ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – คสศ./หอฯ 10 จังหวัดเหนือ เตรียมสัมมนาใหญ่รับยุทธศาสตร์ใหม่ ECF ดันเพิ่มเที่ยวบินเชื่อม/โปรโมตเส้นทาง เชียงใหม่ –แม่ฮ่องสอน ต่อโครงข่าย BIMSTEC พร้อมเร่งผลักดันการเชื่อมโยงคมนาคมให้สมบูรณ์ จี้ทบทวนเลิกเส้นทางการบินในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจใหม่
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการ คสศ. ครั้งที่ 2/2551 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ โรงแรมเกทเวย์ จังหวัดพะเยาว่า ที่ประชุมได้มีมติที่สำคัญในการพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ 4 ด้านหลักได้แก่ 1. การปรับยุทธศาสตร์ภาคเหนือเพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ Economic Corridor Forum ( ECF) 2. การผลักดันและแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง – โครงสร้างพื้นฐาน 3. การนำเสนอการทำตลาดเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์และมรดกโลก และ 4.) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเร่งสร้างฐานข้อมูลเชิงลึกเชื่อมโยงกันในเขตภาคเหนือ
การปรับยุทธศาสตร์ของภาคเหนือใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสร้างผลกระทบต่อเราอย่างรอบด้านในทุกมิติ ดังนั้น คสศ. จึงเห็นชอบที่จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ ร่วมกับ 10 จังหวัดภาคเหนือ สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือกำหนดแนวทางรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะใกล้ชิดกันมากขึ้นในหลายกรอบ ทั้งทางกายภาพ และทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ยุทธศาสตร์ใหม่ Economic Corridor Forum ซึ่งคาดว่าจะจัดในวันเดียวกับการประชุมไทย – ยูนนาน(หยุนหนัน) ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงราย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551
ทั้งนี้ มีประเด็นที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องแบ่งกลุ่มกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปนำเสนอการประชุม ไทย –ยูนนานในช่วงบ่ายทันที ได้แก่ ประเด็นด้านการขนส่งสินค้า ไทย – จีน, การค้าชายแดน, การท่องเที่ยว, การพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
ส่วนเรื่องการผลักดันและแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง – โครงสร้างพื้นฐานในภาคเหนือ ล่าสุดพบว่า กำลังมีปัญหาด้านการหยุดบินในเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญเช่น คุนหมิง – เชียงใหม่ และสิบสองปันนา คสศ. จะได้ร่วมกับกงสุลใหญ่ไทย ณ นครคุนหมิง ผลักดันให้มีการเปิดเส้นทางการบินในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เช่น คุนหมิง –เชียงใหม่ (อย่างน้อย 1 วัน) กรุงเทพฯ- สิบสองปันนา โดย คสศ. จะทำหนังสือประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สายการบิน กระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนั้นในเส้นทางคมนาคมทางบก คสศ. เห็นชอบที่จะผลักดันสนับสนุนการเปิดเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตก โดยจะให้เกิดเส้นทางเชื่อมโยงเชียงใหม่ – สะเมิง – วัดจันทร์ –แม่ฮ่องสอน – พม่า โดยการขุดอุโมงค์เชื่อมจะสามารถย่นระยะทางลงเหลือเพียง 140 กิโลเมตร(กม.) ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น และในอนาคตหากเส้นทางสำเร็จก็จะสามารถส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC ด้วย
สำหรับ โครงการนี้ ที่ประชุม คศส.ได้รับการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากนายธงชัย วงศ์เหรียญทอง ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ว่า แม้ผลการศึกษาจะระบุว่า โครงการนี้ให้ผลตอบแทนการลงทุนน้อยก็ตาม แต่จังหวัดก็จะผลักดันต่อไป เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถเชื่อมกับเมืองหลวงของพม่า (ปิ่นมะนา) ใกล้ที่สุดผ่านทางบ้านน้ำเพียงดิน – ตองยี-ปิ่นมะนา (พม่า) – จิตตะกอง (บังกลาเทศ) – อินเดีย ที่ล่าสุดได้มีโครงการพัฒนาโครงข่ายถนนความยาวกว่า 1,300 กม.จากชายแดนอินเดีย – บังกลาเทศ – พม่า (เมืองมอเระห์) กับเมืองทะมุ เข้าสู่เมืองสำคัญของพม่าหลายแห่ง
ประธาน คสศ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ให้มีการทำตลาดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจโดยนำเสนอจุดขาย ที่โดดเด่นทางวัฒนธรรมและมรดกโลก เช่น 5 เชียง เมืองประวัติศาสตร์ใน 10 จังหวัดภาคเหนือ เป็นต้น
นอกจากนั้น คสศ. ก็มีแผนที่จะจัดทัศนศึกษาดูงาน สำรวจตลาดสินค้า – บริการ แหล่งท่องเที่ยวประเทศในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ให้ครบทุกประเทศภายในปีบริหาร เพื่อให้คณะกรรมการ ตลอดจนภาคเอกชนของภาคเหนือได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจในทุกมิติ โดยจะจัดโครงการจัดทัศนศึกษาสำรวจเส้นทาง R3A –คุนหมิง ในช่วงปลายปี 2551
ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเชื่อมเครือข่ายระบบข้อมูลของหอการค้า 10 จังหวัด ล่าสุดก็จะได้มีโครงการร่วมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เชียงแสนและ SIPA จัดอบรมเจ้าหน้าที่หอการค้า 10 จังหวัด เพื่อให้มีพื้นฐานในการสร้างฐานข้อมูลบน Web-Database ที่เกี่ยวกับโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และการค้าชายแดน นอกจากนั้น คสศ. ก็จะมีแผนการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการส่งเสริมการลงทุนของ สปป.ลาว ในช่วงเดือนกันยายน 2551 ด้วย
นายพัฒนา กล่าวในตอนท้ายว่า คสศ. ยังมีกิจกรรมใหญ่อีกกิจกรรมหนึ่ง คือ การจัดงานแสดงสินค้า 4 ชาติ ประมาณต้นปี 52 ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณจัดที่จังหวัดลำปาง และที่ประชุมได้เห็นชอบในแนวทางให้มีการจัดงานแสดงสินค้า 4 ชาติ เวียนไปตามจังหวัดที่มีศักยภาพในภาคเหนือ โดยจะต้องไม่ให้มีการซ้ำซ้อนกัน และเห็นชอบในแนวทางการจัดงานแสดงสินค้า 4 ชาติ ในระดับนานาชาติที่เชียงใหม่ 1 ครั้งต่อปี และมีการจัดงานเสริมของแต่ละจังหวัดตามงบประมาณและศักยภาพ เช่นที่ลำปาง แม่สอด เชียงราย น่าน เป็นต้น