ระยะสั้น ควรเน้นให้เกิดการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนส่งออก เผยปรับเป้าหุ้นไทยจาก 1,000 เหลือ 900 จุด เหตุไม่มั่นใจการเมือง "ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศต่อไปได้อย่างไร" ประธานตลาดหุ้นเผยนักลงทุน wait & see การเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ "ดร.โกร่ง" แนะนักลงทุนถือเงินสด

วานนี้ (24 มี.ค.) ที่ รร.ดุสิตธานี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "โรดแมพฟื้นเศรษฐกิจชาติ" นพ.สุรพงษ์อ้างถึงความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องว่า เป็นเพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะนำมาตรการใดมาทดลองใช้ หรือทำแบบลองผิดลองถูก และต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อให้ได้ผลทันต่อเวลา เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยที่เพิ่งเข้าไอซียูใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องเบ็ดเสร็จชัดเจนแข่งกับเวลา เราไม่มีเวลาเหลือมากพอที่จะทดลองยาแล้ว

นพ.สุรพงษ์ระบุว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ต้องใช้มาตรการหลายส่วน และครอบคลุมทั่วประเทศ โดยรัฐบาลพยายามทยอยนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ ซึ่งในวันนี้ (25 มี.ค.) ตนจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

"การรักษาโรคไม่มีหมอคนไหนให้ยารักษาโรคขนานเดียวแล้วโรคจะหาย ถ้ายังอยู่ในไอซียูต้องใช้ยาหลายขนาน" นพ.สุรพงษ์เปรียบเทียบและว่า ช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีปัจจัยเสี่ยงทั้งที่เป็นเรื่องมาจากต่างประเทศและภายในประเทศ รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป

"เครื่องยนต์ 3 ตัวที่ไม่ทำงานมาจากปัญหาขาดความเชื่อมั่น ไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต คนมองภาพในอนาคตไม่ชัดเจน โจทย์ของรัฐบาลคือทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าบ้านเมืองเดินไปได้" นพ.สุรพงษ์โชว์วิสัยทัศน์

นพ.สุรพงษ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการว่า ได้รับข้อเสนอแนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจากทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว ตนจะพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่าการปรับขึ้นเงินเดือนจะไม่กดเงินเฟ้อ เพราะที่ผ่านมาเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากค่าแรงที่สูงขึ้น แต่เกิดจากราคาสินค้าสูงจากต้นทุนน้ำมันราคาแพง

"ศุภวุฒิ" ห่วงชะตากรรมรัฐบาล

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายวิจัย บล.ภัทร (PHATRA) ให้มุมมองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าของรัฐบาลว่า มาตรการดังกล่าวคงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวก็ควรจะเน้นที่การลงทุนเป็นหลัก รวมทั้งการขยายตลาดในประเทศ เนื่องจากการส่งออกจะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีเท่าเดิมแล้ว

เขามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดแม้จะแข็งค่าขึ้น ไม่ควรเอาเศรษฐกิจไทยไปขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาเหมือนกับสหรัฐ ค่าเงินบาทก็ไม่ควรผูกติดกับดอลลาร์ และในอนาคตหากเงินเฟ้อในประเทศลดลงก็จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงได้เอง
 
ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ทางอ้อม ถือว่าปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐสร้างปัญหาเงินเฟ้อไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามปัจจัยส่วนนี้ยังมีผลต่อไทยค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาการเมืองในประเทศ จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมถึงการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ทำให้มองไม่ออกว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร

"นักลงทุนในประเทศยังไม่ได้รับข่าวความไม่แน่นอนทางการเมืองเต็มที่นัก และยังคาดหวังในเชิงบวกโดยไม่เชื่อว่าจะมีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง แต่ บล.ภัทรก็มีการปรับเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้จาก 1,000 จุด ลงมาอยู่ที่ 900 จุด และประเมินกำไรสุทธิ บจ.ปีนี้โต 2.4% และปีหน้าอยู่ที่ 7%" นายศุภวุฒิกล่าวในการสัมมนา"โรดแมพฟื้นเศรษฐกิจชาติ"

นายศุภวุฒิ คาดว่า ที่ประชุม กนง.วันที่ 9 เม.ย.นี้ยังไม่น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐในขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ โดยมองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1.5% อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กนง.นัดถัดไปมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการลดดอกเบี้ยลงอีกรอบ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกว้างขึ้นอีก ดังนั้นดอกเบี้ยไทยปีนี้คาดว่าจะลดลงประมาณ 0.75%

ปธ.ตลท.ชี้นักลงทุน wait & see

ในงานเดียวกัน นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติส่วนหนึ่งโยกเงินจากตลาดหุ้นเข้าตลาดตราสารหนี้ และบางส่วนยังเฝ้าและดู (wait & see) เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนไม่สามารถบริหารได้ เชื่อว่าครึ่งปีหลังคลายความกังวล พอดีในช่วงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกผล

"เรื่องการเมืองเขาบริหารความเสี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางการลงทุนที่มีปัจจัยการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติ และไม่รู้จะส่งผลรูปแบบไหนจึงเกิดการโยกย้ายเงินจากตลาดหุ้นไปตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก" นายปกรณ์ กล่าว

ปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติจะพิจารณาเข้ามาลงทุนในประเทศใดก็คือว่าจะสามารถบริหารปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้หรือไม่ ในขณะที่ปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมองว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้เอง ดังนั้นในระยะนี้จึงพบว่ามีการโยกย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นไปตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

นายปกรณ์ กล่าวว่า นักลงทุนให้ความสนใจติดตามทั้งคดียุบพรรคการเมือง คดีหวยบนดิน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่มีอยู่สูงในขณะนี้ เชื่อว่าความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ และหากต่อจากนี้การเมืองยังดำเนินไปได้อย่างปกติ โดยที่รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ ก็เชื่อว่าจะเป็นจุดที่ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า ราคาหุ้นไทยก็ยังไม่แพง ตลาดหุ้นไทยจึงยังน่าสนใจในสายตาผู้ลงทุนโดยเฉพาะหากการเมืองมีความชัดเจนขึ้นช่วงครึ่งปีหลังน่าจะได้เห็นการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยชัดเจน ตอนนี้ บล.เอเชียพลัสจะยังไม่ปรับเป้าดัชนีปีนี้ที่มองว่า 1,000 จุด เพราะจะรอดูสถานการณ์การเมืองก่อน

นายก้องเกียรติ ยอมรับว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจทำให้ทุกอย่างชะลอตัวบ้าง เช่น ความมั่นใจต่างๆ แต่ความขัดแย้งในสภาหรือการชุมนุมต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ในส่วนของนักลงทุนยังมองว่าเศรษฐกิจภาพใหญ่ยังเดินหน้าไปได้ดี ซึ่งจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างประเทศนั้นพบว่า เขาไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องการให้ใบแดงหรือการนัดชุมนุนของกลุ่มต่างๆ แต่ให้ความสำคัญเรื่องนโยบายของรัฐบาลมากกว่าและทำอย่างไรจึงจะทำได้หรือเดินตามนโยบายที่บอกไว้

"โกร่ง"แนะนักลงทุนถือเงินสด

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา 1-2 ปี โดยจากนี้ไป จะต้องรอดูสถานการณ์โลก สหรัฐอเมริกา รวมถึงราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่จะบูมอย่างสุดขีด เช่น ข้าว น้ำตาล ยางพารา ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนนโยบายรัฐบาลปัจจุบันเหมือนกับการขี้ช้างไล่จับตั๊กแตน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตั้งกองทุนน้ำมันเพื่อมาชดเชย เพราะทุนสำรองมีสูง รัฐบาลต้องดูปัญหาให้เข้าใจ เลือกใช้นโยบาย และเครื่องมือที่เหมาะสม

นายวีรพงษ์ แนะนำนักลงทุนว่าตอนนี้ควรลดพอร์ตและถือเงินสดมากขึ้น หรืออาจจะโยกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล อย่าไปสู้กับอัตราเงินเฟ้อเพราะอัตราดอกเบี้ยแท้จริงอาจจะติดลบก็ได้ และเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันเราไม่สามารถทำอะไรได้ แนวทางที่ทำได้คือต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐที่ไหลเข้ามาในการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงบประมาณขาดดุล เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

"ภาครัฐจะต้องใช้นโยบายที่สวนทางกับวิกฤติในปี 2539 เพราะผลจากปี 2540 ทำให้สถานการณ์มันกลับตาละปัดไปหมด อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีราคาสูงขึ้น จึงใช้นโยบายทางการเงินป้องกันไม่ได้ ต้องใช้นโยบายทางการคลังแทน"
กำลังโหลดความคิดเห็น