จับตาโจรการเมืองวางแผนปล้นเงินคลังหลวง “นิพัทธ” แนะตั้งเจ้าภาพประสานนโยบายคลัง-แบงก์ชาติ หนุนเอาทุนสำรองฯ มาใช้ ชี้การที่ประเทศมีเงินมากเกินไป ถือว่าขาดช่องทางการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ยันการมีทุนสำรองสูงแปลว่าไทยใช้เงินไม่เป็น พร้อมเปิดช่องให้เอาไปลงทุนในต่างประเทศ หรือแปลงทุนสำรองจำนวนมหาศาล เอามาสร้างความมั่งคั่ง
วันนี้ (30 ก.ค.) นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่ปรึกษา รมว.คลัง ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการสัมมนา “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ทางเศรษฐกิจ” โดยระบุว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อไป เพื่อให้มีกรอบการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนในอนาคต ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานนโยบายการเงินการคลังของประเทศให้มีเสถียรภาพ เป็นเอกภาพ และมีความสอดรับกัน ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างองค์กรนี้ขึ้นเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ควรจะต้องมีหน่วยงานในการจัดทำแผนการใช้เงินของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากการลงทุนในโครงการต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญในภาวะที่ประเทศไทยมีแหล่งเงินทุนในประเทศไม่เพียงพอ และยังจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก
นายนิพัทธ มองว่า การมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะดี แต่กลับมองว่าการมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงนั้น เป็นการขาดโอกาสของการลงทุนที่มีประสิทธิผล ดังนั้น จึงควรนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ไปใช้ในการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศให้มากกว่านี้
“การที่มีเงินสำรองสูงเกินไปถือว่าขาดช่องทางการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง มีทุนสำรองสูงแปลว่า เราใช้เงินไม่เป็น ดังนั้น เราควรต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ การทำอย่างไรให้ทุนสำรองที่มีอยู่มาสร้างความเจริญมั่งคั่งให้แก่ประเทศ มากกว่าการลงทุนให้ต่างชาติได้กำไร เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังต้องตอบโจทย์นี้” นายนิพัทธ กล่าว
นายนิพัทธ ยังกล่าวด้วยว่า ที่หลายฝ่ายมองว่าต้องให้การเมืองนิ่งจึงจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้นั้น ไม่จริงเสมอไป เพราะจะเห็นได้จากปัจจุบันที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังมีความวุ่นวายอยู่นี้ แต่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ 5-6% ซึ่งเป็นเพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่งพอที่จะรองรับกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ดี
อย่างไรก็ดี เห็นว่า การเมืองไทยอาจจะต้องมีการปรับปรุงให้อยู่ในกฎกติกามากขึ้น และให้เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตยชัดเจนกว่านี้