xs
xsm
sm
md
lg

"อนุพงษ์"อ้างยังไม่รุนแรง ใช้กฎหมายกอ.รมน.ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 ก.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งให้แถลงข่าว ยืนยันว่า ไม่ได้เพิกเฉยต่อการปะทะกันระหว่างการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในบางจังหวัด โดยเฉพาะที่จังหวัด อุดรธานี และ อยากให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้กองทัพบกเข้าไปมีส่วนช่วยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างการชุมนุมนั้น ได้เข้าใจว่า การดำเนินการใดๆ ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยขณะนี้ได้ใช้อำนาจของผู้บัญชาการทหารบก ให้กองร้อยทหารสารวัตร ของมณฑลทหารบก และ จังหวัดทหารบกในทุกกองทัพภาค เตรียมกำลังสารวัตรทหาร สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจหากมีการร้องขอมา
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.อนุพงษ์ ให้มาชี้แจงว่า ท่านมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้การดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนกองทัพบก กำลังทหารที่มีอยู่โดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้น มิได้รับการฝึกฝนมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ชุมนุมเป็นการเฉพาะ อีกทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องอุปกรณ์ และเครื่องมือในการดูแลผู้ชุมนุม อาจทำให้การดูแลการชุมนุมไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร ที่สำคัญการที่กองทัพบกจะส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปดำเนินการดังกล่าวนั้น จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
"กองทัพบกตระหนักดีว่า จากข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ดังกล่าว การใช้กำลังทหารจึงมีความจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายดังกล่าว อีกทั้ง ในอีกด้านหนึ่ง การดำเนินการโดยใช้กำลังทหารในการดูแลผู้ชุมนุม จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ อันจะนำมาซึ่งความเสียหายในหลายๆ ด้านที่อาจคาดไม่ถึงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม กองทัพบกขอยืนยันว่า หากมีความจำเป็นในการใช้กำลังทหารตามกฎหมายข้างต้น กองทัพบก ก็มีความพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชน และขอยืนยันว่าในขณะนี้กองทัพบกได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์รุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือเกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ โดยจะดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด"
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า ล่าสุด ผู้บัญชาการทหารบก มีคำสั่งให้ กองร้อยทหารสารวัตร ของมณฑลทหารบก และจังหวัดทหารบกในทุกกองทัพภาค เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร เพื่อให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่มีการชุมนุม หากมีการร้องขอกำลังมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการปะทะกัน และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นในระหว่างที่ชุมนุม ซึ่งการใช้ สารวัตรทหาร ไม่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. แต่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของกองทัพบก ตามอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารบก ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีทหารนอกเครื่องแบบแฝงตัวเข้าไปปฏิบัติงานนั้น ยืนยันว่า ไม่มี ถ้ามีก็ขอให้บอกตรงไหน อย่างไร และขอให้แจ้งไปที่ผู้บังคับหน่วย ยืนยันว่า ที่จะออกไปเป็นส่วนของกองร้อยทหารสารวัตรเท่านั้น
" สารวัตรทหารมีทักษะในการดูแลการชุมนุม มีทักษะในการอยู่กับฝูงชน และมีความรู้เรื่องกฎหมาย น่าจะใกล้ชิดกับการชุมนุมได้มากที่สุด ในการส่ง สห. เข้าไปก็ไม่ได้เกี่ยวกับการปรามกลุ่มที่จะออกมาปะทะ แต่ ผบ.ทบ.ท่านปรารถนาดี และเป็นห่วง สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ คือติดตามว่าสถานการณ์เป็นไปขนาดไหน และให้ข้อมูลสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยเท่านั้น ณ ตอนนี้ การแถลงวันนี้ ก็เพราะหลายฝ่ายอยากจะให้ทหารเข้าไปมีบทบาทในการชุมนุม แต่เรามีกรอบกฎหมายแค่นั้น กองทัพบกไม่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งกำลังทหารไปดูโดยพลการ อยากให้เข้าใจภาพรวม และกรอบของเรา ดังนั้นเสียงเรียกร้องหรืออยากจะให้ทหารทำอะไร บางอย่างนอกกรอบที่เราทำได้ ก็จะได้เข้าใจกัน"

**เงื่อนไขยังไม่ถึงขั้นใช้กฎหมาย กอ.รมน.
ด้าน พ.อ.นักรบ บุญบัวทอง ผู้อำนวยการกองนโยบาย และแผน ส่วนงานนโยบายและแผน กอ.รมน. กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 คือ
1. ภาวะปกติ : กอ.รมน. ดำเนินการภายใต้กฎบัญญัติในหมวดที่ 1 ของ พ.ร.บ.ฯ โดยมีอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 7 โดยสรุปในเรื่อง ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิด ภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และอำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามแผนและแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
2. ภาวะไม่ปกติ : ใช้อำนาจหน้าที่เพิ่มเติมตามบทบัญญัติในหมวดที่ 2 โดยการประกาศพื้นที่เหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดย ผอ.รมน. เสนอให้ ครม.มีมติเห็นชอบ และมอบให้ กอ.รมน.รับผิดชอบ มีเงื่อนไขหลักๆ ดังนี้ คือ เหตุการณ์นั้นกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และ เหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน รวมถึงอยู่ในอำนาจหน้าที่อยู่ความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ซึ่งการจะใช้กฎหมายความมั่นคงต้องครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ
ทั้งนี้ เมื่อ กอ.รมน.รับผิดชอบแล้ว จะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมจากภาวะปกติตามบทบัญญัติในมาตรา 16 โดยสรุปในเรื่องป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายราชอาณาจักร โดยการจัดทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้ความเห็นชอบ หากกรณี กอ.รมน. ต้องการข้อกำหนดเพิ่มเติม เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผอ.รมน. สามารถเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมตามบทบัญญัติในมาตรา 18 ได้และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน หาก กอ.รมน. มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐใด ให้ครม. มีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ใน กอ.รมน. เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น หรือมีมติให้หน่วยงานของรัฐนั้นมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวให้ กอ.รมน.ดำเนินการแทน
" กอ.รมน. ภาคจะติดตามและรายงานให้ กอ.รมน.ส่วนกลาง ให้ทราบ ถ้าสถานการณ์ครบเงื่อนไขที่บอก ก็ต้องมาดูกรอบกฎหมายหรือไม่ ก็จะเข้าเงื่อนไขสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ในขณะนี้ จริงๆแล้วยังไม่ครบเงื่อน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะใช้เพื่อการป้องปราม ซึ่งจะยังไม่ถึงขนาดต้องประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งกฎหมายพวกนี้จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล" พ.อ.นักรบ กล่าว

"ชลิต" ลั่นแก๊งอุดรฯละเมิดสิทธิ
เมื่อเวลา 15.30 น. วานนี้(28 ก.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลฎีการับคำฟ้อง 3 รัฐมนตรี เกี่ยวกับคดีหวยบนดิน ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไร ก็ต้องว่าไปตามนั้น ทั้งนี้อาจจะเป็นทั้งผลดี และผลเสียก็ได้ ผลดีอาจจะได้มีการปรับเปลี่ยน และได้คนที่ดีมีความรู้ความสามารถอีกหลาย ๆ คนที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ก็สามารถมาทำงานได้ คนไทยมี 60 กว่าล้านคน
เมื่อถามว่า เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินคดีต่างๆ ได้ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คิดว่าน่าจะเห็นใจศาล เพราะท่านทำงานหนัก ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ทราบอยู่แล้วว่า เป็นสิ่งที่พยายามจะทำให้ระบบการเมืองในประเทศไทยดีขึ้น และคิดว่า ในอนาคตน่าจะดีขึ้น เมื่อถามว่า ควร จะปรับตำแหน่ง ครม.ตำแหน่งใด เพื่อความเหมาะสม พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ตนไม่ทราบ นายกรัฐมนตรีท่านจะทราบ
เมื่อถามว่าคดีต่าง ๆ ขณะนี้เริ่มพิจารณาแล้วจะนำไปสู่หนทางออกของประเทศไทยหรือไม่ ผบ.ทอ.กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องก้าวหน้า และพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องของเศรษฐกิจ ความเจริญทุกประการ ส่วนใครจะมาบริหารไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน หรือ รัฐบาลไหน ก็จะต้องทำไปสู่จุดนั้นให้กับประชาชน ดังนั้นตนคิดว่า จะต้องดีขึ้น เมื่อถามว่า เป็นห่วงผู้นำรัฐบาลหรือไม่ เพราะมีปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามามากมาย พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งไม่น่ามีอะไรที่น่าเป็นห่วงมากนัก
เมื่อถามว่า ขณะนี้คนไทยมีการทะเลาะตีกัน ของทั้ง 2 ฝ่าย และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ พล.อ.อ. ชลิต กล่าวว่า สิ่งที่ตนมอง คิดว่าทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ก่ำเกินสิทธิของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม คนที่วิพากษ์วิจารณ์หรือทำอะไรต่าง ๆ จะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่คำพูด หรืออะไรต่าง ๆ ที่เกินเลย ส่วนกลุ่มคนอื่นๆ กรณีที่จะไปใช้อาวุธ หรือทำอะไรรุนแรง ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และก่ำเกินในเรื่องของสิทธิ

**การปฏิวัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เมื่อถามว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ มีความเป็นห่วงว่าคนไทยจะแตกความสามัคคี คนไทยมีสิทธิ์จะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า พูดยาก เพราะเป็นอย่างนี้มาพอสมควร เมื่อถามว่า หากตำรวจไม่สามารถรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ ทหารจะออกมาควบคุมสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ตำรวจจะต้องรับมือให้ไหว เพราะเขามีหน้าที่อย่างนั้น ในต่างจังหวัดเริ่มตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ท่านจะต้องดูแลทุกข์สุข เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ และมีความสุข
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์จำเป็นจะต้องใช้ประกาศ พ.ร.บ. ด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ไม่อยากให้มี ควรจะต้องใช้กฎหมายปกติดูแลให้เรียบร้อย เพราะถ้าไปถึงจุดนั้นจะต้องเข้าถึงขั้นกลียุค ซึ่งตำรวจจะรับมือไม่อยู่ เมื่อถามว่า หากสถานการณ์เกิดกลียุค ทหารจะออกมาปฏิวัติหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า การปฏิวัติ การปฏิรูป หรือการควบคุมสถานการณ์ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตนไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าการปฏิวัติ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตนภาวนาให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแล และผู้ที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ก็จะต้องทำ มันก็จะไม่เกิดข้อขัดแย้งที่รุนแรง
เมื่อถามว่า คิดว่าสถานการณ์คงไม่ถึงขั้นปฏิวัติ ใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า มันก็ไม่ควร เมื่อถามถึงกรณีที่ ผบ.ตร.เสนอให้ทหารเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ต้องทำ หรือร้องขอ ผ่านทางกระทรวงกลาโหม ยกเว้นว่า จะเป็นอีกสภาวะหนึ่ง เช่น กรณีฉุกเฉิน หรือเหตุปัจจุบันทันด่วน ท่านก็จะร้องขอในนามของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) หรือ ผู้ว่าฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่าการทะเลาะของประชาชน จะเป็นเหตุผลหนึ่งให้ทหารออกมาปฏิวัติหรือ ไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ไม่หรอกครับ ไม่ใช่ตนคิดว่าไม่น่าใช่เป็นสาเหตุของการที่ทหารจะออกมาปฏิวัติ เพราะไม่ใช่หน้าที่ หมายถึงหน้าที่ปกติของทหารในการป้องกันเอกราช แต่ว่าถ้าถึงจุดที่ร้องขอถูกสั่งการจากผู้บังคับบัญชานั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อถามว่าท่านจะฝากอะไรถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ภาระของการควบคุมทุกอย่างถ้าอยู่ในสิทธิของแต่ละคน และไม่ล่วงล้ำเข้าไป
กำลังโหลดความคิดเห็น