ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – จีนเดินหน้าเปิดเส้นทางทัวร์ 4 ชาติผ่านคุน-มั่ง กงลู่ เสนอขอไฟเขียวจากปักกิ่งใช้ Border Pass เที่ยวสิบสองปันนา-ลาว-ไทย-พม่า ก่อนย้อนกลับผ่านชายแดนพม่า-จีนที่ต้าล่อ หลังจับพม่า-ลาวลงนามในอนุสัญญาตั้งแต่ปี 2003 แต่ล่าสุดยังติดปัญหากฎหมายความมั่นคงไทยอยู่ เชื่อบูมท่องเที่ยวสิบสองปันนาได้อีก 1-2 เท่าตัว หลังปีกลายทำเงินได้กว่า 3,400 ล้านหยวน จากนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน ด้านสมาคมท่องเที่ยวเชียงรายเสนอจีนเปิดเวที 4 ชาติร่วมทำโปรแกรมทัวร์ลุ่มน้ำโขงขายยุโรป
“เมื่อเดือนธันวาคม 2007 รัฐบาลท้องถิ่นสิบสองปันนา โดยการท่องเที่ยวได้ทำแผนเสนอต่อรัฐบาลกลาง ให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยว 4 ประเทศ มีจุดเริ่มต้นจากสิบสองปันนา ผ่าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ตามถนน R3a เข้าสู่ประเทศไทย แล้วเดินทางย้อนกลับเข้าพม่า ผ่านถนน R3b กลับ สาธารณรัฐประชาชนจีนทางเมืองลา ประเทศไทย – ต้าล่อ โดยใช้บัตรผ่านแดน หรือ Border Pass เท่านั้น ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต-วีซ่าใด ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังรอคำตอบอยู่”
Yuan Song Qing ผู้ช่วยการท่องเที่ยวเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวนำเสนอต่อคณะสำรวจการท่องเที่ยวผ่านเส้นทาง R3a จากเชียงราย – หลวงน้ำทา – สิบสองปันนา – คุนหมิง ที่นำโดยนางอัจฉริกา มณีสิน ผอ.ททท.ภาคเหนือเขต 2 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ระหว่าง 19-24 เมษายน 2551 ช่วงหารือร่วมกันถึงอุปสรรคการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย – จีน ที่เชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา
Yuan Song Qing ย้ำว่า ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา จีน มุ่งมั่นพัฒนาการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง จน ณ วันนี้ ถือว่าใกล้สมบูรณ์แบบแล้ว โดยในกรณีของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ที่เป็นเมืองชายแดนด้านตะวันตกของ จีน ขณะนี้การคมนาคมสะดวกทุกเส้นทาง ทั้งทางบกผ่านถนนคุน-มั่ง กงลู่ ที่ใกล้แล้วเสร็จ ทางน้ำผ่านแม่น้ำโขง ไปถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และทางอากาศ อันเป็นไปตามนโยบายเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน
นอกจากนี้ด้วยสภาพภูมิอากาศของมณฑลหยุนหนัน ก็ถือว่า ดีที่สุดของ จีน เป็นแหล่งพักผ่อน เฉพาะสิบสองปันนา ยังมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างวิถีชีวิตชนเผ่ามากถึง 13 ชนเผ่า รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวมากถึง 16 แห่ง โรงแรม 41 แห่ง บริษัททัวร์ 17 บริษัท และไกด์ที่ได้มาตรฐานมากกว่า 1,000 คน ตลอดจนอาหาร – แหล่งบันเทิงพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
ในปี 2007 หรือ 2550 ที่ผ่านมา สิบสองปันนาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในพื้นที่มากถึง 5 ล้านกว่าคน มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 3,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 15,640 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 4.6 บาท/ 1 หยวน)
“ถ้าเราสามารถเปิดโปรแกรมท่องเที่ยว 4 ชาติโดยใช้ Border Pass ผ่านตลอดได้ตามแผน เชื่อว่าจะทำให้การท่องเที่ยวของสิบสองปันนา โตขึ้นกว่าปี 2007 อีกไม่น้อยกว่า 1-2 เท่าตัวจริงตามที่สมาคมท่องเที่ยวของจีน เคยศึกษาไว้” Yuan Song Qing กล่าว
เขาบอกอีกว่า การเติบโตของการท่องเที่ยวสิบสองปันนาที่ว่านี้ หมายรวมถึงการท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทยด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวหลักที่ ททท.สิบสองปันนา เสนอขึ้นไป และเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเมื่อปี 2003 หรือ 5 ปีที่แล้ว ทางจีนได้ลงนามในข้อตกลงการใช้ Border Pass ร่วมกับทางพม่า – ลาว ที่โดยข้อเท็จจริงเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกันแล้ว
ขณะนี้เหลือเพียงไทยเท่านั้น ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และถือเป็นปัญหาที่ทำให้ข้อตกลงการใช้ Border Pass ในประเทศภาคีสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร แม้จะผ่านการเจรจา หารือกันมาหลายครั้ง หลายระดับ ตั้งแต่นายกเทศมนตรี – อบจ. - ผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทย
“โครงการนี้ ถือเป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสิบสองปันนา ซึ่งขณะนี้ถ้าพูดถึงอุปสรรคจริง ๆ ก็จะเหลือเพียงนโยบายของรัฐบาลไทยในเรื่องการใช้บัตรผ่านแดนเข้าประเทศสำหรับคนจีน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตามถนน R3a กับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทยเท่านั้น”
สอดคล้องกับความเห็นของนายอำนวย เทียมกีรกุล ผู้อำนวยการ ททท.ประจำกรุงปักกิ่ง ที่ระบุว่า หลังถนนคุน-มั่ง กงลู่ เสร็จ จะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวผ่านเส้นทางนี้อีกหลายเท่าตัว และภายใน 1-2 เดือนต่อจากนี้ก็จะมีคาราวานท่องเที่ยวทางรถจากนครคุนหมิง – ไทยอีก เพียงแต่ประเด็นการใช้เอกสารผ่านแดน หรือBorder Pass แทนวีซ่า – พาสปอร์ต อาจจะเป็นเรื่องยากในกรณีของประเทศไทย เพราะติดขัดเรื่องความมั่นคง – ข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าจะทำก็ต้องเสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกันทีเดียว
ด้านนางอัจฉริกา มณีสิน ผอ.ททท.ภาคเหนือเขต 2 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า เท่าที่เข้ามาสำรวจการท่องเที่ยวผ่านถนนคุน-มั่ง กงลู่ ครั้งนี้ พบว่า การดึงนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา เข้ามาเที่ยวจะง่ายกว่าดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย เพราะเพียงแต่จัดโปรแกรมที่ได้มาตรฐานร่วมกันแล้วขายได้เลย ไม่เป็นปัญหาเรื่องการผ่านแดน หรือความมั่นคง
ขณะที่นายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวในภาคีสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย พม่า ลาว จีน ไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งที่มีทรัพยากรที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เช่น หมู่บ้านไทลื้อ ที่เชียงรุ่ง ซึ่งทางการเปิดเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม คงวิถีชีวิตดั้งเดิมของไทลื้อ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในราคาถึง 80 หยวน/คน – นักเรียน 45 หยวน/คน และผ่านการเจรจา หารือกันมาหลายสิบครั้ง เป็นเพราะแต่ละเวทีทางผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเท่าใดนัก
เช่นกรณีของสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ที่มีสมาชิกจดทะเบียนทำทัวร์ Inbound – Outbound มากกว่า 150-200 ราย รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนืออีก 16 จังหวัดที่อยู่ในสมาพันธ์ ก็ไม่เคยเข้าร่วมการหารือใด ๆ ทำให้ประเด็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไม่ได้รับการผลักดันแก้ไขอย่างจริงจัง
“ผมเห็นหลายหน่วยงานจัดคณะมาเจรจากับ จีน หลายสิบครั้งในระยะที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ซึ่งหลังจากนี้ทางสมาคมฯ จะร่วมมือกับ ททท.เดินหน้าทำเรื่องท่องเที่ยวใน 4 ประเทศนี้อย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่า ทำได้ ไม่ใช่ได้ทำ เหมือนก่อนๆ”
ในการหารือร่วมกับ ททท.สิบสองปันนา และ ททท. นครคุนหมิง ระหว่างการเดินทางเที่ยวนี้ นายสมเกียรติ พร้อมคณะได้เสนอแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว 4 ประเทศ เพื่อสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างไทย พม่า ลาว จีน เสนอขายผ่านเอเยนซีทัวร์ในระดับโลก มุ่งเน้นการดึงนักท่องเที่ยวยุโรป อเมริกา ฯลฯ เข้ามาในพื้นที่
เขาได้เสนอแนวทางพัฒนาไว้ว่า ในขั้นแรกการนำนักท่องเที่ยวไทยเข้ามณฑลหยุนหนัน ขณะนี้สามารถทำได้แล้วทั้งทางบก – เรือ – อากาศ เพราะเส้นทางคมนาคมใกล้เสร็จสมบูรณ์ ขั้นที่ 2 การนำนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย ขณะนี้ทำได้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มี Pass Port ส่วนประเด็นเรื่อง Border Pass ผ่านแดน ยังจะต้องเสนอผลักดันต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ก็ได้ผลักดันผ่านจังหวัดเชียงรายแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล
ขั้นที่ 3 ผลักดันให้ ททท.-สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงคลัสเตอร์ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร แหล่งบันเทิง ฯลฯ 4 ประเทศภาคีสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ จัดทำรูต(เส้นทาง)การท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับร่วมกันขึ้นมา ก่อนที่จะจัด Road Show ในตลาดโลก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใน 4 ประเทศ โดยขั้นแรกจะผลักดันให้มีการเจรจาระหว่างจีน-ไทยก่อนขยายไปยังพม่า – ลาว เมื่อตกลงกันได้แล้ว ทั้ง 4 ประเทศก็จะร่วมกันส่งทีมสำรวจแหล่งท่องเที่ยว – อุปสรรคปัญหาต่าง ๆ และแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อนเปิดขาย
“ทั้ง 4 ประเทศต้องสำรวจแหล่งท่องเที่ยว และกำหนดจุดเที่ยว โปรแกรมร่วมกัน ถ้ามีปัญหาใด ๆ ก็จะต้องแก้ไขก่อน อย่างจีนอาจต้องแก้เรื่องสุขอนามัย – ห้องน้ำ รวมถึงกฎระเบียบเรื่องการนำรถยนต์ทะเบียนไทยเข้า จีน ที่ต้องวางเงินค้ำประกันสูงถึง 50,000 หยวน หรือ 230,000 กว่าบาท เป็นต้น จากนั้นดึงเอเยนซีทัวร์เข้ามาดู จึงจะเริ่มทำโรดโชว์ในตลาดโลก โดยการขายก็ต้องขายโปรแกรมทั้ง 4 ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีนขาย หรือไทยขายก็ตาม”
เขามองว่า นักท่องเที่ยวยุโรป-อเมริกา ไม่มีปัญหาเรื่องเอกสารผ่านแดน กำลังซื้อ และกำลังแสวงหาโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงสามารถขายได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เมื่อทำได้ในกรอบ 4 ประเทศนี้แล้ว อนาคตก็ขยายไปยังเวียดนาม กัมพูชา เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวกลุ่มประเทศ GMS ต่อไป
ด้าน Xu Juan Director Of Administrative Office Kunming Municilal Tourism Administration บอกว่า ทางการท่องเที่ยวของคุนหมิง เห็นด้วย และพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเรื่องการท่องเที่ยว 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเบื้องต้นอาจจะเริ่มเฉพาะจีน – ไทยก่อนที่จะขยายความร่วมมือไปยังพม่า กับ สปป.ลาว ต่อไป โดยหลังจากนี้เขาจะทำแผนเสนอต่อหน่วยเหนือ เพื่อจัดเวทีหารือกับ ททท.-สมาคมการท่องเที่ยวเชียงราย ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อมั่นว่า หลังถนนคุน-มั่ง กงลู่ ที่เชื่อมต่อเข้ากับR3a – R3b เสร็จสมบูรณ์ จะทำให้การท่องเที่ยวในกลุ่มลุ่มน้ำโขงที่มีความสมบูรณ์แบบในตัวเองมากดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวผ่านคุนหมิง-อาเซียน ส่วนประเด็นปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทางรัฐบาลท้องถิ่น – องค์กรที่เกี่ยวข้องของหยุนหนัน / คุนหมิง –เชียงราย และประเทศไทย ก็จะต้องมาร่วมมือกันแก้ไขกันต่อไป