xs
xsm
sm
md
lg

การเมือง การปกครองและศาล (1)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ศาลเป็นสถาบันที่มีภารกิจหลักคือการพิจารณาอรรถคดี ซึ่งประกอบด้วยคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นหลักที่เรียกว่าศาลสถิตยุติธรรม ภารกิจของศาลส่วนนี้เป็นภารกิจของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายซึ่งต้องพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้จบลงด้วยความยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ในกรณีคดีอาญานั้นคือการกระทำที่ผิดต่ออาญาแผ่นดินเกิดขึ้นได้โดยการกระทำต่อบุคคลด้วยกัน หรือระหว่างบุคคลและรัฐ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำผิดต่อประชาชน ในคดีแพ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน หรือรัฐกับเอกชน หรือกลับกันแล้วแต่กรณี ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นภารกิจหลักของศาลโดยมีกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลความขัดแย้งทั้งทางแพ่งและทางอาญา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

การทำหน้าที่ของศาลที่กล่าวมาเบื้องต้นนอกจากจะมีกฎหมายซึ่งออกมาในรูปของพระราชบัญญัติ กฎระเบียบต่างๆ ยังมีกระบวนการยุติธรรม เช่น มีตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิด อัยการซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดิน รวมทั้งกรมราชทัณฑ์ซึ่งทำหน้าที่หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนั้นก็มีกรมบังคับคดี เป็นต้น

นอกจากภารกิจหลักของศาลสถิตยุติธรรมดังกล่าวมาเบื้องต้น ศาลยังมีภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของการเมืองนั้นศาลอาจจะมีภารกิจเกี่ยวพันกับทางอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารในระดับทั้งที่เป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ รวมตลอดทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์กรอื่นๆ แต่ในการเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองของศาลนั้น มีความแตกต่างกันระหว่างศาลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรง กับศาลสถิตยุติธรรมซึ่งทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีซึ่งมีผลกระทบหรือเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

ในกรณีของศาลซึ่งการวินิจฉัยเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองโดยตรงก็ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงหรือเป็นคดีอาญาตามปกติก็ได้ ส่วนศาลปกครองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีที่สืบเนื่องจากการปกครองบริหาร เช่น ระหว่างกรมกองข้าราชการด้วยกันเอง หรือระหว่างเอกชนกับหน่วยงานราชการทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ

แต่ในบางกรณีศาลซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง หรือศาลสถิตยุติธรรมธรรมดาอาจจะถูกกำหนดให้มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเมืองร่วมกัน เช่น กรณีของตุลาการ 9 คน ในการวินิจฉัยคดี การกระทำความผิดกฎหมายพรรคการเมืองจนนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย โดยตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนั้นประกอบด้วย ผู้พิพากษาจากศาลสถิตยุติธรรมคือศาลฎีกา ศาลปกครอง เป็นต้น

ในส่วนของความเกี่ยวพันระหว่างศาลและการเมืองการปกครองนั้น แม้ในกรณีของศาลสถิตยุติธรรมก็มีโอกาสเกี่ยวพันกับการเมืองและการปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีกรณีการวินิจฉัยที่เห็นชัดในประวัติศาสตร์สองกรณีคือ

กรณีแรก คือ เรื่องความชอบธรรมและความถูกต้องตามกฎหมายของการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยจากการยึดอำนาจรัฐโดยใช้กำลัง หรือพูดง่ายๆ คือการเป็นรัฏฐาธิปัตย์หลังทำการรัฐประหารสำเร็จ

กรณีที่สอง คือ เรื่องการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาชญากรสงครามหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎหมายก็คือการเกี่ยวพันกับกระบวนการนิติบัญญัติหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ส่วนกรณีแรกที่เกี่ยวกับการเป็นรัฐาธิปัตย์นั้นคือการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสถาปนาอำนาจรัฐ หรืออำนาจอธิปไตยว่ามีความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) และมีความชอบธรรม (legitimacy)หรือไม่อย่างไร

ในกรณีคดีเกี่ยวกับอาชญากรสงครามนั้นเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาคดีการกระทำความผิดของพวกนาซีเยอรมนี และฟาสซิสต์อิตาลี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามโดยศาลที่ตั้งขึ้นมาพิเศษที่นูเรมเบิร์กและที่โตเกียว ในกรณีประเทศไทยนั้นเนื่องจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ โดยลงนามเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม ได้มีการออกพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ซึ่งมีผลย้อนหลัง

กล่าวคือ การกระทำที่เกิดก่อนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดด้วย อันเป็นลักษณะที่ขัดกับปรัชญาหลักกฎหมายทั่วไปที่ไม่ให้มีการออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษผู้กระทำการใด ในกรณีของศาลที่นูเรมเบิร์กและที่โตเกียวก็มีผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดหลักการ แต่ในกรณีของไทยนั้นเมื่อคดีมาถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาได้ตัดสินตามคำพิพากษาที่1/2489 ว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่ลงโทษก่อนวันที่ใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ โดยมีเหตุผลว่า

ก) ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมายจึงต้องดูว่าอะไรเป็นกฎหมาย หรือเป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยเช่นนี้เป็นอำนาจของศาล

ข) ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมี 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต่างย่อมมีอำนาจยับยั้งและควบคุมซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเมือง เมื่อกฎหมายถูกตราออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไม่ถูกต้องหรือขัดรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมมีอำนาจแสดงให้เห็นความไม่ถูกต้องนั้นได้

ค) จำเป็นต้องมีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นข้อความที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็จะไม่มีผล จะให้สภานิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้ออกเองชี้ขาดเองย่อมไม่ถูกต้อง และให้อำนาจฝ่ายบริหารชี้ขาดก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร

นี่คือเหตุผล 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญโดยสังเขปเบื้องต้น ข้อสังเกตคือ การวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยมิได้มีแนววินิจฉัยแนวเดียวกับคดีอาชญากรสงคราม โดยตุลาการ 9 คนอ้างว่าแม้จะเป็นกฎหมายย้อนหลัง “แต่ไม่ใช่กฎหมายอาญา” ซึ่งมีนักกฎหมายจำนวนไม่น้อยถกเถียงว่า แม้กฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองก็จะออกกฎหมายให้มีผลการลงโทษย้อนหลังไม่ได้เช่นเดียวกัน ประเด็นนี้คงถกเถียงกันได้อีกนาน

แต่ที่สำคัญก็คือ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนั้นมีผลทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหารซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเช่นเดียวกัน ไม่สามารถจะกระทำอะไรได้ตามอำเภอใจ การวินิจฉัยของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสถิตยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยนัยนี้

ส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยและการเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น กรณีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจกัน โดยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นและผู้กระทำการยึดอำนาจรัฐได้ สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้ ทำให้นำไปสู่การอ้างได้ว่าเมื่อความเป็นจริงทางการเมืองมีว่า เมื่อคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจสามารถดำรงอำนาจอยู่ได้ตามปกติวิสัย และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ก็ต้องถือว่าเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง แต่กระบวนการช่วงชิงอำนาจโดยใช้กำลังจนฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐอยู่เดิมต้องสูญเสียอำนาจไปนั้นเกิดคำถามที่สำคัญเรื่องความถูกต้องและความชอบธรรม คำถามก็คือ การใช้กำลังเข้าช่วงชิงอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นอำนาจที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และผู้ใช้อำนาจนั้นจะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องได้หรือไม่

แง่มุมของกฎหมาย ถ้ามีกฎกติกา เช่น การปกครองที่มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ยาวนานจนกลายเป็นประเพณีเช่นของอังกฤษและสหรัฐฯ และก็มีการทำให้ประเพณีดังกล่าวนั้นมีความถูกต้องอีกโสตหนึ่งด้วยตัวบทกฎหมาย และความมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับ ก็จะสอดคล้องกับความชอบธรรมของอำนาจของแม็กซ์ เวเบอร์ คือ อำนาจประเพณี (traditional authority) เช่น การสืบเชื้อสายการเป็นกษัตริย์จากพ่อไปสู่ลูกอันประเพณีอันยาวนาน ก็ถือว่าลูกมีอำนาจและความชอบธรรมตามประเพณี ส่วนอำนาจด้านกฎหมายและความถูกต้องนั้น เช่น มีการเลือกตั้งและได้ชัยชนะการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีอเมริกา ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็จะได้เป็นประธานาธิบดีอันเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และการมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม (legal-rational authority)

แต่เมื่อใดก็ตามที่อำนาจตามประเพณีและความมีเหตุมีผลนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็อาจเกิดการแย่งอำนาจกันจนบางครั้งเกิดสงครามกลางเมืองแยกเป็นสองรัฐ หรือรัฐบาลเดิมจำกัดตัวเองอยู่ในพื้นที่โดยยังไม่ล้มจากการเป็นรัฐบาล เช่น ในกรณีที่จีนคณะชาติหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน หรือบางครั้งรัฐบาลเดิมอาจจะไปตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่นอกประเทศ (อ่านต่อพฤหัสฯ หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น