xs
xsm
sm
md
lg

ตรึงดอกเบี้ยประคองศก. ธาริษาแจง-โยนคลังกระตุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติออกโรงแจงเหตุส่งสัญญาณคงดอกเบี้ย กนง. ระบุเป็นเรื่องยากที่จะใช้นโยบาย "ดอกเบี้ย" เพียงอย่างเดียวในการดูแลทั้งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จี้นำนโยบายการคลังร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การประชุม SEACEN ชี้เหตุที่เกิดปัญหาซับไพรม์เกิดจากความไม่พอดีใน 3 ด้าน คือ ธนาคารกลางใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป การกู้เงินมาสร้างภาระผูกพัน และความไม่เข้าใจในการลงทุนที่มีความซับซ้อน

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยว่า การดำเนินนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยต่ำของธปท.ก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะใช้ดอกเบี้ยตัวเดียวมาดูแลทั้งภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ควรนำนโยบายการคลังเข้ามาช่วยเป็นบทบาทหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย และธปท.จะใช้เครื่องมือทางการเงินตัวอื่นร่วมกับมาตรการอื่นๆ แทน

“ธปท.จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินไม่ให้มีความผ่อนปรนจนเกิดปัญหาฟองสบู่ ซึ่งหากปัญหาฟองสบู่จะเกิดขึ้นก็เฉพาะในบางภาคธุรกิจเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในบางประเทศแม้เศรษฐกิจโดยรวมดีหรือเงินเฟ้อไม่สูงก็มีปัญหาฟองสบู่เกิดขึ้นกับราคาสินทรัพย์สูงได้ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ธปท.ตรวจสอบยังไม่พบว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีสัญญาณที่จะแสดงให้เห็นผิดปกติแต่อย่างใด แต่ธปท.ก็มีการติดตามดูแลปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจ 7-8 ปัจจัยอย่างใกล้ชิดต่อไป"

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20-22 มี.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกจำนวน 16 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา ฟิจิ อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล พม่า ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน เวียดนาม และไทย

ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ในที่ประชุม SEACEN ครั้งนี้ต่างมองว่าปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ของสหรัฐที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พอดีของ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากเกินไปหรือใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ของสภาพยุโรป(G3) ซึ่งประกอบด้วยประเทศอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ระบบมีสภาพคล่องจำนวนมาก จึงมีการหาแหล่งลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น

“ในที่ประชุม SEACEN มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในขณะนี้เป็นยุคหนึ่งที่ยาก เพราะมีข้อจำกัดมากทั้งความเสี่ยงของการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งธปท.จะมีความระมัดระวังผลกระทบจากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงและด้านการเงิน”

2.การกู้เงินมาสร้างภาระผูกพันมากเกินไป โดยในช่วงที่ผ่านมาพวกกองทุนเพื่อการเก็งกำไร(Hedge Fund) ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4 เท่า เทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 20 เท่า และบริษัทประกัน ซึ่งทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อในตราสารต่างๆ ประมาณ 50-100 เท่า และ3.การลงทุนในลักษณะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ในแง่ของผู้กำกับและผู้เล่นในตลาดบางรายไม่เข้าใจนัก

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากเกิดปัญหาซับไพรม์ส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายยังประเทศต่างๆ ลดลงค่อนข้างมาก ทำให้สภาพคล่องไหลเวียนมายังประเทศอื่นน้อยลง รวมทั้งไทยด้วย โดยเดือนม.ค.51 มีเงินทุนเคลื่อนย้าย 20,000 ล้านเหรียญ เทียบกับช่วงกลางปี 2550 ที่มีทั้งสิ้น 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพคล่องในตลาดโลกหดหายลง ก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

“ในช่วงที่ผ่านมาธปท.ได้ออกมาตรการ เพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทแล้ว เช่นเดียวกับควบคุมเงินทุนไหลออกหรือกีดกันไม่ให้เงินทุนไหลเข้ามายังไทยง่ายเกินไป เราก็ดำเนินการแล้ว ส่วนที่เหลือก็มีเล็กๆ น้อยๆ ในแง่ปฏิบัติ ซึ่งหากธุรกรรมใดที่เป็นการเพิ่มภาระให้กับธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะมีการปรับบ้าง แต่เท่าที่หารือร่วมกันกับธนาคาพาณิชย์ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องมาตรการอะไรออกมาดูแล”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยก็ได้รับพวงจากปัญหาซับไพรม์น้อย เนื่องจากมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่แข่งแกร่ง สถาบันการเงินมีเงินกองทุนและสภาพคล่องจำนวนมาก ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศยังคงดีอยู่ แม้ภาคการส่งออกชะลอลงบ้าง ขณะเดียวกันนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 40 ในหลายประเทศมีการพัฒนาตลาดทางการเงินที่หลากหลายและเปิดเสรีมากขึ้น ถือเป็นการสร้างประโยชน์ที่ต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงเชื่อว่าแนวทางที่ธปท.ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาและในขณะนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และในระยะต่อไปจะพัฒนาตลาดอื่นๆ ให้มีความเข้มแข็งขึ้นมากขึ้น

“แม้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โตช้าลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ส่วนที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ดีพอสมควร ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)สูงขึ้นบ้าง แต่ไม่เป็นระดับที่น่าตกใจ ซึ่งปกติเอ็นพีแอลในระบบที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโตน้อย และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หละหลวม แต่เท่าที่ตรวจสอบดูเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่า จึงยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่เข้ามาควบคุมในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้ ดังนั้น การกำกับดูแลของธปท.ในแง่ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งธปท.จะแนะนำให้สถาบันการเงินคำนึงถึงพื้นฐานความเสี่ยงประกอบการลงทุนต่างๆด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น