ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เลียบทางด่วน “คุนหมิง-กรุงเทพฯ หรือคุน – มั่ง กงลู่” ล่าสุดใกล้สมบูรณ์ 100% จีนเดินหน้าก่อสร้างให้เสร็จภายใน 8 ส.ค.2008 หรือไม่เกินปีนี้เปิดใช้ได้ตลอดเส้นทาง ร่นระยะการเดินทางจากร่วม 30 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น หลังทุ่มงบเจาะอุโมงค์ลอดภูเขาร่วม 50 แห่ง – สร้างสะพานข้ามหุบเหว / แม่น้ำ และผืนป่า จนทำให้มีความลาดชันเพียง 6%ตลอดเส้นทางได้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ภาคเหนือเขต 2 นำโดยนางอัจฉริกา มณีสิน ผอ.ททท.ภาคเหนือเขต 2 นางจิรารัตน์ มีงาม ผู้ช่วย ผอ.ททท.นางสาวสรียา บุญมาก เจ้าหน้าที่ ททท.ภาคเหนือเขต 2 พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย นายบุญทวี เปเรร่า อุปนายกฯฝ่ายการตลาด,รถเช่าและธุรกิจทัวร์ นางอุไร ลีลายุวัฒน์ อุปนายกฯฝ่ายภัตตาคารและร้านอาหาร นายคณิต ขันมอญ อุปนายกฯฝ่ายการท่องเที่ยวชายแดนและประเทศเพื่อนบ้านของสมาคมฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าสำรวจการท่องเที่ยวผ่านเส้นทาง R3a จากเชียงราย – หลวงน้ำทา – สิบสองปันนา – คุนหมิง และร่วมงาน Thailand Festival in Kunming 2008 ณ นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ 19-24 เมษายน 51
ทั้งนี้ เริ่มต้นเดินทางออกจากประเทศไทย ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)เชียงของ จ.เชียงราย เข้าสู่ถนน R3a ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )มุ่งหน้าสู่ชายแดนลาว – จีน ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ซึ่งปรากฏว่า ตลอดเส้นทาง R3a ระยะทางประมาณ 240 กว่ากิโลเมตร การก่อสร้างถนนได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทำให้คณะสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ตู้ ที่มีให้บริการที่เมืองห้วยทราย มากกว่า 7 บริษัท ค่าบริการคันละ 7-8 พันบาท ( 2 ขา) ออกจากเมืองห้วยทรายเวลาประมาณ 08.45 น.ถึงชายแดนบ่อเต็นภายในเวลาประมาณ 12.45 น. หรือใช้เวลาเดินทางเพียง 4 ชั่วโมงเศษ ๆ เท่านั้น
เมื่อข้ามแดนเข้าสู่ จีน ที่โม่หาน หรือบ่อหาน เมืองลา เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง พร้อมกับแลกเงินบาทเป็นเงินหยวน จากพ่อค้าเร่ ซึ่ง ณ วันที่ 19 เมษายน 2551 แลกเปลี่ยนกันที่ 4.60 บาท/ 1 หยวน (อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดแม่สาย จ.เชียงราย วันเดียวกันอยู่ที่ 4.58 บาท/ 1 หยวน) คณะ ททท.-สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ได้เดินทางเข้าสู่เมืองเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 240 กม.ผ่านทางด่วนที่เป็นส่วนหนึ่งของถนน “คุน-มั่ง กงลู่” หรือถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ โดยถนนช่วงนี้จีน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงประมาณ 80 กม.เท่านั้น ที่แม้จะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง-ทำความสะอาด แต่คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2551 จะสามารถเปิดใช้ได้ตลอดเส้นทาง
การเดินทางช่วงนี้คณะ ททท.-สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ได้ใช้บริการรถบัสขนาด 21 ที่นั่งของบริษัทนำเที่ยวในสิบสองปันนา ซึ่งสามารถเดินทางถึงจิ่งหง ได้ภายในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6-10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ โดยสภาพทางด่วนช่วงนี้ ที่พัฒนาแล้วเสร็จ และเปิดให้ใช้แล้ว เป็นถนนขนาด 2 และ 4 เลน มีรั้วกั้นไม่ให้สัตว์เลี้ยง – คน เข้ามาใช้งาน ป้องกันอุบัติเหตุตลอดเส้นทาง พร้อมกับมีด่านเก็บค่าผ่านทางในแต่ละเมือง พร้อมกับห้ามรถต่ำกว่า 4 ล้อเข้ามาวิ่งภายในทางด่วนนี้ตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้ยังพบว่า ทางการจีน เริ่มนำป้ายจราจร 3 ภาษา คือ ภาษาจีน – อังกฤษ และภาษาไทย เข้ามาติดตั้งตลอดเส้นทาง โดยในระหว่างที่คณะ ททท.-สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย เดินทางผ่าน พบว่ามีป้ายจราจรที่มีภาษาไทยประกอบติดตั้งแล้ว 2 จุด คือบริเวณถนนที่ออกจากโม่หาน ก่อนเข้าตัวเมืองลา หรือเมิ่งลา เป็นป้ายที่มีอักษรภาษาไทย ว่า “กรุณาอย่างทิ้งขยะ” ติดตั้งแล้ว 1 จุด และก่อนถึงทางแยกเข้าจิ่งหง ก็มีป้ายภาษาไทยบอกเส้นทาง “เชียงรุ่ง ผู่เออ” ติดบริเวณทางแยกอีก 1 จุด
ส่วนทางด่วนจากจิ่งหง – นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน จีน ระยะทางประมาณ 620 กม. ตามแบบแปลนการก่อสร้างของ จีน จะดำเนินการเป็นถนน 4 เลนตลอดทั้งสาย ล่าสุดในช่วงที่คณะ ททท.ภาคเหนือเขต 2 เดินทางผ่านนั้น ทางด่วนส่วนใหญ่ มีรั้วกั้นตลอด 2 ข้างทางเช่นกัน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เหลือเพียงประมาณ 70 กว่า กม.ในช่วงเมืองผูเอ่อ – มู่เขอ เท่านั้นที่กำลังอยู่ระหว่างการเร่งมือก่อสร้าง ภายใต้เป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2008 หรือ 2551 นี้ ซึ่งหากการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การเดินทางจากเมืองเชียงรุ่ง – นครคุนหมิง ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง
ล่าสุดทางรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลหยุนหนัน จีน ก็เพิ่งจะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยราชการต่าง ๆ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 ที่ผ่านมานี้เองว่า ทางด่วนคุน – มั่ง กงลู่ ช่วงตั้งแต่เชียงรุ่ง – ผูเอ่อ หรือชื่อเดิมคือ “ซือเหมา” ได้เปิดให้ใช้งานได้แล้ว
ทั้งนี้ตลอดเส้นทางเมิ่งลา – นครคุนหมิง กล่าวได้ว่า เป็นทางด่วนที่นอกจากจะมีรั้วกั้นทั้ง 2 ข้างทางตลอดแนวเส้นทาง เพื่อไม่ให้รถจากทางแยกต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน นอกจากรถยนต์จากทางแยกหลักของแต่ละเมือง ที่ต้องผ่านด่านเก็บเงินเข้ามาแล้ว ยังมีการก่อสร้างอุโมงค์ผ่านภูเขา ทั้งสิ้นประมาณ 44 จุด ความยาวตั้งแต่ 100 เมตร จนถึง 3-4,000 เมตร บางช่วงก็มีการก่อสร้างสะพานข้ามหุบเหว – แม่น้ำ โดยบางจุดเป็นสะพานที่มีความสูงร่วม ๆ 3,000 เมตร ที่จีนถือว่า เป็นสะพานที่สูงที่สุดในโลก เชื่อมต่อเข้ากับอุโมงค์ลอดภูเขา รวมถึงสร้างสะพานข้ามผืนป่าอนุรักษ์ยาวมากกว่า 16 กม. เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ในเขตป่า ทำให้เป็นทางด่วนที่มีความชันตลอดเส้นทางไม่เกิน 6%
กล่าวได้ว่า ทางด่วนสายนี้ เป็นเส้นทางที่ จีน เดินหน้าก่อสร้างสนองนโยบาย “มุ่งสู่ตะวันตก – เปิดทางออกสู่ทะเลให้แก่ 5 มณฑลตอนใต้ของ จีน” อย่างแท้จริง
ขณะที่เส้นทางเดิม เป็นเพียงถนนกว้างประมาณ 4-5 เมตร ไม่มีไหล่ทาง ทำให้รถยนต์สวนไป-มาได้ค่อนข้างลำบาก ทั้งยังเป็นเส้นทางที่ต้องลัดเลาะผ่านไปตามหุบเขา บางช่วงมีความสูงชัน และผ่านย่านชุมชนตลอดเส้นทาง
Yuan Song Qing ผู้ช่วยการท่องเที่ยวเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีน กล่าวว่า เบื้องต้นทางการจีนกำหนดไว้ว่า ภายใน วันที่ 8 สิงหาคม 2008 เส้นทางสายนี้จะต้องเปิดให้ใช้ได้ตลอดเส้นทาง เพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างจีน – อาเซียน ผ่านทั้ง R3a – R3b เข้าสู่ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์ เชื่อมจีนกับอาเซียน อันจะทำให้เขตปกครองตนเองเป็นหน้าด่านสำคัญทั้งสำหรับคน-สินค้าจีน ที่จะออกไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และจากอาเซียนเข้าสู่ จีน ซึ่งจีนให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียน 10 + 1 เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาสำหรับการเปิดใช้เส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ ขณะนี้มีเพียง “สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4” ซึ่งจะใช้เชื่อมเส้นทาง R3a กับโครงข่ายถนนในประเทศไทย โดยผู้ช่วย ททท.เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา บอกว่า ที่จริงแล้วหากเป็นไปตามแผนที่กำหนดร่วมกันจะต้องแล้วเสร็จในปีนี้
แต่ปรากฏว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างสะพานฯดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2551 ก่อนที่จะตอกเสาเข็มได้ราวเดือน กรกฎาคม 2552 มูลค่าก่อสร้าง 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง ไทย-จีน จะออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละ 50% กำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 เป็นอย่างต่ำ
ตามแบบแปลนการก่อสร้าง ตัวสะพานกว้าง 14.70 เมตร ยาว 640 เมตร และ มีการกันพื้นที่หลังด่าน (Control Border Office) ตั้งแต่สะพานฝั่งไทย จากถนนสาย 1020 ไป กม.ที่ 3 เพื่อให้เป็นพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ศุลกากร ตม.ตรวจพืช ฯลฯ มากว่า 500 ไร่
นายสุรพันธุ์ บุญยมานพ กงสุลใหญ่ประจำนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน จีนกล่าว เพิ่มเติมว่า เส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ไม่เกินปีนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก ทั้งในแง่การค้า – การลงทุน และการท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะทำให้จีนตอนใต้มีท่อสินค้าทะลักออกสู่ทะเลได้โดยตรง ขณะที่ไทยเองก็มีเส้นทางขนส่งที่สะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ ระหว่าง 23-27 เมษายน 2551 กงสุลฯ ได้จัดงาน Thailand Festival in Kunming 2008 ขึ้นที่คุนหมิง ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการไทยนำสินค้าเข้ามาวางโชว์-จำหน่าย เพื่อทดสอบตลาด รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของไทย มากกว่า 10 สถาบัน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เชียงราย สวนสุนันทา มหาวิทยาลัยรังสิต บูรพา ทักษิณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ เข้ามาเปิดบูท รวมประมาณ 80 บูท ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากคนจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งทางกงสุลฯ ก็จะพยายามจัดในปีต่อ ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดช่องทางให้สินค้าไทยทำตลาดในจีนได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่นายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวว่า หลังจากที่ได้เดินทางจากเชียงราย – คุนหมิงโดยทางรถยนต์ ผ่านถนน R3a แล้ว ยอมรับว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้อย่างมหาศาล ซึ่งเท่าที่ดูความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมขณะนี้ มีแต่ฝ่ายจีนเท่านั้น ที่มุ่งมั่นใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคม แต่กรณีของประเทศไทย กลับยังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก ทั้งที่ควรจะเร่งหาทางนำสินค้าไทยทวนน้ำขึ้นมาตีตลาด จีน เช่นเดียวกับที่จีนดำเนินการอยู่ในขณะนี้โดยเร็วที่สุด
สำหรับ ความคืบหน้าของถนนคุน-มั่ง กงลู่ ที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกขณะ ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับผู้ประกอบการ – เกษตรกรไทย ที่จะต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมา
ก่อนที่จะถูกกระแสทุน-สินค้า จาก จีน ตีตกขบวน เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกหอม กระเทียม ฯลฯ ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ต้องผจญพิษ FTA ไทย-จีน อยู่ในขณะนี้ มิพักต้องพูดถึงข้อตกลงทางการค้าจีน-อาเซียน ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มที่ในปี 2553 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเชื่อกันว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบในทำนองเดียวกันอีกหลายเท่าตัว