นายกฯ เผยจัดทำงบขาดดุลปี 52 ภายใต้ตัวเลข ศก.ที่ยังไม่อัปเดต โดยยังใช้คาดการณ์ GDP โตที่ระดับ 5.5% และภาวะเงินเฟ้อ 3.5% เป็นสมมติฐาน พร้อมแจงการจัดสรร 5 ลำดับแรก สายตรงเด็กแม้วได้เฮถ้วนหน้า “เลี้ยบ” เคลิ้มตัวเลขโหวตเสียงข้างมาก โวรัฐบาลแน่นปึ้ก มั่นใจอยู่ครบ 4 ปี
วันนี้ (27 มิ.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเสนอร่างพระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) ประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2552 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระแรกในวันนี้ โดยระบุว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2552 อยู่ภายใต้กรอบคาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 5.5% อัตราเงินเฟ้อ 3.5%
ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ต่อเนื่องจากปี 2551 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลได้ชัดเจนในปี 2552
รัฐบาลยังได้ระดมทุนจากแหล่งต่างๆ ทั้งเงินกู้ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมาย รวมทั้งการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในปีงบประมาณ 52 ที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องพึงระวังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจปี 2552 ที่สำคัญ คือ ราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบที่จะยังทรงตัวในระดับสูงและมีความผันผวนได้ง่าย ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้
นอกจากนั้น ในปี 2552 ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 2551 ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออกไทยได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการด้านรายจ่ายในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลได้มุ่งเน้นการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาและบริหารจัดการเพื่อให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้น ในการบริหารจัดการการใช้จ่ายภาครัฐจะยึดหลักของความมีประสิทธิภาพและสามารถนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายงบประมาณปี 2552 เอาไว้ 6 ข้อ คือ การดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลัง, ทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินปี 2551-2554 และแผนปฏิบัติราชการโดยเฉพาะผลผลิต/โครงการ กิจกรรมต่างๆ ที่ลำดับความสำคัญลดลงหรือหมดความจำเป็น
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ, กำหนดรายจ่ายลงทุนในจำนวนไม่ต่ำกว่าปีงบประมาณ 2551 สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างเต็มขีดความสามารถ และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นตามที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลกำหนดเป็นงบประมาณขาดดุล โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 1.835 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17.9% ของจีดีพี ประมาณการรายได้สุทธิ 1.585 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15.4% ของจีดีพี โดยกำหนดเป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.495 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของจีดีพี
สำหรับงบรายจ่ายประจำกำหนดไว้ที่ 1.336 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากปี 2551 โดยรายจ่ายประจำคิดเป็นสัดส่วน 72.8% ของวงเงินงบประมาณ ด้านรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังกำหนดไว้ที่ 2.754 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุนกำหนดไว้ที่ 4.073 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีงบ 2551 คิดเป็นสัดส่วน 22.2% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จัดสรรไว้ 6.367 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.9% จากปีงบ 2551 คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของวงเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ หากจัดลำดับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2552 สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ คิดเป็น 18% ของงบประมาณรายจ่าย รองลงมา คือ งบกลาง คิดเป็น 13.6%, กระทรวงการคลัง คิดเป็น 11%, กระทรวงมหาดไทย คิดเป็น 10.7% และกระทรวงกลาโหม คิดเป็น 9.2%
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณไว้ 8 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศ จำนวน 1.244 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต จำนวน 5.344 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล จำนวน 1.759 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3.265 หมื่นล้านบาท
ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโยลีและนวัตกรรม จำนวน 1.619 หมื่นล้านบาท, ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 8.977 พันล้านบาท, ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัฐ จำนวน 1.875 แสนล้านบาท, ยุทธศาตร์การบริหารจัดการที่ดี จำนวน 3.015 แสนล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 4.531 แสนล้านบาทเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น
ทั้งนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ 7 รัฐมนตรี วันนี้ว่า การอภิปรายตลอด 3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งทำงานอย่างต่อเนื่อง และจะอยู่ทำงานให้ครบ 4 ปี เพราะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีความมั่นใจ และมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป