xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ” คุยจีดีพี 6% ไม่สนน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอเลี้ยบ” ใจดีสู้เสือเชื่อเศรษฐกิจไทยโตตามเป้า 6% ในปีนี้ แม้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรล ยอมรับขณะนี้ปัจจัยความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลสำคัญสุด บีโอไอชี้คนไทยยังไม่กล้าลงทุน ขณะที่ขาใหญ่ตลาดหุ้นคาดราคาน้ำมันจะทำให้ทางการต้องหั่นเป้าจีดีพี เผยแผนกู้เมกะโปรเจกต์เฟสแรก 3 หมื่นล้าน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี)ในปีนี้ว่า ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระดับ 6% แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ล่าสุดทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกิน 111 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยมองว่าในอนาคตคงเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นราคาน้ำมันในระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเห็นราคาปรับขึ้นไปถึง 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญหน้าอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญรัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงรายได้ในอนาคต

"ขณะนี้การลงทุนเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ดี และการใช้จ่ายภาคประชาชนเริ่มฟื้นตัว ซึ่งหากรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นเรื่องรายได้ในอนาคต ปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น จึงต้องเตรียมแผนรับมือล่วงหน้า เช่น การปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยรัฐบาลได้เห็นชอบแผนระยะสั้นของกระทรวงพลังงานไปแล้ว ส่วนระยะยาวต้องดำเนินการปรับโครงสร้างด้านการขนส่ง เปลี่ยนมาใช้การขนส่งระบบราง รวมทั้งปรับโครงสร้างการผลิต และกำหนดยุทธศาสตร์พืชผลทางการเกษตร

รมว.คลังกล่าวว่า จะมีการสรุปมาตรการ เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปลายเดือนนี้ ซึ่งจะสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบฐานราก โดยเฉพาะโครงการ SML 1.5 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย.เป็นต้นไป

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประกาศไปแล้วในส่วนของมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้รอประกาศลงราชกิจจานุกเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน มี.ค.ช่วงต้นเม.ย.นี้

บ่ายวันเดียวกัน นพ.สุรพงษ์กล่าวในงานเสวนาเศรษฐกิจไทยปี 51 ทิศทางแห่งการพัฒนาว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปจะเน้นการจุดประกายเรื่องความเชื่อมั่น รวมทั้งทำให้นักลงทุนกล้าตัดสินใจลงทุนและบริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจะประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจตลาดทุนในวันอังคารที่ 18 มี.ค.นี้ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาธุรกิจตลาดทุนได้อย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า การฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศนับเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อให้ผ่านพ้นจากภาวะสึนามิทางเศรษฐกิจไปให้ได้ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ใช่การทำงานโดยคณะรัฐมนตรีเพียงลำพังแค่ 36 คน เหมือนเมื่อครั้งที่เกิดสึนามิในช่วงปลายปี 47 ที่จะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ช่วยให้ผ่านพ้นไปด้วยดี รวมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อเศรษฐกิจไทยจาก wait and see attitude มาเป็นแบบ can do attitude เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศเกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ เนื่องจากการพัฒนาประเทศต้องอาศัยปัจจัยจากการส่งออกเป็นสำคัญ ทำให้ปัจจัยอื่นๆ ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่ทำงานเท่าที่ควร สาเหตุสำคัญมาจากการขาดความเชื่อมั่นทั้งในส่วนผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ขาดความเชื่อมั่นและเกิดความสับสน

"สิ่งต่อไปที่จะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าประเทศไทยต้อนรับเงินลงทุนต่างชาติมากน้อยเพียงใด ทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการพึ่งเศรษฐกิจในประเทศและประเทศใกล้เคียงกัน ต้องขับเคลื่อนให้ 3 เครื่องยนต์เดินต่อไปได้ ทั้งการลงทุน การบริโภค และการใช้จ่ายภาครัฐ จากปัจจุบันมีการส่งออกจขับเคลื่อนอยู่ตัวเดียว" นพ.สุรพงษ์กล่าว

นพ.สุรพงษ์ยังกล่าวถึงเบื้องหลังการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ซึ่ง ธปท.แถลงยกเลิกมาตรการในวันศุกร์ที่ 15 ก.พ. โดยยอมรับว่า กระทรวงการคลังได้ตกลงล่วงหน้ากับ ธปท.ว่าจะยกเลิกตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.แล้ว

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ภาคการส่งออกแฉว่ามีคนรู้ข้อมูลอินไซด์ล่วงหน้าว่าจะมีการยกเลิกมาตรการ 30% จึงมีคนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์จากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง นพ.สุรพงษ์อ้างว่า นอกจากตนแล้วมีผู้บริหาร ธปท.อีก 2 คนเท่านั้นที่ทราบเรื่องดังกล่าว.

"ก้องเกียรติ" เชื่อน้ำมันหั่นเป้าจีดีพี

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า จากการคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ในระดับ 4-5% ในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับลดลงเนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัญหาจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจจะถึงขั้นต้องติดลบ แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลที่ประกาศออกมาเพื่อกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติมจะเป็นเรื่องที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบรากหญ้าอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้นโอกาสที่จะเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายซื้อของก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากทำให้ประชาชนมีเงินมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น"นายก้องเกียรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแล้วการเร่งสร้างจุดแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการเร่งเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ เช่น การยกระดับการรักษาสุขภาพ การโปรโมทการท่องเที่ยว เป็นต้น

ส.อ.ท.ชี้จีดีพีโตสูงสุดแค่ 5.5 %

นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปีนี้ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมน่าจะขยายตัว 5.5-6.6% ภายใต้ข้อสมมติฐานจีดีพีเติบโต 4.5-5.5% โดยปัจจัยเสี่ยงภาคธุรกิจคงหนีไม่พ้นต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ น้ำมันทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เงินบาทแข็งค่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจากปัญหาซับไพร์ม และการแข่งขันจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าอย่างเวียดนามและจีน

สำหรับอุตสาหกรรมโดดเด่นในปีนี้ คือ การก่อสร้าง เหล็กและเหล็กกล้า ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ และพลังงานทดแทน ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน

คนไทยไม่มั่นใจลงทุน

นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความเชื่อมั่นและสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นหลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ผิดกับคนไทยที่ไม่ค่อยเชื่อมั่น โดยมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีที่แล้ว 5 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่คงต้องใช้เวลาในการทยอยการลงทุน 2-3ปี โดยปีทีแล้ว โครงการลงทุนขนาดใหญ่อาทิ ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าและเหล็กค่อนข้างล่าช้าไป เพราะติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องผ่านประชาพิจารณ์ จากชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไข โดยบีโอไอได้เข้ามาช่วยเหลือด้านภาษีให้กับภาคธุรกิจที่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์พบว่าค่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลกยื่นขอส่งเสริมหลังรัฐสนับสนุนโครงการอีโค-คาร์ ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์ก็ยังมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1ใน3ของการส่งออกทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้หวังพึ่งค่าแรงเหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ซึ่งขณะนี้บีโอไอต้องการชักชวนให้มีการลงทุนผลิตไอซี ดีไซน์และเวเฟอร์ ซึ่งเป็นหัวใจในอุตสาหกรรมนี้

อุตสาหกรรมสินค้าเกษตรพบว่าไทยเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก แต่มีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มจากยางพาราค่อนข้างน้อย จึงน่าจะเป็นโอกาสในการขยายตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมซอฟแวร์ที่บีโอไอพยายามผลักดันโดยใช้ภาษีจูงใจนักลงทุน เนื่องจากเห็นว่ามีโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศสูงมาก แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาเร่งดูแลจัดการด้านวัตถุดิบของพืชน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันพบว่าโรงงานเอทานอลบางแห่งต้องปิดตัวเพราะหาวัตถุดิบไม่ได้

กู้เมกะโปรเจกต์เฟสแรก 3 หมื่นล้าน

นายจักรกฤศฎ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักเงินกู้ตลาดเงินทุนต่างประเทศ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า ภาครัฐจะระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คต์ด้วยการออกพันธบัตรวงเงินไม่เกินปีละ 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ทั้งนี้การลงทุนจะแยกออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก เป็นการลงทุนในระบบราง วงเงิน 2.6 แสนล้านบาท จะเป็นการกู้ในประเทศ 3 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี ขณะที่วงเงินที่เหลือ เป็นการกู้เงินต่างประเทศ และเป็นการร่วมทุนของภาคเอกชน

ส่วนเฟสที่ 2 โครงการระบบรางวงแหวนรอบนอก วงเงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท จะเป็นการกู้ในประเทศ 35% หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการเฉลี่ยออกพันธบัตร 5 ปี ปีละ 5 หมื่นล้านบาท

"การออกพันธบัตรสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ ไม่ได้เป็นการระดมเงินครั้งเดียว 2 แสนล้านบาท แต่เป็นการทยอยออกและได้ชี้แจงว่าจะไม่กระทบ benchmark" นายจักรกฤศฎ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น