xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเล็งยกเครื่องกองทุนบำนาญ ดึงมืออาชีพบริหารสไตล์กองทุนรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิโคโนมิสต์ – ชี้กองทุนบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีมูลค่ามากมายมหาศาล แต่กลับมีการบริหารจัดการด้อยประสิทธิภาพ ปีที่แล้วขาดทุนไปราว 5.65 ล้านล้านเยน (47,000 ล้านดอลลาร์) กระนั้น มีแนวโน้มว่าทางการอาทิตย์อุทัยจะเริ่มต้นลงมือปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยมีเสียงเรียกร้องให้ผ่องถ่ายกลายเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งอาจมีนัยสำคัญและกว้างขวางต่อตลาดหุ้นโตเกียว
กองทุนบำนาญของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกองทุนบำนาญของรัฐที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก ด้วยสินทรัพย์ 150 ล้านล้านเยน แต่เงินทุนดังกล่าวเกือบจะเรียกได้ว่าปราศจากความเคลื่อนไหว โดยจำนวนราว 2 ใน 3 สงบนิ่งอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (เจจีบี) ที่ให้ผลตอบแทนระยะ 10 ปีเพียงปีละ 1.6% ทางด้านการบริหารจัดการกองทุน ก็อยู่ในมือข้าราชการที่แทบไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการลงทุน ด้วยเหตุนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนจึงอยู่ในระดับต่ำ นั่นคือประมาณ 3.5% ต่อปี เทียบกับราว 7% สำหรับกองทุนบำนาญของนอร์เวย์และสวีเดน และ 10% ในแคนาดาและฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังมีการนำกองทุนบำนาญไปหว่านให้กับรีสอร์ทท่องเที่ยวในทำเลที่ไม่น่าลงทุนแต่มีความสำคัญอย่างมากทางการเมือง
หากไม่มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องลดการสนับสนุนผู้สูงวัยหรือขึ้นภาษี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่ไม่เป็นที่ต้องการของประชาชน นอกจากนั้น ปัญหานี้ก็ยังจะหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นสังคมผู้ชรามากขึ้นทุกขณะ ดังนั้น นักการเมืองกลุ่มหนึ่งในพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล จึงเรียกร้องให้จัดสรรเงินจำนวน 10 ล้านล้านเยนออกมาตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือกองทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐ (sovereign-wealth fund) โดยให้ผู้จัดการมืออาชีพซึ่งอาจเป็นคนต่างชาติมาบริหารจัดการ และให้เงินเดือนค่าตอบแทนตามผลงานที่ทำได้ กองทุนนี้จะเป็นอิสระจากระบบราชการและการเมือง และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
ในอดีตที่ผ่านมา ความพยายามในการปฏิรูปกองทุนบำนาญของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงความพยายามตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติโดยใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ล้วนมีอันต้องล้มเลิกไปหลายต่อหลายครั้ง เพราะระบบราชการล้าสมัยของญี่ปุ่น ตลอดจนเสียงต่อต้านโจมตีที่ว่า การลงทุนที่มีความเสี่ยงจะทำให้เงินทุนของรัฐตกอยู่ในอันตราย
อย่างไรก็ดี สำหรับการเคลื่อนไหวคราวล่าสุดนี้ เพื่อลดทอนกระแสต่อต้าน โคทาโร ทามูระ ส.ส.จากแอลดีพี ชี้แจงว่า กองทุนใหม่ที่เสนอให้จัดตั้งขึ้นมานี้ จะยังคงถือครองพันธบัตรเจจีบีในมูลค่าเท่าเดิม และถ้าหากกองทุนนี้ยังคงสามารถดำเนินงานทำผลตอบแทนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ก็น่าจะทำให้มีเสียงสนับสนุนมากขึ้น จนสามารถเพิ่มขนาดและปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนนอกเหนือจากเจจีบีที่แม้ปลอดภัยแต่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก
การขยับขยายไปลงทุนอย่างอื่นนอกจากเจจีบี ในระยะยาวอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ทางการคลัง ปัจจุบัน หนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 180% ของจีดีพี สูงที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรม เพียงแต่รัฐสามารถกู้ยืมโดยมีต้นทุนต่ำ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอาจผลักดันให้กองทุนบำนาญต้องเข้ามาเป็นผู้ซื้อแบบชนิดมัดมือชก ดังนั้น หากกองทุนขยับขยายไปหาสินทรัพย์อื่นๆ ที่จูงใจกว่า รัฐบาลจะต้องเสนอผลตอบแทนพันธบัตรที่จูงใจยิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่บางคนกลัวว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศ ทว่า ผลลัพธ์ที่แท้จริงอาจมีนัยมากกว่านั้น เช่น ผู้รับเงินบำนาญอาจมีสถานะความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยภาระอาจไปตกอยู่กับผู้จ่ายภาษีในอนาคตที่จะต้องรับภาระในการจ่ายหนี้สินของรัฐบาล
นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ยังหวังว่า เงินทุนและการลงทุนที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นจะทำให้ตลาดหุ้นโตเกียวกลับมาคึกคัก โดยการกดดันให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับปรุงมูลค่าของผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกัน ผลประกอบการที่ดีขึ้นยังอาจกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนอย่างสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในขณะนี้ ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นมีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 1,500 ล้านล้านเยน ครึ่งหนึ่งฝากอยู่ในธนาคารโดยมีอัตราดอกเบี้ยแสนต่ำ ซึ่งหากเม็ดเงินเหล่านี้ได้รับการปลดปล่อยออกสู่ตลาดหุ้น ผู้สูงวัยที่เลือกการลงทุนอย่างฉลาด ก็น่าจะมีชีวิตบั้นปลายที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น