xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ” สวมบทขุนคลังมืออาชีพ เปิดแถลง 108 มาตรการพลิกฟื้น ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง เปิดแถลงด่วนทันที หลังหารือบิ๊ก ขรก.เช้าวันนี้ ฟุ้งหลากหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมนัดหารือ ธปท.สัปดาห์หน้า สรุปมาตรการ 30% พร้อมเร่งยกร่างแผนฟาสต์ฟูดกู้ ศก.ภายใน 2 สัปดาห์ เล็งอัดฉีดงบเพิ่ม 5 หมื่นล.กลางปีนี้

วันนี้ (7 ก.พ.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวทันที ภายหลังการหารือกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวง โดยระบุว่า ภารกิจเร่งด่วนตอนนี้ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัว ซึ่งจะให้ความสำคัญมากกว่าการรักษาเสถียรภาพในระยะนี้ เตรียมนัดหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สัปดาห์หน้า

“ผมจะหยิบยกประเด็นมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น นำขึ้นมาพูดคุยกับผู้ว่าการ ธปท.ถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ต่อไป และจะพูดคุยกับผู้บริหารของกระทรวงการคลัง ยกร่างแผนเร่งด่วน 6 เดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ตอนนี้คงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวหรือไม่ หรือถ้ายกเลิกจะยกเลิกในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่าจะให้อิสระแก่ ธปท.ในการทำงาน

“ผมจะประชุมร่วมกับแบงก์ชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

**ทีมพี่เลี้ยงเพียบ ทนง-พันศักดิ์-ก้องเกียรติ ติดโผ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่รัฐบาลกำลังจัดทำนโนบายหลักในการบริหารประเทศ ก็จะหารือกับผู้บริหารของกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกำหนดกรอบการทำงาน ก่อนนำเสนอนโยบายต่อสภา ในวันที่ 20 ก.พ.นี้

พร้อมกันนั้น ยังจะขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจที่เคยได้พูดคุยกันไว้ ได้แก่ นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีคลัง, นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายวิจัย บล.ภัทร, นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจนี้ ตนเองจะขอเดินหน้าในการมุ่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยยืนยันว่า จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีภาษีหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN โดยขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

สำหรับประเด็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ตามสคริปต์ นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ตนเองจะพยายามผลักดันให้อัตราขยายตัวของจีดีพีเติบโตได้เกินกว่าระดับ 5.5% ตามที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ก็จะพิจารณาเรื่องการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แต่ยังคงไม่ให้เกิน 2.5% ของจีพีดี

“จีดีพี ก็อยากได้กรอบบน ของกระทรวงการคลัง ที่คาดไว้ที่ 5.5% อยากให้สูงกว่า 5.5% ถ้าทำได้ ได้ถึง 6% ก็ดี ก็ต้องดูมาตรการ ส่วนประเด็นการตั้งงบประมาณกลางปี ก็มีการพูดคุยว่า ก็จะต้องมีงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนหนึ่ง แต่ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพ โดยจะต้องไม่เกิน อัตรา 2.5% ของจีดีพี จากขณะนี้อยู่ที่ 1.7-1.8% ของจีดีพี”

**โชว์กึ๋นยอดขุนคลัง แผนฟาสต์ฟูด 2 สัปดาห์

สำหรับแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน หลังจากศึกษาสคริปต์ของผู้บริหารกระทรวงการคลังแล้ว นพ.สุรพงษ์ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้จำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างความสมดุลของ 4 เครื่องยนต์ ที่ปัจจุบันการส่งออกเป็นเพียงเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่อีก 3 เครื่องยนต์ ซึ่งได้แก่ การบริโภค, การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ในเรื่องของการบริโภคและการลงทุนจะต้องแก้ปัญหาด้วยการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน และนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวตามสคริปต์ว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวทางทีจะเพิ่งงบประมาณกลางปี 2551 อีกราว 6 หมื่นล้านบาท หรือขาดดุลงบประมาณดเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 2.5% ต่อจีดีพี ซึ่งจะนำมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มรากหญ้า ซึ่งอาจจะมีการลดภาษีเงินได้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะผลในการกระตุ้นด้านการบริโภคให้ขยายตัวขึ้นด้วย และจะสานต่อนโยบายประชานิยมที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ แล้ว

ขณะที่การลงทุนนั้น รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ รวมถึงการนำมาตรการทางการเงินและการคลังออกมาใช้ ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดกับ ธปท.อีกครั้ง โดยแนวทางการระดมทุนมาใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ นั้น การจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 หรือการออกพันธบัตรในประเทศ ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ

ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่เป็นทางเลือกหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานเท่านั้น

นพ.สุรพงษ์ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า การจูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ จะมีการทำโรดโชว์ครั้งใหญ่ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2551 เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นที่เชื่อว่ายังมีเม็ดเงินที่ร้อมเข้ามาลงทุนอีกมาก







กำลังโหลดความคิดเห็น