xs
xsm
sm
md
lg

ส่งศาลรธน.วินิจฉัยสมัคร จัดรายการ “ชิมไปบ่นไป”ผิดกฎหมายจันทร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง เปิดเผยวานนี้ (255 ก.ค.) ถึงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ไปจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าอาจจะเป็นวันจันทร์ หรืออังคาร จะสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนคำร้องซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการพิจารณารับคำร้องของ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ
เรื่องนี้ไม่ถือว่าล้าช้า ต้องกระทำด้วยความรอบครอบ ส่วนที่นายสมัคร กล่าวหาว่ามติดังกล่าวเหมือนเป็นการส่งไปฆ่า เนื่องจากไม่ได้มีการชี้มูลความผิด แต่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผมยืนยันว่าการพิจารณาของกกต.ยึดตามหลักฐาน
นายประพันธ์ ชี้แจงการพิจารณาคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งของนายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า กกต.ไม่ได้ยื้อการพิจารณาเฉพาะสำนวนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมา กกต.ได้พิจารณาสำนวนคัดค้านผลการเลือกตั้งไปแล้ว 400 สำนวน เหลือประมาณ 100 สำนวนที่รอการวินิจฉัย จากทั้งหมด 600 สำนวน กกต.ต้องวินิจฉัยด้วยความรอบครอบ เพราะหากเร็วเกินไปอาจจะมีปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกัน นายวิเชียร ควรเอี่ยม ผู้ใหญ่บ้าน ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมตัวแทนชาวบ้านในจ.ฉะเชิงเทรา แต่ละอำเภอได้เดินมาที่หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ เพื่อให้กำลังใจ กกต.ทั้ง 5 ให้อดทนทำงานต่อไป ซึ่งก็ได้มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงกล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ ของ กกต. ทั้งนี้ได้นำพระพุทธรูปโสธร และดาบอาญาสิทธิ์ มามอบให้ กกต. โดยมี นายเรืองโรจน์ จอบสืบ ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์และเผยแพ่รเป็นตัวแทนของกกต.ออกไปรับมอบ
นายวิเชียร กล่าวว่า ได้ทราบข่าวว่ามีกลุ่มการเมืองต้องการที่ถอดถอน องค์กรอิสระ ได้แก่ ป.ป.ช. ฐกกต. และสตง. รู้สึกเป็นห่วงเพราะเห็นว่า ที่มาของ องค์กรอิสระถือว่ามีความชอบธรรมแล้ว และพอหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้ง และกกต. ชุดนี้ได้ทำหน้าที่ก็ไม่มีใครคัดค้าน แต่พอมีกลุ่มการเมืองที่กระทำผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้ต้องอาจจะต้องมีการถูกยุบพรรค ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวจ้องล้ม กกต. จึงได้หารือกับชาวบ้าน และมาให้กำลังใจเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมหากองค์กรอิสระถูกยุบก็จะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง อย่างไรก็ตามช่วงเช้าตนได้นำหลวงพ่อและดาบอีกชุดหนึ่งไปให้กำลังใจกับป.ป.ช.แล้ว
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.)องค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า ผลการประชุม กมธ. มีความเห็นเอกฉันท์ ว่าที่มาของค ป.ป.ช. มิชอบด้วยกฎหมายและจารีตประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเป็นผลให้การดำเนินการต่างๆ ของ ป.ป.ช. มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญคือมีความเห็นว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 22 และ 31 ที่ว่าด้วยการตั้งป.ป.ช. ก็มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากสถานะองค์รัฏฐาธิปัตย์ของ คมช. ได้สิ้นสุดลงเมื่อทรงโปรดเกล้าฯให้พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน คมช. เพราะเท่ากับถวายคืนอำนาจองค์รัฏฐาธิปัตย์ให้กับพระมหากษัตริย์แล้ว ดังนั้นการกระทำใด ๆ ของป.ป.ช. จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญม.309 นอกจากนี้เมื่อที่มามิชอบ ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจเอาผิด ส.ส.และส.ว.ที่ถือหุ้นเกิน 5 % และถือหุ้นในบริษัที่รับสัมปทานจากรัฐ แต่ควรเป็นหน้าที่ของสภาและ กกต.จะดำเนินการ
นายสุทิน กล่าวว่า สำหรับประเด็นสถานะองค์รัฏฐาธิปัตย์และการสิ้นสุด มีความสำคัญอย่างมากซึ่งทาง กมธ.เสนอแนะว่าควรมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจ และควรพูดคุยในภาควิชาการอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างความชัดเจน ซึ่งการศึกษาเ รื่อง องค์รัฏฐาธิปัตย์อาจจะทำให้มีกฎหมายเป็นโมฆะจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบของ กมธ.จะไม่มีผลผูกพันกับองค์อื่น การที่ ส.ส. จะยื่นถอดถอน ป.ป.ช.หรือไม่เป็นเอกสิทธิส่วนตัวแต่ทาง กมธ.ก็เห็นด้วย แต่ผลจาการศึกษานี้อาจทำให้ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่จะยื่นถอดถอน เปลี่ยนทิศทางไปยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะป.ป.ช.ก่อนก็ได้ และตนยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ได้รับประโยชน์จากการถอดถอนป.ป.ช.เพราะโดยอำนาจของประธานศาลฎีกาและศาลปกครองสามารถตั้งป.ป.ช.ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้อยู่แล้ว
ส่วนที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ระบุว่าได้ขอให้เลขาธิการ ครม.ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักราชเลขาธิการในประเด็นการดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช.จะต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ หรือไม่และทางสำนักราชเลขาธิการก็ได้แจ้ง ความเห็นกลับมาว่าไม่ต้องนั้น ปรากฎว่าในการชี้แจงของเลขาธิการ ป.ป.ช.ไม่มีหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการมาเป็นหลักฐานยืนยันได้ มีเพียงหนังสือที่สำนักเลขาธิการ ครม. ทำถึง ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ถึงแม้จะมีหนังสือจากสำนำนักราชเลขาธิการยืนยัน กมธ. ก็ถือเป็นความเห็นของหน่วยงานมิใช่พระราชวินิจฉัยขององค์อธิปัตย์ขณะนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมดังกล่าวมีกมธ.เข้าร่วมประชุมเพียง 8 คน จาก 15 คน โดยเป็นเกมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 คน คือนางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และนายอับดุลการิม เด็งระกีนา ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์
นายอับดุลการิม กล่าวว่า กมธ.ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เข้าร่วมประชุม ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าคปค.เป็นองค์รัฐาธิปัตย์ที่มีความชอบธรรมในการแต่งตั้งป.ป.ช. ประกอบกับต่อมาได้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ได้ให้การรับรองเอาไว้

**************

อสส.รับลังเลฟ้องคดีให้คตส.
เหตุมีที่มาจากการยึดอำนาจ

ผู้จัดการรายวัน - อัยการปะทะคตส.อีกรอบ “บรรเจิด” เหน็บตัดสินไม่เป็นอิสระเพราะเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ “ชัยเกษม” โต้กลับ ยอมรับลังเลคดีที่ คตส.เสนอฟ้อง เหตุมีที่มาจากการปฎิวัติ จึงไม่สบายใจที่จะส่งฟ้อง ด้านรองอัยการฯ อ้างเมื่อ คตส.ไม่เป็นที่ยอมรับเราก็ต้องเป็นกลาง ระบุเสนอฟ้องยกเข่งทำไม่ถูกต้อง

นาย บรรเจิด สิงคะเนติ อดีต คณะกรรมการ คตส.กล่าวในการเสวนา เรื่อง ธรรมาภิบาลในกระบวนการยุติธรรม กรณีศึกษาองค์กรอัยการ ตอนหนึ่งว่า อัยการจะต้องมีความเป็นอิสระไม่ว่าจะเป็นการสั่งคดี ซึ่งถือเป็นดุลพินิจของอัยการสูงสุดแต่ปัจจุบันมีสิ่งที่ไม่เอื้อให้เป็นอิสระโดยที่อัยการ ไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจหรือรัฐหลายบอร์ด ซึ่งทำให้เกิดความมักคุ้นกับฝ่ายบริหาร การให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ ต่อบอร์ดแล้วถูกฟ้องร้อง ถามว่าอัยการจะตัดสินใจอย่างไรในคดีเหล่านี้ อัยการจะวางสถานะของตนเองอย่างไร แม้บอกว่า เป็นมติจาก ครม. แต่ก็จะมีโอกาสเกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์สูงมาก ดังนั้นอัยการควรจะต้องออกจากความเป็นบอร์ด เพื่อให้การสั่งคดีเป็นอิสระและมีความสง่างาม ภาคภูมิกับการวินิจฉัยที่ปราศจากข้อครหาในส่วนที่เกี่ยวข้องผลประโยชน์เพื่อสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องคดี อย่างไรก็ตามคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้นทางเราเปลี่ยนให้ ป.ป.ช. ปลายทางให้ศาลฎีกา แต่ตรงกลางถือเป็นจุดเปราะบาง อาจจะให้บุคคลคนเดียวตัดสิน
ขณะที่ นายชัยเกษม นิติศิริ อัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวว่า ที่นายบรรเจิดระบุว่าขณะนี้ช่วงบน ช่วงล่างเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ช่วงกลางคืออัยการไม่ยอมเปลี่ยนเพราะเป็นการตัดสินใจของคนๆเดียว แต่ข้อเท็จจริง กฎหมายเป็นอย่างนั้น ยอมรับว่าหนักใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคดีอาญาของนักการเมือง ดังนั้นหากจะปรับระบบก็ทำเลย
“ตอนเข้ามารับตำแหน่งได้รับการขอร้องจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองในหลายระดับ ระดับนายกฯและคมช.ก็มาฝากให้ช่วยดูแลในส่วนที่ข้าราชการซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมติ ครม. โดนกล่าวหากว่า 30-40 คน แล้วบ้านเมืองจะบริหารไปได้อย่างไร ดังนั้นผมจึงไม่สามารถส่งคนขึ้นศาลได้ถ้าปราศจากความละเอียดรอบคอบ”
นายชัยเกษมกล่าว่า ส่วนเรื่องการแก้ต่างแทนผู้ถูกฟ้อง ถ้าเป็นเรื่องที่อัยการฟ้องจะไม่แก้ต่างเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นเรื่องที่คตส.ฟ้องส่วนตัวยังลังเล เพราะรู้อยู่ว่า คตส.มีที่มาอย่างไร กระบวนการมาจากที่ใด เป็นองค์กรพิเศษเฉพาะกิจ อัยการไม่กลัวถูกฟ้อง แต่ไม่สบายใจ อยากให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการศึกษากระบวนการทำงาน ของอัยการและ คตส. แต่ไม่ขอพูด พูดไปจะเหมือนไปท้าตีท้าต่อย ไม่อยากตอบโต้ ให้เกิดความขัดแย้ง แต่ที่ผ่านมา ป.ป.ช.และอัยการทำงานร่วมกันมามานาน ไม่เคยมีความขัดแย้ง คุยกันรู้เรื่อง มีเหตุ มีผล การที่คตส..ไปฟ้องเองก็ไม่ว่าอะไร แต่น้อยใจเหมือนกัน แต่เราไม่ทำตามกระแส ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเดือดร้อนมากมาย
นาย จุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ศาลวินิจฉัยอะไรออกมาต้องยอมรับ แต่ตำรวจ พนักงานสอบสวน และ คตส.ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ อัยการก็ต้องเป็นกลาง การพิจารณาฟ้องคดีจะต้องรอบคอบ คดีที่ คตส.ส่งมาแล้วอัยการไม่ฟ้องนั้นต้องให้ความยุติธรรม อย่างคดีหวยบนดินที่ฟ้อง ครม.ยกชุด พ่วงข้าราชการรกว่า 80 คนเราทำใจไม่ได้ เพราะเห็นใจข้าราชการ ไม่ต้องการให้ยกเข่งแบบนี้ ต้องมีความเป็นกลางในหัวใจ จะมุ่งฟาดฟันไม่ได้ คดีอาญาของนักการเมืองต้องเอานักการเมืองก่อน จากนั้นจึงไปดำเนินการกับผู้อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น