xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ระบุ2Q/51ฐานะแบงก์ยังแกร่ง แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นว่าผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2551 ของธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและการเมืองขาดเสถียรภาพ ระบุผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นจากปีก่อน เตือนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ลดลง อาจส่งผลในเชิงลบได้
นายวินเซนด์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินกล่าวว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของตลาดการเงินทั่วโลกในปัจจุบันนั้นมีความผันผวนสูง ธนาคารพาณิชย์ไทยที่แข็งแกร่งบางธนาคาร เช่น SCB KBANK และ BBL ยังคงมีผลประกอบการที่ดี โดยธนาคารทั้งสามแห่งมีอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’
สำหรับผลประกอบการของ TMB นั้นได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากผลขาดทุนในปีก่อน ซึ่งได้สะท้อนการที่ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ TMB ขึ้นเป็น ‘BBB-’ (BBB ลบ) ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของ TMB ในปีนี้ อาจจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งจากการควบรวมระบบภายในกับ ING Bank
ในส่วนของ BAY จากการที่ GE Capital ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหลักในเดือนมกราคม 2550 และได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบภายในธนาคาร คาดว่าจะทำให้ฐานะทางการเงินและผลประกอบการของ BAY แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า ซึ่งสะท้อนในแนวโน้มอันดับเครดิตที่มี แนวโน้มเป็นบวก ของธนาคาร” นอกจากนี้ มร.มิลตัน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยอดสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น จะลดผลกระทบของการขยายตัวที่ลดลงของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อมและสินเชื่อรายย่อย
อย่างไรก็ตาม จากการที่ราคาน้ำมันยังคงตัวอยู่ในระดับสูง และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง กำลังส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนลดลง และคาดว่าผลประกอบการของธนาคารไทยโดยรวมจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยภาพรวมความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงานและความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารไทยในปีหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารขนาดใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ทั้งนี้ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารขนาดใหญ่คาดว่าจะเป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ โดยธนาคารเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำกว่า 5% ภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการเร่งแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยการขายสินเชื่อเหล่านี้ออกไป ในครึ่งปีแรก ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอลง และการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อาจส่งผลให้ธนาคารบางแห่งมีความเสี่ยงในเรื่องของการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และสำรองขาดทุนจากการขายสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า อัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารโดยรวมแล้วจะยังคงแข็งแกร่ง ต้นทุนทางการเงิน มีแนวโน้มสูงขึ้นในครึ่งปีหลังจากสภาพคล่องของระบบที่ลดลง และคาดว่าธนาคารขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มผลประกอบการโดยรวมในครึ่งปีหลังจะปรับตัวอ่อนแอลง
ฟิทช์คาดว่า SCB KBANK และ BBL จะยังคงสามารถรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ BAY, TMB และ KTB คาดว่าจะรายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2551 เนื่องจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงและการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อ แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารในประเทศไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น