xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็นจีโอ” จี้พลัง ปชช.ผลักดันเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กลุ่มเอ็นจีโอเปิดเวทีเสวนามีต่อเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการปฎิรูปการปกครอง ชี้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นจริง แต่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบโดยกลุ่มทุน หากประชาชนไม่ร่วมแสดงพลังและความต้องการที่แท้จริง อย่างหวังได้พึ่งพรรคการเมืองเป็นผู้ปลดล็อคความทุกข์ยาก จี้พลังประชาชนที่กำลังตื่นตัวทางการเมือง หันมาร่วมติดตามปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน [FTA WATCH] ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และวิทยาลัยวันศุกร์ ร่วมกันเสวนานโยบายเศรษฐกิจทางเลือกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ : บทสำรวจองค์ความรู้และประสบการณ์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

การเสวนาบนเวทีได้สะท้อนมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่นั้นที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการปฎิรูปการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าแท้จริงแล้วทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลงโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะการเปิดเสรีโดยเฉพาะทางการเงินและการลงทุนได้สร้างความไร้เสถียรภาพ และความผันผวนแก่ระบอบเศรษฐกิจ ซึ่งผลผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคเศรษฐกิจจริง หลายกรณีจบลงด้วยวิกฤตการณ์การเงิน วิกฤตการณ์เงินตรา และวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งบั่นทอนการเติบโต ความมั่นคง และความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกว้างขึ้น ทั้งในระดับภายในและระดับระหว่างประเทศ โดยมีกลุ่มนายทุนที่ได้รับผลประโยชน์มากกว่า ขณะที่ผลกระทบนั้นตกอยู่กับประชาชนชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งอำนาจการต่อรองของแรงงานลดลงเมื่อเทียบกับนายจ้าง ทำให้แรงงานไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และไม่ได้มีส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากกระบวนการแลกเปลี่ยนในตลาดแรงงาน

ขณะที่รัฐมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจลดลง สามารถตอบสนองเป้าหมายทางเศรษฐกิจเพื่อผู้คนภายในประเทศโดยตรงลดลง ขณะที่ถูกตีกรอบให้ดำเนินนโยบายภายใต้กฎเหล็กเสรีนิยมใหม่ และต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกประเทศ มากกว่าประโยชน์ของคนในประเทศ

นายจักรชัย โฉมทองดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เปิดเผยว่า ภายใต้กรอบลัทธิเสรีนิยมใหม่นี้ ประชาชนของประเทศกำลังทุกข์ยากจากพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่มีความจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน

อีกทั้งพบว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ก็ได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหากมีโอกาสบริหารประเทศที่ไม่แตกต่างกัน โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม ทำให้มีการโกงกิน คอร์รัปชัน เอื้อผลประโยชน์ มีกลุ่มนายทุนเป็นผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจมิใช่มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ โดยที่รัฐบาลเองไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง

ในขณะที่ประชาชนกำลังตื่นตัวทางการเมืองอยู่นี้ ควรจะมีการมองแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศมากกว่าเรื่องคอร์รัปชั่น เพราะปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องการทำ FTA ที่ผลประโยชน์อยู่กับกลุ่มทุนแต่ภาคเกษตรกลับไม่ได้ประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ในห้วงเวลานี้จึงมีการนำแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจทางเลือกใหม่มาวิเคราะห์และพูดคุย เรื่องที่น่าสนใจ เช่น การเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ การควบคุมเงินทุนระหว่างประเทศ การให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชน บำเหน็จ-บำนาญข้าราชการ ซึ่งในระยะยาวนั้นจะต้องมีการปฎิรูปการเงิน การคลัง และการจัดเก็บภาษีอย่างจริงจังเสียที ซึ่งต้องใช้พลังจากประชาชนเป็นกลไกขับเคลื่อน เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ไม่กล้าที่จะหยิบยกปัญหานี้มาพูดคุยและปฎิบัติ

ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล เปิดเผยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาประสิทธิภาพของแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะมีแต่ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุขซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่จะต้องจัดบริการให้กับประชาชน ประกอบกับภาครัฐมีความพยายามที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง คอร์รัปชั่น และพยายามแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน ทั้งด้านบริการสาธารณสุข การศึกษาเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นการซ้ำเติมประชาชนอีก จึงเรียกได้ว่าเป็นทุนนิยมสามานย์ก็คงไม่เกินความเป็นจริง

โดยเห็นได้ชัดจากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคที่อาจดูเหมือนรัฐจัดสวัสดิการให้ประชาชนแล้ว แต่แท้จริงแล้วมีการแบ่งแยกให้บริการเฉพาะกลุ่มด้วยคุณภาพต่ำ งบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาที่ได้มาตรฐาน

ขณะที่การจัดการศึกษายังไม่กระจายสู่ภูมิภาค อย่างได้มาตรฐานเท่าเทียมกับส่วนกลาง และการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกำลังกลายเป็นสินค้า รัฐพยายามผลักภาระให้ประชาชนด้วยการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบและเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมาก โอกาสการเข้าถึงของกลุ่มที่มีฐานะยากจนก็มีน้อยลง

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงควรจะเข้ามาร่วมคิดว่า ควรจะทำอย่างที่จะให้สวัสดิการที่จัดการโดยรัฐตกสู่มือของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะ 80% ของประชากรในประเทศคือคนชั้นล่าง-ชั้นกลาง

ทั้งนี้ สำหรับการจัดเวทีดังกล่าวนั้นมีกำหนดครั้งต่อไปวันที่ 7 ก.ค.ที่ จ.ขอนแก่น และวันที่ 23 ก.ค.ที่ จ.เชียงใหม่

นายจักรชัย โฉมทองดี
กำลังโหลดความคิดเห็น