xs
xsm
sm
md
lg

แนะโลกต้องการผู้นำวิสัยทัศน์ใหม่ รับมือวิกฤตเศรษฐกิจผสมโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ -โลกกำลังต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อผลักดันนโยบายแบบเดียวกับ "ข้อตกลงใหม่" (New Deal) ของอดีตประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลก ที่ผสมผสานทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เงินเฟ้อสูง และเศรษฐกิจตกต่ำเข้าด้วยกัน รายงานล่าสุดที่เผยแพร่วานนี้(21) ของมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation - เอ็นอีเอฟ) เสนอไว้เช่นนี้
รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า "ข้อตกลงสิ่งแวดล้อมใหม่" (A New Green Deal) ของมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังความคิดแห่งหนึ่งในอังกฤษ มุ่งที่จะอาศัย วิกฤตสินเชื่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทะยานขึ้นของราคาอาหารกับน้ำมัน ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มาเป็นเหตุผลในการพิจารณาเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
ข้อเสนอหลักในรายงานนี้ได้แก่ ทุกครัวเรือนต้องผลิตพลังงานใช้ได้เอง และจะต้องจัดตั้งกองทุนจากภาษีที่เก็บจากพวกบริษัทน้ำมันและก๊าซ เพื่อนำไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่กิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดคาร์บอนก็จะต้องถูกคิดค่าใช้จ่ายตามผลกระทบที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนั้น ควรลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนทางด้านพลังงานเชิงอนุรักษ์และโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่ง และควรแยกสถาบันการเงินที่รวมเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ออกจากกัน เพื่อว่าในกรณีที่กิจการแห่งหนึ่งประสบปัญหา จะไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
"เมื่อวิกฤตสินเชื่อผนวกเข้ากับการพุ่งทะยานของราคาน้ำมัน และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาวแล้ว ทั้งสามอย่างนี้ก็จะก่อตัวเป็นพายุใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบ" แอนดรูว์ ซิมส์ ผู้อำนวยการของเอ็นอีเอฟระบุ
"แต่แทนที่จะมานั่งหมดหวัง เราจะต้องวางแผนการที่ครอบคลุมกว้างขวางและต้องกำหนดทิศทางใหม่ในการฝ่าอุปสรรคแต่ละอย่างในสภาวการณ์ใหม่ที่ว่านี้ให้ได้" ซิมส์เสริม
"เราต้องจัดทำข้อตกลงใหม่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ซึ่งมีขอบข่าย มีความกล้าหาญ และวิสัยทัศน์ที่เคยพบเห็นมาแล้วในอดีตดังเช่นในยุคที่ประธานาธิบดีรูสเวลต์รับมือกับปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่"
ทั้งนี้ "ข้อตกลงใหม่" ตามข้อเสนอของอดีตประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลต์แห่งสหรัฐฯ เป็นชุดแผนการที่ใช้ในระหว่างปี 1933-1938 เพื่อช่วยเหลือคนยากจน ปรับปรุงระบบการเงินของสหรัฐฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทรุดดิ่งลงอย่างหนักภายหลังตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล้มครืนนั่นเอง
ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว และพวกเขาส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อไม่ให้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น
"วิกฤตสินเชื่อ สภาพอากาศ และน้ำมัน ล้วนแต่เป็นปัญหาสำคัญโดยตัวของมันเอง แต่เมื่อทั้งหมดมารวมกันเข้าก็จะอาจส่งผลถึงขั้นเป็นหายนภัยต่อระบบเศรษฐกิจ และต่อวิถีชีวิตของพวกเราด้วย" เป็นคำกล่าวของ โทนี จูนิเปอร์ ผู้ร่วมเขียนรายงานคนหนึ่ง และเป็นอดีตประธานกลุ่มอนุรักษฺสิ่งแวดล้อม "เฟรนด์ส์ ออฟ ดิ เอิร์ธ"
"เราต้องการภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ของแท้ที่จะฝ่าปัญหานี้ออกไปได้ แต่ตอนนี้เราก็ยังมองไม่เห็นเลย นักการเมืองจากทุกพรรคควรแสดงให้เห็นว่าพวกเขายินดีที่จะคิดแตกต่างไปจากเดิมและยอมเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ" เขาเสริม
รายงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้จัดทำระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมทั้งจัดให้มีแรงจูงใจด้านการเงินและนโยบายที่จะส่งเสริมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด การห้ามจัดตั้งพื้นที่หลบเลี่ยงภาษี และการควบคุมเงินทุนแบบใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น