หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ - แนะเทคนิคการทำการตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับไฮเอนด์จีน หวัง SMEs ไทยมั่นใจในการนำสินค้าไปบุกตลาดจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิง คนจีนแห่จับจองพื้นที่ขายสินค้าไทยเพียบ ขณะที่นักธุรกิจไทยยังเงียบ พร้อมเตรียมสร้างศูนย์กระจายสินค้าไทยในมาเลเซีย ดักหัวถนนท้ายถนน R3E
หลังจากมีการดำเนินการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าไทยคุนหมิง ตั้งแต่ปี 2550 ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัท คุนหมิง ไทย คัลเจอร์ แอนด์ เทรด เซ็นเตอร์ ร่วมทุนกับบริษัท ยูนาน เท็กซ์ไทล์ จะมีการเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้โดยศูนย์กระจายสินค้าไทยคุนหมิงแห่งนี้มีเป้าหมายจะเป็นแหล่งกระจายสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้า SMEs ไทย
ดังนั้น การบริหารงานด้านการตลาดของศูนย์กระจายสินค้าไทยจึงเป็นงานที่ท้าทายผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่ง!
คนจีนแห่จองขายสินค้าไทย
ดร.ภูสิต เพ็ญศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการค้า-การลงทุนแผนใหม่ (ITDC) ในฐานะที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิง เปิดเผยว่า ในวิกฤตมักจะมีโอกาสสำคัญ การที่มณฑลเสฉวน และนครเฉิงตูได้ประสบปัญหาภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิงจะเป็นตัวเชื่อมการส่งต่อสินค้าเกษตรไทยที่สำคัญและสร้างมูลค่าให้คนไทยได้จำนวนมาก
อย่างไรก็ดีหลังจากเปิดตัวศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิงให้กับคนไทย กลับพบว่าคนไทยยังให้ความสนใจไม่มากนัก ทำให้ศูนย์กระจายสินค้าฯ ที่สร้างขึ้นมาในเฟสแรก 6 ชั้น ต้องมีการกระจายไปให้นักธุรกิจจีนมาจองพื้นที่ขายในชั้น 3-5 ไปก่อน ในพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร โดยจะมีการทำสัญญาเพียง 1 ปี เก็บพื้นที่ไว้ให้คนไทยในปีที่ 2
โดยชั้น 1-2 เป็นทำเลที่ดีที่สุด มีพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร ได้เปิดให้คนไทยเข้าจับจองซึ่งขณะนี้มีการจับจองพื้นที่เต็มแล้ว และมีการทำสัญญาเป็นระยะเวลานานถึง 10 ปี ส่วนชั้นที่ 6 นั้นจะเป็นชั้นที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนทุนเพื่อตกแต่งในบรรยากาศสะท้อนความเป็นไทยอย่างเต็มรูปแบบ
“การที่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนจีนเข้ามาขายของไทยก่อน เพื่อทำให้ SMEs ไทยมีความมั่นใจในการเจาะตลาดจีนมากขึ้น ตอนนี้นักธุรกิจไทยยังไม่ค่อยสนใจ แต่คนจีนมาติดต่อเยอะมาก เป็นเพราะว่าเขาเข้ามาดูพื้นที่ได้บ่อยครั้ง ขณะที่นักธุรกิจไทยยังอาจมองไม่เห็นภาพ”
เปิดเทคนิคเจาะตลาดไฮเอนด์จีน
สำหรับศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิงนี้ มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท แต่จะมีค่าการทำการตลาดมากถึง 300 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจไทยที่จะไปลงทุน
โดยสินค้าที่จะนำไปขายที่ศูนย์ฯ จะต้องเป็นสินค้าไทยที่เน้นไปเจาะตลาดไฮเอนด์ของจีนโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ในชั้น 6 ที่จะตกแต่งบรรยากาศแบบไทย จะมีการเปิดสปาไทยไว้ด้วย โดยกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณี ซึ่งทางสมาคมอัญมณี และเครื่องประดับ จะเป็นผู้บริหารงานโดยเน้นผู้บริโภคระดับไฮเอนด์ของจีนโดยเฉพาะ มีคอนเซ็ปต์ว่าสปาใบตอง ทุกอย่างเป็นใบตอง เป็นกล้วย ซึ่งที่จีน กล้วยไข่ของไทยเป็นกล้วยที่จัดเป็นสินค้าไฮเอนด์อยู่แล้ว เพราะมีราคาสูงมาก คือ 200 กว่าหยวนหรือ 1,000 กว่าบาทต่อหวี และมีชื่อว่า “กล้วยจักรพรรดิ์” นี่คือแนวคิดตัวอย่างในการทำสินค้าให้เป็นที่น่าสนใจของกลุ่มไฮเอนด์จีน
ทั้งนี้ในกลุ่มสินค้าที่จะเน้นขายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง,ผลไม้ และกลุ่มเกษตรแปรรูป เช่น จิ๊กโซ่ว,ซีอิ้ว,ซอสปรุงรส,อาหารแห้ง,ทุเรียนกวน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรนี้ตลาดไทได้เข้ามาจับจองพื้นที่แล้ว เพื่อนำสินค้าของเกษตรกรไทยไปขายที่ศูนย์ฯ
กลุ่มสินค้าเครื่องประดับ สมาคมอัญมณีและเครื่องประดับ จะนำสินค้าประเภทเครื่องเงินดีไซน์ไปเปิดตลาด ต่อมาเป็นกลุ่มสินค้าแฟชั่น จะเน้นที่การนำผ้าไทยไปเจาะตลาดจีน ก่อนสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จัก
“สินค้าอัญมณีอย่าไปกลัวถูกก๊อปปี้ เพราะเราจะทำการตลาดแบบกองโจร สินค้าถูกก๊อปปี้ตามความหมายทางการตลาดคือ สินค้าเราดัง สินค้าเราขายได้ ฉะนั้นเมื่อมีการก๊อปปี้มากเท่าไร เราก็จะสามารถอัพราคาสินค้าต้นฉบับให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่งได้ เพราะคนจีนที่เป็นคนรวยมีค่านิยมว่า ต้องซื้อของแท้ ที่เป็นต้นฉบับมาใช้เท่านั้น นี่จึงเป็นโอกาส”
ส่วนกลุ่มสินค้าเครื่องประดับมีสินค้าตกแต่งบ้าน มีโต๊ะ เก้าอี้ ตกแต่งแบบไทย การตลาดที่น่าทำสำหรับสินค้ากลุ่มนี้คือ การเข้าไปเจาะในศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญของจีน ได้แก่มณฑลกว่างโจว จะมีเมืองโคมไฟ lighting city,มี electric city,มี IT city,มี Hardware city, และหลังโอลิมปิก รัฐบาลจีนกำลังจะประกาศให้กว่างโจวเป็น sport city ด้วย ซึ่งเมื่อไปสำรวจตลาดพบว่าสินค้าไทยในจุดค้าส่งใหญ่ๆ เหล่านี้ไม่มีสินค้าไทย อย่างเมืองโคมไฟ ปัจจุบันมีแต่สินค้าที่เป็นแบบยุโรป แต่ยังไม่มีสินค้าไทย ตรงนี้มองว่าเป็นโอกาสของสินค้าไทยกลุ่มนี้มาก เพราะคนไทยมีฝีมือด้านการดีไซน์
ใช้ CCTV สร้างคุณค่าสินค้าไทย
นอกจากนี้จีนยังถือเป็นตลาดเวอร์จิ้นสำหรับสินค้าไทย ดังนั้นการทำการตลาดในจีน จำเป็นจะต้องทำการตลาดแบบให้ความรู้ หรือ Educational เพราะคนจีนยังไม่รู้จักสินค้าไทยมากนัก โดยเริ่มแรกทางรัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อขอเวลาประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านช่อง CCTV ของจีน โดยได้ช่วงเวลา 30 นาทีต่อวัน
โดยสินค้าดาวเด่นที่ทางศูนย์ฯ จะเริ่มทำการโปรโมทคือ ข้าว,อัญมณี,สินค้าแปรรูปและสินค้าแฟชั่น โดยข้าวหอมมะลิ จะมีการสาธิต ถ่ายภาพให้ดูตั้งแต่การปลูก หว่านไถ การสีข้าว ความหอมอร่อยของข้าว การรับประทานต้องใส่จานดิ้นทอง ส่วนข้าว 5% กินใส่จานธรรมดาก็ได้
เพชร ก็ให้ดูว่าต้องเจียระไนอย่างไร เพชรแบบไหนหายาก บุษราคัมใส่ไปงานอะไร ไพลินใส่ไปงานอะไร มีความหมายอย่างไร หรืออย่างสินค้าแฟชั่น เครื่องตกแต่งต่างๆ ก็จะให้ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรไปแสดงสินค้าด้วย แฟชั่นก็จะเน้นผ้าไทยเข้าไปก่อน แล้วแบรนด์ไทยตามมาทีหลัง ซึ่งการทำการตลาดแบบนี้เรียกว่าการทำการตลาดแบบมียุทธศาสตร์ เพราะจีนเป็นประเทศที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทุกระดับ เมื่อเข้าไปทำการตลาดในประเทศจีน จึงต้องมียุทธศาสตร์นำทางไปก่อนจึงจะประสบความสำเร็จได้ง่าย
ดร.ภูษิต กล่าวย้ำว่า นอกจากศูนย์กระจายสินค้าไทยนครคุนหมิง ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากการกระจายสินค้าสู่เมืองชั้นในของจีนได้มากขึ้น และมีความสะดวกมากหลังเส้นทาง R3E คุนมั่นกงลู่ เชื่อมคุนหมิง-กรุงเทพฯ เปิดใช้ ทาง ITDC ยังได้รับการติดต่อจากมาเลเซียเพื่อเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทยในมาเลเซียด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด ซึ่งหากมีการตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในมาเลเซีย ก็จะถือเป็นการตั้งศูนย์กระจายสินค้าดักทั้งต้นถนน และปลายถนน R3E ในอนาคตผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ประกอบการไทยในมูลค่ามหาศาล รวมทั้งการใช้เส้นทาง R3E จะเป็นตัวเชื่อมส่งสินค้าฮาลาลจากภาคใต้ของไทยไปยังซินเกียง ซึ่งเป็นมณฑลที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากของจีนได้ด้วย