xs
xsm
sm
md
lg

ทุนลอจิสติกส์ 4 ชาติลงนามร่วมมือพรุ่งนี้(4 มี.ค.)ปั้นข่ายขนส่งน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ทุนลอจิสติกส์ 4 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนบน เตรียมลงนามความร่วมมือพรุ่งนี้ (4 มี.ค.) หลังตั้งวงถกอนาคตโครงข่ายขนส่งคมนาคมไทย พม่า ลาว จีน ร่วมกันในวันนี้ (3 มี.ค.) กลุ่มทุนขนส่งยักษ์ จากจีน ย้ำนโยบายพี่เบิ้มมังกรมุ่งใช้ถนน R3a-R3b-แม่น้ำโขง ส่งสินค้าผ่านไทยสู่ตลาดโลก ด้านการท่าฯย้ำไทยพร้อมเต็มที่ เตรียมปลุกปั้นท่าเรือเชียงแสน 2- ท่าเรือสตูลรับสินค้าจีนออกอันดามัน

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า ในการสัมมนาเรื่อง “ความร่วมมือด้านลอจิสติกส์ และการค้าในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ที่หอการค้าจังหวัดเชียงราย ,คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ 10 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกันจัดขึ้น ณ ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย วันนี้ (3 มี.ค.51) โดยมี ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา ผอ.กรมส่งเสริมการบริการและโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และ ผู้แทน 4 ประเทศ ไทย-พม่า-ลาว-จีน เข้าร่วม

ฝ่ายจีนมีนายเฉา นายกสมาคมยูนนานโมเดิร์นลอจิสติกส์ มณฑลหยุนหนัน(ยูนนาน )สาธารณรัฐประชาชนจีน,ท้าวคำสอน รองผู้ว่าแขวงหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ผู้แทนหอการค้า ประเทศสหภาพพม่า เข้าร่วมด้วย รวมถึงนายพิเชษฐ์ มั่นคง รองผู้ว่าการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฝ่ายบริหารธุรกิจ ) โดยมีนายปรีชา กมลบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวสุนทรพจน์ ท่ามกลางนักธุรกิจชั้นนำ 4 ประเทศราว 100 คน

การสัมมนาครั้งนี้เน้นหารือซักถามพูดคุยกันในเรื่อง เส้นทาง R3a จากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว มาเชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพ อ.เชียงของ จ.เชียงราย –แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่สะพานจะเสร็จราวปี 2554 และ เส้นทาง R3b จากจีนตอนใต้ ผ่าน สหภาพพม่า เชื่อม อ.แม่สาย จ.เชียงราย และเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง ซึ่งนักธุรกิจของแต่ละประเทศสนใจกันมาก

นายพิเชษฐ์ มั่นคง รองผู้ว่าการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฝ่ายบริหารธุรกิจ) ชี้ว่า เนื่องจากไทยอยู่ทางใต้ของจีน ที่เป็นมหาอำนาจของเอเชีย ซึ่งเชื่อว่าจีนจะหาทางส่งสินค้าออกมหาสมุทรผ่านบริเวณนี้ แน่นอนว่าหากผ่านไทยได้ก็จะเกิดธุรกิจการขนส่งและลอจิสติกส์มหาศาล โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีท่าเรือกรุงเทพฯ ที่สร้างมานานหลายสิบปี และมีท่าเรือแหลมฉบัง ที่สามารถรองรับเรือเดินสมุทรทุกขนาดได้ แต่ที่ผ่านมามีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านไทยราว 4 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเมืองท่าอื่นๆ ถือว่าน้อย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกงมีคอนเทนเนอร์ผ่านปีละ 24 ล้านตู้ต่อปี ซึ่งส่วนมาก 90% เป็นสินค้าผ่านแดน สาเหตุเพราะท่าเรือไทยไม่ได้เป็นทางผ่านของเส้นทางเดินเรือหลัก จึงควรเร่งส่งเสริมด้านการพัฒนาระเบียบ วินัย บุคคลากร,การบริหารจัดการ ธรรมาภิบาล หมายถึงการที่ภาครัฐส่งเสริมภาคเอกชนเต็มที่และเอกชนไม่เอาเปรียบรัฐ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งสินค้าจากจีนผ่านไทย ทางฝ่ายไทยเตรียมสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่ออกแบบโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี มูลค่ากว่าพันล้านบาท ที่ริมฝั่งโขง บ้านสบกก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย คาดว่าจะก่อสร้างและแล้วเสร็จราวปี 2554-55 ล่าสุดมีงบประมาณแล้วและน่าจะเกิดแน่นอน นอกเหนือจากท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 ที่รองรับสินค้าได้ 8 แสนตัน/ปี ที่ท่าเรือมีขนาดเล็กไม่พอรองรับกับการค้าในอนาคต ซึ่งอนาคตจะจัดให้มีการติดตั้งปลั๊กไฟฟ้าสำหรับเสียบกับตู้คอนเทนเนอร์แช่เข็งสินค้าประเภท ผัก,ผลไม้,เนื้อสัตว์ ให้ด้วย รองรับตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นที่ท่าเรือเชียงแสน 1 อย่างน้อย 4 จุดในเร็วๆ นี้

ส่วนเรื่องนิคมอุตสาหกรรม ก็จะเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนที่จะมาลงทุนตามแนวถนน R3a อีกส่วนที่น่าจะมีขึ้นในอนาคต ตามที่จังหวัดเชียงราย ทำพื้นที่รองรับไว้ 1.6 หมื่นไร่ ที่ อ.เชียงของ

นอกจากนี้ไทยยังมีแนวทางที่จะสร้างท่าเรือสินค้า จ.สตูล รับกับการนำสินค้าจากจีนออกไปยังทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นทะเลเปิดเชื่อมกับมหาสมุทร ไม่ต้องอ้อมมายังอ่าวไทยให้เสียเวลาอีก 3 วันได้ จึงเชื่อว่าศักยภาพของไทย พร้อมที่จะรองรับการลำเลียงสินค้าจากประเทศจีนตอนใต้ ผ่านทางรถ และทางเรือ เพื่อไปยังท่าเรือน้ำลึกของไทย

นายพิเชษฐ์ ย้ำว่า ในส่วนของไทยนั้น ถือว่ามีความพร้อมในด้านพื้นที่มาก อยากเสนอให้จีนด้วยว่า หากมีความร่วมมือกันระหว่าง ไทย-พม่า-ลาว-จีน-เวียดนาม-กัมพูชา ได้ น่าจะสร้างเขื่อนที่กักน้ำโขงก่อนจะไหลลงทะเล เพราะน้ำโขงปัจจุบันยังใช้ศักยภาพของตัวเองน้อย หน้าแล้งจะเริ่มขาดน้ำจนเรือสินค้าจีนเเล่นลำบาก ถึงแม้จีนจะสร้างเขื่อนกั้นในจีนหลายเขื่อน แต่ตอนใต้ของน้ำโขงกลับแห้ง และยังมีข้อสงสัยหลายประการของภาคธุรกิจไทย เช่น จีนสนใจที่จะลำเลียงสินค้าผ่านไทยแน่นอนหรือไม่ หรือเส้นทาง R3a ที่ผ่าน สปป.ลาว มาเชื่อม สะพานข้ามแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทางการลาว มีแนวทางการส่งเสริมการค้าอย่างไร -มีด่านตรวจรถกี่ด่าน และการขับรถที่ไทยขับเลนซ้าย ทางลาวขับเลนขวา จะมีปัญหาต่อการลำเลียงสินค้าและขนถ่ายสินค้าหรือไม่

ท้าวคำสอน รองผู้ว่าแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว กล่าวว่า ทางแขวงหลวงน้ำทา มีแนวทางที่จะส่งเสริมการใช้ถนน R3a แน่นอน และส่งเสริมภาคธุรกิจบริการ การขนส่ง การท่องเที่ยวบริเวณนี้ แต่ในข้อถามในเรื่องอื่นๆนั้น เช่นจำนวนด่าน หรือการสับเปลี่ยนรถ ต้องรอผู้มีอำนาจมาชี้แจงในโอกาสต่อไป

นายเฉา นายกสมาคมยูนนานโมเดิร์น ลอจิสติกส์ มณฑลหยุนหนัน(ยูนนาน) สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ฝ่ายจีนสนใจที่จะลำเลียงสินค้าผ่านประเทศไทย และใช้ท่าเรือ อ.เชียงแสน - ใกล้เคียง เช่น อ.เชียงของ แน่นอน รวมไปถึงท่าเรืออื่นๆในภาคกลางที่จะออกมหาสมุทรได้ด้วย เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของพื้นที่ประเทศไทย และมีความร่วมมือกันในการจะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ อ.เชียงของ รับกับถนน R3a ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะลำเลียงสินค้าจากนครคุนหมิง สู่ กทม. หรือยุทธศาสตร์ คุนหมิง-กทม.จึงจะสานต่อความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้จะมีถนนที่ดี การลำเลียงสินค้าทางแม่น้ำโขง ก็จะมีต่อไปเพราะต้นทุนสินค้าแต่ละแบบไม่เหมือนกัน

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ,ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ในวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสัมมนา จะมีการลงนามความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและลอจิสติกส์ ระหว่างภาคเอกชนไทยและคู่ค้าในแม่น้ำโขง โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดสัมมนาจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อการลงทุนในภูมิภาคนี้แน่นอน เพราะเส้นทางถนน R3a จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และทราบอีกว่า ฝ่ายจีน มีการเร่งหารือกับ สหภาพพม่า เพื่อที่จะเปิดใช้เส้นทางถนน R3b จากจีนตอนใต้ ผ่าน เมืองลา-เชียงตุง สู่ ท่าขี้เหล็ก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทางราว 200 ก.ม.เศษ ซึ่งใกล้กว่าถนน R3a ที่จาก ไทยสู่จีน ราว 300 กิโลเมตรเศษ ถือว่า จังหวัดเชียงราย มีเส้นทางคมนาคมทางเลือก ทางบก 2 เส้นทาง หรือ R3a และ R3b และ ทางแม่น้ำโขง ส่วนทางอากาศ และทางรถไฟ จะมีการหรือกันต่อไปแน่นอนเพราะถือว่าเป็นเส้นทางที่เกี่ยวเนื่องกันได้ทั้งหมด

สำหรับนายกสมาคมยูนนานโมเดิร์น ลอจิสติกส์ มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เดินทางมาครั้งนี้ถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ของจีนตอนใต้ มีใบอนุญาตขนส่งสินค้าทางรถยนต์ และรถไฟของจีน หากมีการยืนยันว่าจะใช้เส้นทางขนสินค้าผ่านไทยก็ถือว่ามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีการยึดมั่นในหลักการนี้

“ไม่ห่วงเรื่องจีนจะเข้ามาหรือไม่เท่าใดนัก แต่ห่วงใยเรื่องของกฎระเบียบ การผ่านทางต่างๆในแต่ละประเทศที่จะเอื้อต่อนักลงทุนมากกว่า แต่เชื่อว่าหากมีการหารือและตกลงกันเชื่อว่าอนาคตจังหวัดเชียงราย จะเป็นศูนย์กระจายสินค้าในอนุภูมิภาคนี้แน่ และในวันที่ 5 มีนาคม 51 คณะจะได้ไปทัศนศึกษา ดูท่าเรือเชียงแสน 1 และ 2 และท่าเรือเชียงของด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น