xs
xsm
sm
md
lg

ปมในใจ ‘นายหมัก หอกหัก’

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

คงไม่มีใครทราบว่าจริงๆ แล้ว ในช่วง 3-4 วันมานี้เบื้องลึกในจิตใจของ นายสมัคร สุนทรเวช กำลังคิดอะไรอยู่ ......

แม้ทั้งคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือ คุณเปลว สีเงินจะออกมาเปิดเผยแล้วว่า จริงๆ จากเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา การที่นายสมัครออกมาปะ-ฉะ-ดะ นักข่าวแบบยาวเหยียด หลังจากที่ตัวเองนั่งส้วมที่ตลาด อตก. กว่า 40 นาที รวมถึงการที่เมื่อวันอังคาร นายสมัครออกมา “เชียร์แขก” ให้กลุ่มพันธมิตร ด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ใส่เสื้อปลุกระดม “ลูกจีนมากู้ชาติ” นั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้นั้น แท้จริงแล้วเป็น “กลลวง” หาเรื่องเล็กมากลบเรื่องใหญ่ หาปลาซิวปลาสร้อยมาแทนปลาใหญ่ที่ตัวเองกำลังจะตกเบ็ด

ไม่ว่าจะเป็นกรณีแก๊งออฟโฟร์ ความแตกแยกในพรรคพลังประชาชนจน ‘กลุ่มอีสานกู้ชาติ’ ออกมาปูดเรื่อง เช็คสินบน 10 ล้านบาท เงินใต้โต๊ะโครงการรถเมล์จำนวน 6,000 ล้านบาท ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการมารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของนายวีรพงษ์ รามางกูร ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยไทยของกัมพูชา ฯลฯ

ดังนั้น การหาเรื่อง “ด่า” นักข่าวเรื่องตามทำข่าวถึงหน้าห้องน้ำ และ “ฉะ” พันธมิตรฯ เรื่องเสื้อลูกจีนรักชาติจึงเป็นหนทางเดียวที่นายสมัครจะสามารถเบี่ยงเบนประเด็นคำถามของนักข่าวจากประเด็นปัญหาของชาติได้

กระนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมกลับมองว่า คำพูดของนายสมัครตลอดระยะเวลาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้มิเพียงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นายสมัครบรรลุผลลัพธ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ในทางกลับกันยังแสดงให้เห็นถึง ธาตุแท้ ลักษณะนิสัย ประวัติชีวิต และเรื่องที่คาใจนายสมัครมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ดังเช่นที่ อ.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล นักภาษาศาสตร์ระดับอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เคยวิเคราะห์คำพูดของนายสมัครไว้หลายครั้งหลายครา อาทิ

ครั้งหนึ่ง อ.อนันต์ เคยชี้ให้เห็นถึง “วาจา” ของนายสมัครที่สะท้อนให้เห็นถึง “เงื่อนปม” ในจิตใจของนายสมัคร อย่างเช่น การที่นายสมัครมักจะกล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า “ผมเป็นนายกรัฐมนตรี”, “ผมทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี”, “รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีชื่อ สมัคร สุนทรเวช” คำพูดย้ำๆ ซ้ำๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ส่วนตัวนายสมัครมีเงื่อนปมในจิตใจคือ ทุกคนในสังคมต่างเห็นตรงกันว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด ต่างไม่เชื่อถือว่าเขาเป็นผู้นำของประเทศและไม่เชื่อว่าเขาเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ

ในชีวิตประจำวัน ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยเวลาพูดอะไรมักจะพูดซ้ำไปซ้ำมา วกวน 5 รอบ 10 รอบ จนบางทีคนฟังก็ยังงงว่าทำไมต้องพูดหลายรอบ เรื่องนี้เคยมีการวิเคราะห์เอาไว้ว่าสาเหตุที่ผู้สูงอายุมักจะพูดเรื่องวนเวียน ซ้ำไปซ้ำมา เช่นนี้นั้น อาจไม่ได้เป็นการพูดให้คนอื่นฟัง แต่เป็นการท่องให้ตัวเองจำ และ ทำให้ตัวเองเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองพูดนั้นเป็นเรื่องจริง

ไม่แน่ว่า การที่นายสมัครพูดซ้ำไปมาว่าตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อาจไม่ได้มีจุดมุ่งหวังให้คนอื่นเชื่อตามนั้น แต่พูดเพื่อปลอบประโลมจิตใจตัวเองต่างหาก!

นอกจากนี้ อ.อนันต์ยังชี้ให้เห็นตัวอย่างจากเหตุการณ์ในวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2551 ระหว่างการประกาศใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ผ่านสถานีโทรทัศน์ NBT ซึ่งนายสมัครกล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมจึงต้องลบ รอยแผลเป็นออก คุณมีสิทธิ์ แต่คุณต้องไปที่อื่น และขอย้ำว่าผมจะทำตามหน้าที่ของผม ที่ต้องพูดวันนี้เพราะวันนี้จะเอากันให้แตกหัก ...” [1]

การที่นายสมัครเปรียบเทียบการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เท่ากับ “รอยแผลเป็น” แสดงให้เห็นว่านายสมัครนั้นมองการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องที่หลู่เกียรติยศของตัวเอง ทั้งยังมองว่าการชุมนุมประท้วงของประชาชนเป็นสิ่งที่สร้างบาดแผลให้กับสังคม ทั้งๆ ที่ การชุมนุมประท้วงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แม้แต่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐฯ ที่มาถึงเมืองไทยเมื่อวานนี้ ยังมองการประท้วงระหว่างที่เขาเยือนประเทศเกาหลีใต้ว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมในระบอบประชาธิปไตย

ทว่า นายสมัคร และสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่อ้างนักอ้างหนาว่ามาจากระบอบประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตยสูงส่งกลับไม่เข้าใจในจุดนี้ นี่เองที่สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วนายสมัครไม่ใช่ “นักประชาธิปไตย” แต่เป็น “เผด็จการ” ตัวยง

หลักฐานความเป็นเผด็จการของนายสมัครได้รับการพิสูจน์มานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เขาถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปลุกระดมกลุ่มชนที่มีแนวคิดเอียงขวาและสื่ออย่างวิทยุยานเกราะให้ใช้กำลังกับนักศึกษา ซึ่งในส่วนนี้มีนักวิชาการรวบรวมหลักฐานเอาไว้อย่างละเอียดแล้ว [2]

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดกับคำพูดใส่ร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ของนายสมัคร ชิ้นล่าสุด เพราะด้วยพฤติกรรมในอดีต จนกระทั่งปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เขาเป็น “นักการเมืองหลงยุค” ตัวเอ้เลยทีเดียว...

ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับนายสมัครไว้ดังนี้คือ

6 ก.ย. 2519 - “สมัครเสนอว่าคอมมิวนิสต์ส่งกำลังติดอาวุธเข้ากรุงเทพฯ”
15 ก.ย. 2519 - “สมัครเสนอว่าคอมมิวนิสต์ส่งกำลังติดอาวุธเข้ากรุงเทพฯ สมัครพูดว่าจะมีเหตุนองเลือด”

ขณะที่ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อนายสมัครได้รับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ก็ยังพูดอีกว่า นักศึกษาที่ตายและถูกเผานั้นไม่ใช่คนไทยแต่เป็นคนเวียดนาม เพราะเข้าไปพบหมาย่างในธรรมศาสตร์หลังเหตุการณ์

เมื่อนำคำพูดในอดีตของนายสมัครมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาพูด ณ พ.ศ. นี้แล้ว จะเห็นได้ว่าแนวคิด คำโกหกและวิธีการอันต่ำช้าของคนๆ นี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่นิดเดียว

19 มิ.ย. 2551 - นายสมัครจับมือกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร่วมกันกุข่าวว่ามีการขนอาวุธเข้ามาสะสมในที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนการเคลื่อนพลบุกทำเนียบในวันที่ 20 มิ.ย.

และล่าสุด 5 ส.ค. 2551 นายสมัครกับคำพูดที่ว่า “ใส่เสื้อปลุกระดมลูกจีนมากู้ชาติ ผมกำลังให้สันติบาลเขาดำเนินการในเรื่องนี้ มันเกินเขตเกินขอบกันไปแล้ว ผมขอเตือนเอาไว้เท่านั้นเดี๋ยวจะว่าไม่รู้ กำลังนี้จะให้เขาจัดการเรื่องคนที่ดำเนินการ ...”

จากประโยคข้างต้น นายสมัครอาจคิดว่า การปลุกระดมโดยใช้คำพูดอย่าง จีนกู้ชาติ คอมมิวนิสต์ เวียดนาม ญวน หรือคำพูดอื่นๆ เพื่อปลุกกระแสการแบ่งแยกเชื้อชาติและชาติพันธุ์ของคนในสังคมไทยให้คนลุกขึ้นมาประณามฝ่ายตรงข้ามอาจจะใช้ได้ผล เหมือนกับครั้งปี 2519 และ ตำรวจสันติบาลจะสามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้เหมือนในยุคเผด็จการ

ทว่า ณ พ.ศ.นี้ คำพูดเรื่อง “ลูกจีนกู้ชาติ” ในพริบตาที่หลุดออกจากปากนายสมัครไป กลับกลายเป็น “หอกแหลม” ที่หันกลับมาทิ่มแทง “ฯพณฯ ท่าน หมัก หอกหัก” อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะ นอกจากตำรวจของระบอบทรราชในยุคนี้จะไม่มีปัญญาเอาผิดกับเสื้อยืด “ลูกจีนรักชาติ” แล้ว คำพูดดังกล่าวยังเป็นการบ่งชี้ให้สังคมเห็นถึง “ระดับสติปัญญา” ของนายสมัครอีกด้วย

อ้างอิงจาก :
[1] ผู้จัดการออนไลน์, “หมัก”ลุอำนาจ!ประกาศแตกหัก ส่ง ตร.-ทหารจัดการ“พันธมิตรฯ” วันนี้, 31 พ.ค. 2551.
[2] ประชาไท, ประวัติ สมัคร สุนทรเวช ฉบับบาดแผล : บทบาทในการช่วยให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 19 โดย ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ, 16 ก.พ. 2551.
กำลังโหลดความคิดเห็น