xs
xsm
sm
md
lg

หุ่นเชิดดันงบ1.8ล้านล้านปชป.เย้ยแค่ฝันศก.โต5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27 มิ.ย.)ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 โดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อที่ประชุม ว่า ครม. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,835,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล โดยใช้จ่ายจากรายได้สุทธิที่จะจัดเก็บจำนวน 1,585,500 ล้านบาท เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 249,500 ล้านบาท โดยจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 1,336,465.9 ล้านบาท (ร้อยละ 72.8) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 27,540.2 ล้านบาท (ร้อยละ 1.5) รายจ่ายลงทุน 407,317.8 ล้านบาท (ร้อยละ 22.2) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 63,676.1 ล้านบาท (ร้อยละ 3.5)
รัฐบาลได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ต่อเนื่องจากปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุน ในภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการฟื้นฟู ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งผลที่ชัดเจนขึ้น ในปี 52 นอกจากนี้ รัฐบาลได้ระดมทุนจากแหล่งต่างๆ ทั้งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมาย รวมทั้งการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
ส่วนฐานะและนโยบายการคลังจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 1,657,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากปีก่อน ส่วนการบริหารจัดการรายจ่าย จะมุ่งเน้นการนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก เพื่อให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันและดำรงอยู่ได้ โดยปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 210,155.7 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยได้จัดงบเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 27,540.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้กำหนด 8 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศ จำนวน 124,470.3 ล้านบาท 2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต จำนวน 534,423.1 ล้านบาท 3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล จำนวน 175,999.3 ล้านบาท 4. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 32,655.9 ล้านบาท 5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำนวน 16,193.4 ล้านบาท 6. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 8,977.5 ล้านบาท 7. ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัฐ จำนวน 187,571.4 ล้านบาท และ8. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี จำนวน 301,585.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4 ของวงเงินงบประมาณ

อภิสิทธิ์ตอกรัฐวาดฝันศก.โต5.5%
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณที่รัฐบาลเสนอมายังไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 ที่มีการกำหนดว่า การจัดทำงบประมาณจะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องมีเอกสารประกอบอย่างละเอียด รวมถึงงบกลางที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถที่จะตั้งขึ้นมาลอยๆได้ จึงหวังว่าการจัดงบประมาณในครั้งต่อไปจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างที่รัฐบาลร่างงบประมาณจัดในส่วนนี้ อยู่บนสมมุติฐานเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจัดทำแบบขาดดุล แต่เมื่อร่างพ.ร.บ. ได้เสนอเข้าสภา หลายคนมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลต้องระวังถ้ากำหนดท่าทีขาดดุลงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีการประเมินผลเป็นระยะ และรัฐบาลมีแผนสำรอง เพื่อรองรับปัญหาเงินเฟ้อหรือไม่ ส่วนที่รัฐบาลประเมินการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.5 และเงินเฟ้อ 3.5 นั้น รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ เพราะตัวเลขสูงสุดของเงินเฟ้อในขณะนี้อยู่ที่ร้อย 6.2 และนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าจะดีดตัวขึ้นสูงร้อยละ 7 หรือมากขึ้นกว่านั้น ดังนั้น รัฐบาลกำหนดตัวเลขเงินเฟ้อโดยมีสมมุติฐานอยู่บนราคาน้ำมันในตลาดโลก ระดับใด มีเหตุผลและมาตรการอะไรมารองรับ
สำหรับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้นั้น ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณว่าจะไม่เป็นไปตามเป้า แต่ตนไม่อยากทำนายว่าไม่สามารถเก็บได้ เพราะในที่สุดรัฐบาลก็จะไปบีบเก็บภาษีกับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อให้จัดเก็บรายได้ตามเป้าทุกครั้ง ในช่วงภาวะเศรษฐกิจผันผวน ตนอยากให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า ได้ศึกษาตัวเลขมาอย่างดีแล้ว และมีมาตรการป้องกัน รองรับในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
รัฐบาลพูดถึงปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหาหลักทางเศรษฐกิจเอาไว้ค่อนข้างครบทั่ว แต่การเอาตัวเลขมาใส่ในยุทธศาสตร์ ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน เช่น แผนแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่รัฐบาลต้องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศ แต่มีการจัดสรรตัวเลขงบอยู่แค่ 242.6 ล้านบาท ประมาณ 4 บาทต่อหัว จะเป็นไปได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนงบการลงทุนที่มีการเพิ่มขึ้นจากปี 2551 เพียงร้อยละ 1.7 ถือว่าน้อยมาก หากคำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อ ถือว่ามูลค่าในการลงทุนเมื่อเทียบกับปีก่อนลดลง ดังนั้น ขอเตือนรับบาลให้ระวังว่า หากแนวโน้มเป็นอย่างนี้ต่อไป รายรับทั้งหมดที่มีจะเพียงพอเฉพาะรายจ่ายประจำกับการใช้หนี้เท่านั้น ซึ่งหมายถึงการลงทุนอะไรจะต้องขาดดุลงบประมาณ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลชี้แจงว่า โครงสร้างและการคาดการณ์ ไปข้างหน้าว่าการจัดงบลงทุนเพียง 1.7 เป็นภาวะชั่วคราว หรือมีแนวโน้มที่ดีในวันข้างหน้าได้อย่างไร อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเพิ่มงบในการแก้ปัญหา3จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน10,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี51 ที่จัดไว้เพียง7,500 ล้านบาทเท่านั้น

เลี้ยบอ้างไม่ง่ายเงินเฟ้อ6-7%
นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯและรมว.คลัง ได้ลุกขึ้นชี้แจงทันทีว่า วันนี้เรื่องเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3.5 เป็นตัวเลขกลาง ๆ ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งต่อไปจะมากน้อยแค่ไหน ต้องดูว่าในปี 52 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจะไม่เร่งตัวขึ้น ซึ่งโอกาสที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปถึงร้อยละ 6-7 ถือว่าไม่ง่ายนัก แต่โอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ ก็อาจเกิดจากปัญหาที่เคยเกิดเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว คือปัญหาเรื่องพลังงาน การเปลี่ยนแปลงราคาพืชผล และเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าการเก็งกำไรราคาน้ำมันน่าจะลดลง เนื่องจากคนปรับตัวบริโภคพลังงานลดลง และมีการปลูกพืชทดแทนมากขึ้น
น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจัดเก็บรายได้นั้น รัฐจะจัดเก็บภาษีอย่าง เป็นธรรม ไม่เร่งเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีอยู่แล้ว แต่จะต้องขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยจะพยายามใช้มาตรการจูงใจกระตุ้นให้ผู้ที่ไม่เคยเข้าระบบภาษีให้เข้ามาสู่ระบบมากขึ้น
สำหรับงบส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ต้องยอมรับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาการบริหารจัดการงบ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีเงินที่ค้างอยู่ไม่นำมาใช้จ่ายจำนวน 1.8 แสนล้านบาท และมีข่าวว่ามีปัญหาเรื่องการจัดซื้อไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เงินไปดูงานต่างประเทศ แต่ถ้ามีการถ่ายโอนกันอย่างชัดเจน เม็ดเงินในเรื่องนี้จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น รมว.คลัง กล่าว

ชท.-ฝ่ายค้านห่วงรัฐจัดเก็บงบไม่ตามเป้า
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย อภิปราย แสดงความเป็นห่วงที่มีการตั้งงบประมาณผูกพันเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท ทำให้ประเทศไทยมียอดงบประมาณผูกพันรวมแล้ว 4 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้ามีประมาณการรายรับในปี 2552 เพิ่มขึ้นถึง 9 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศยังมีปัญหาภาวะค่าครองชีพ จึงไม่แน่ใจว่าจะเก็บได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ และการประมาณการเงินเฟ้อเพียง3.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเข้าใจ หรือเขียนผิดพลาดหรือไม่ อยากแนะนำให้สนับสนุนงบประมาณด้านโครงการกีฬาที่สำคัญๆ เข้ามาในประเทศไทย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ของคนในประเทศอีกทางหนึ่ง สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เรื่องคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารงานและการโยกย้ายข้าราชการ
ต่อมานายกรณ์ จาติกวณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า โครงสร้างงบประมาณปี 2552 ถอดแบบจากงบประมาณปี 2551 คือเป็นโครงสร้างที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพิจารณาการตั้งงบขาดดุลกว่า 249,500 ล้านบาท แม้ รมว.คลัง ว่าจะบอกถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ถ้าพิจารณาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และยังทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามมาด้วย และหากพิจารณางบประมาณยังพบปัญหา รายรับที่ไม่พอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน
น่าห่วงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแทบจะเห็นอนาคตของประเทศได้ว่า การลงทุนต้อง ยอมรับสภาพการขาดดุลต่อเนื่องไปอีกหลายปี ฉะนั้น รัฐบาลต้องรีบหันมาพิจารณาหารายได้ให้ประเทศ และต้องสามารถตอบโจทย์ว่า จะหาเงินส่วนไหนมาลงทุนแทนเงินของรัฐบาล อาทิ เพิ่มการแข่งขัน เปิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่ม และไม่ส่งสัญญาณที่ทำให้ภาคเอกชนเกิดความไม่มั่นใจ อาทิ กรณีรัฐบาลจะซื้อคืนรถบีทีเอสจากเอกชน
นายกรณ์ อภิปรายต่อว่า รายได้หลักกว่า 80 เปอร์เซ็นของรายรับรัฐบาล มาจากการเก็บภาษี แต่จะเห็นว่าปัญหาของรัฐบาลคือ ฐานภาษีที่สามารถเก็บได้เพียง 15 เปอร์เซ็นของจีดีพีประเทศ ซึ่งถือว่าต่ำมาก ถ้าเทียบกับประเทศค้างเคียง ซึ่งตนอยากเสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณารายรับที่มาจากรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ ปตท. ถ้าปรับสัดส่วนการจ่ายเงินปันผลให้รัฐบาลของ ปตท. เพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็น เงินปันผลที่จะมาถึงรัฐบาลก็จะได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลจะได้ประโยชน์มาก
ขณะที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ดัชนีความก้าวหน้าของชีวิตคนทั้ง 76 จังหวัด ที่อ้างอิงกับรายงานพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่ทำการสำรวจประเทศไทยตลอดระยะเวลา 2 ปีจนปีสุดท้ายปี 2550 พบว่ารัฐบาลยังไม่ให้ความสนใจต่อการพัฒนาชีวิตมนุษย์มากนัก โดยพบว่าชีวิตของคนจะมีความก้าวหน้าวนเวียนอยู่ที่จังหวัดใหญ่ๆเช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าภาคอีสานที่ถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีความก้าวหน้าของคนภาคอีสานนี้ไม่มีความก้าวหน้าขึ้นเลย จึงอยากทวงถามเรื่องนี้ต่อรัฐบาลว่า ได้ให้ความสำคัญต่อชีวิต ความก้าวหน้าของคนในประเทศบ้างหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น