xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรัฐเอเชีย-บ่อน้ำมันขยาด คิดหนักหลังบ.ฝรั่งทำขาดทุนยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – กองทุนความมั่งคั่งภาครัฐที่มีเงินสดเหลือเฟือ จากเอเชียและตะวันออกกลาง น่าจะใช้ท่าทีระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังการลงทุนในบริษัทตะวันตกที่เป็นเหยื่อวิกฤตการเงิน ให้ผลตอบแทนน่าผิดหวัง
แม้โอกาสเปิดกว้าง แต่ความรู้สึกระแวดระวังกำลังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศที่เป็นเจ้าของเงินทุนมากมายมหาศาลเหล่านี้ต้องประสบขาดทุน สืบเนื่องจากการเข้าไปลงทุนในธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ไม่นานนักก่อนที่ปัญหาตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ จะระเบิดกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่บานปลายทั่วโลก
แรกทีเดียว การทุ่มทุนนับพันล้านดอลลาร์ในยักษ์ใหญ่ภาคการเงินของตะวันตก เช่น ซิตี้กรุ๊ป และเมอร์ริล ลินช์ อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นการลงทุนในราคาที่ได้เปรียบ แต่เมื่อวงการธนาคารเริ่มระส่ำ มูลค่าหุ้นที่กองทุนเพื่อความมั่งคั่งภาครัฐ (sovereign wealth fund)เหล่านี้ถือครองอยู่ ก็กลับดิ่งฮวบลงอย่างรวดเร็ว
แซนนี มินตัน-เบดดาส เจ้าหน้าที่ระดับบรรณาธิการคนหนึ่งของ ดิ อิโคโนมิสต์ ที่ประจำอยู่ในวอชิงตัน และเป็นอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความเห็นว่า เขาเชื่อว่ากองทุนเหล่านี้ขาดทุนยับเยิน จึงไม่แน่ใจว่าเวลานี้คือโอกาสที่ดีในการลงทุน และต่างหันมาใช้ท่าทีระมัดระวังมากขึ้น
นับจากปีที่แล้ว ธนาคารและสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ ต่างวิ่งเต้นค้นหาและได้รับเงินทุนอัดฉีดหลายพันล้านดอลลาร์ จากกองทุนเพื่อความมั่งคั่งภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อนำเงินออมของประเทศ และยอดเกินดุลจากภาวะน้ำมันแพงในอ่าวเปอร์เซีย รวมถึงการยกระดับสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย ออกไปลงทุนในต่างแดน
กองทุนเหล่านี้ถูกจับตามองอย่างเคลือบแคลงสงสัย หลังจากเข้าลงทุนก้อนใหญ่ในธนาคารและบริษัทที่กำลังมีปัญหา โดยถูกวิจารณ์ว่ามีการดำเนินการไม่โปร่งใส ยิ่งรายที่เข้าถือหุ้นในธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น โทรคมนาคม จะถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศที่เป็นเป้าหมายการลงทุน
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่า กองทุนเพื่อความมั่งคั่งภาครัฐทั่วโลกมีสินทรัพย์รวมกัน 1.9-2.8 ล้านล้านดอลลาร์ และอาจเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2012 ขณะที่องค์การที่ประชุมการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังก์ถัด) คาดการณ์มูลค่าสินทรัพย์ปัจจุบันของกองทุนเหล่านี้ไว้ที่ 5 ล้านล้านดอลลาร์
คริสโตเฟอร์ บาลดิง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและกองทุนเพื่อความมั่งคั่งภาครัฐ กล่าวว่ากองทุนประเภทนี้เป็นพวกที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และวิกฤตการเงินในขณะนี้ยิ่งทำให้ต้องรอบคอบมากขึ้น
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่โดดเด่นที่สุด ด้วยสองกองทุนหลักคือ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และกัฟเวิร์นเมนท์ ออฟ สิงคโปร์ อินเวสต์เมนท์ คอร์ป (จีไอซี) ที่กลายเป็นความหวังของบริษัทการเงินตะวันตกที่ประสบปัญหา
ที่ผ่านมา เทมาเส็กลงทุน 8,300 ล้านดอลลาร์ในเมอร์ริล ลินช์ ซึ่งภายหลัง เมอร์ริลก็ถูกแบงก์ ออฟ อเมริกาซื้อกิจการไปโดยการแลกหุ้นคิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีไอซีอัดฉีดให้ซิตี้กรุ๊ปและยูบีเอสของสวิสเป็นหลักพันล้านดอลลาร์
จีไอซีและเทมาเส็กเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า จะยังคงแสวงหาโอกาสการลงทุนที่เป็นไปได้ต่อไป แต่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด
เม็ดเงินจากตะวันออกกลางถูกหว่านอยู่ในโลกตะวันตกเช่นกัน คูเวต อินเวสต์เมนท์ ออธอริตี้ทุ่มเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ในซิตี้กรุ๊ปและเมอร์ริล ลินช์เมื่อต้นปี
อาบูดาบี อินเวสต์เมนท์ ออธอลิตี้ ที่ควบคุมโดยอาบูดาบี รัฐสมาชิกใหญ่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลงทุนในซิตี้กรุ๊ปเช่นกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้วรวมเป็นเงิน 7,520 ล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทุนเพื่อความมั่งคั่งภาครัฐจากเอเชียและตะวันออกกลาง จะยังคงมีฐานะเป็นแหล่งทุนสำคัญ ที่พวกกิจการทั้งหลายจะมาเกี้ยวพาให้ร่วมลงทุนกันต่อไป แต่กองทุนเหล่านี้คงจะมีการร่อนตะแกรงคัดเลือกเป้าหมายการลงทุนอย่างละเอียดยิ่งขึ้นก่อนเซ็นเช็คให้
กระนั้น ไมเคิล แบ็กแมน ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเอเชีย เชื่อว่าขณะนี้เป็นโอกาสทองที่กองทุนของเอเชียจะมองหาการลงทุนระยะยาวในบริษัทตะวันตก เพื่อแตกแขนงเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา และฉวยจังหวะซื้อของถูก
กำลังโหลดความคิดเห็น