xs
xsm
sm
md
lg

เตือนแก้ รธน.เสี่ยงจลาจล พปช.ดันฉบับ "หมอเหวง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - หลายฝ่ายเตือนรัฐบาลจะแก้ไขรธน. ควรรอผลสรุปจากกมธ.ศึกษาฯ เสียก่อน ชี้หากยังดึงดันแก้ไขเพื่อตัวเอง และพวกพ้อง จะนำไปสู่การจลาจล ด้าน"พลังแม้ว" แบะท่าไม่รอผลการศึกษา เตรียมดันร่างแก้ไขฉบับ "หมอเหวง" เข้าสภา ตอก"จรัญ" พูดแรงเกินไป เรื่องโจรจะมาแก้กฎหมาย ขู่ระวังเจอฟ้อง ด้านส.ส.ประชาธิปัตย์ ไม่ห่วงเรื่องซื้อหุ้นจะขัด รธน. เผย ส.ส.รัฐบาลก็ถือหุ้นลักษณะเดียวกัน 42 คน ด้าน ปธ.วุฒิ ชี้หุ้นลักษณะนี้ ไม่น่าขัด รธน.

วานนี้ (15 ก.ค.) ที่รัฐสภา ชมรม ส.ส.ร. 50 นำโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม ส.ส.ร. 50 ได้มีการประชุม และหารือกันในกรณีที่ นายกรัฐมนตรี ได้ออกรายการ "สนทนาประสาสมัคร" แล้วแสดงเจตนารมณ์ว่า ต้องการที่จะแก้ไขรธน. มาตรา 237 เพื่อให้พ้นจากการถูกยุบพรรคการเมือง และอ้างว่าเพราะรธน.มีปัญหาจึงต้องแก้ ซึ่งทางชมรม ส.ส.ร. 50 ไม่เห็นด้วย กับการแก้ไขเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด จึงได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 9

โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ปัญหาในการใช้รธน. ที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่เกิดจากตัวรธน. แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากผู้ใช้ที่ไม่ยอมรับกติกา นอกจากนี้เห็นว่าหากสามารถแก้ไขรธน.ให้พรรคการเมืองหรือให้นักการเมืองพ้นความรับผิดได้ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบกับการออกกฎหมายในอนาคต ที่ประชาชนไทยและประชาคมโลกจะไม่ยอมรับ จะไม่เชื่อถือรัฐ และระบบการออกกฎหมาย เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการผิดหลักนิติธรรม ผู้แก้ไขรธน. ต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง เพราะเกิดความแตกแยกของคนในชาติ และมีโอกาสที่จะเกิดจลาจลได้ ดังนั้นทางชมรมฯขอเสนอให้รอผลการศึกษาจากกมธ.ก่อน จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมมากที่สุด

จวกโยงเรื่องหุ้นกับการแก้ รธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบการถือหุ้นครองหุ้นในสัมปทานของรัฐของส.ส.ปชป. 27คน และ ส.ว. ว่า ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องวินิจฉัย เท่าที่ตนดูมีลักษณะเป็นเรื่องของการถือหุ้นแบบอาจจะเป็นการเล่นหุ้น ส่วนจะถูกผิดอย่างไร ก็ให้หน่วยงานวินิจฉัย ซึ่งส.ส. และส.ว.ทุกคนต้องพร้อมที่จะรับการตรวจสอบ ถ้าผิดก็ผิด นี่คือแนวทางที่ควรจะเป็น

ส่วนที่พรรคพลังประชาชน พยายามโยงมาให้ถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นธรรมดา อย่างที่ตนเคยบอกไว้ว่า พอมีเรื่องที่เขาจะโดนยุบพรรค ตนก็รู้ว่ามีการพยายามไปรื้อคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในเขตที่กรรมการบริหารพรรคลงสมัคร ซึ่งเราทราบมาตั้งแต่ต้น แต่ถือว่าทุกอย่างต้องให้องค์กรอิสระพิจารณาไปตามเนื้อผ้า ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก

ส่วนการที่รัฐบาลจะแก้ไขรธน. โดยไม่รอผลการศึกษาของกมธ. จะชนวนให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาอีกและผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือรัฐบาลเอง แต่จะถึงขั้นทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้หรือไม่นั้น ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่า ประเด็นนี้ทำให้สังคมตึงเครียดจนรัฐบาลทำงานแทบไม่ได้ จึงไม่เข้าใจว่ารัฐบาลอยากทำงานแก้ปัญหาให้ประชาขนหรือไม่ ถ้าอยากทำ ก็ควรละเว้นเรื่องพวกนี้ แล้วเดินหน้าทำงานไป

ควรรอผลกมธ.ศึกษาฯก่อนแก้ไข

เมื่อเวลา 9.30 น. วานนี้ ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.50 โดยนายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรธน. เป็นประธาน โดยการประชุมนัดนี้เป็นนัดที่ 4 หลังจากที่เริ่มทำงานมาเกือบ 1 เดือน ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุ กมธ. 5 ชุดเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ เช่น อำนาจฝ่ายบริหาร ผ่านนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มีการรายงานว่า หลายคณะอนุกมธ. ยังไม่มีความคืบหน้า โดยบางคณะยังไม่มีการประชุมแม้แต่นัดเดียว

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ส.ส.พรรคพลังประชาชน ได้อภิปรายโจมตีรธน. ที่สร้างปัญหาจนทำให้การเมืองเกิดวิกฤติ ไร้เสถียรภาพ ตลอดจนการให้อำนาจศาลเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากเกินไป รวมไปตำหนิการทำหน้าที่ถึงองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น กกต. และ ป.ป.ช.

ก่อนเข้าวาระการประชุม นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ อดีต ส.ส.ร. 50 ได้หารือต่อที่ประชุม กรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะแก้รธน. 50 ทันทีเมื่อเปิดสภาในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ประกอบกับนาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ก็เห็นชอบแนวทางเดียวว่า สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาไม่ต้องการนำผล ที่กมธ.กำลังศึกษาอยู่ มามีส่วนร่วมในการแก้ไข รธน.50 เลย และยังเห็นว่า รัฐสภาไม่มีความตั้งใจกับเรื่องนี้ เป็นเพียงการซื้อเวลาทางการเมืองเท่านั้น

"ในเมื่อไม่มีความใยดีต่อเรา และพวกเขากระเหี้ยนกระหือรือ ที่จะแก้อย่างเดียว และทันที ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรที่เราจะทำต่อไป ทำให้เรารู้สึกว่า ควรจะยุติซะะเดี๋ยวนี้หรือไม่ เพราะเสียเวลาที่จะศึกษาต่อไปให้เสร็จ และไม่รู้ว่าจะตอบคำถามกับประชาชนอย่างไรด้วย เพราะเวลา เหลืออีกไม่ถึงเดือนจะขยายเวลาก็ไม่มีประโยชน์" นายเกียรติชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของนายเกียรติชัย ทำให้ส.ส.พรรคพลังประชาชนลุกขึ้นมาตอบโต้ โดยเห็นว่า หากคิดว่า การที่ ให้กมธ.ศึกษาเป็นการเสียเวลา ก็ให้ลาออกไป เพราะสามารถตั้งคนอื่นมาแทนได้ ทำให้นายเกียรติชัยตอบโต้ว่า เป็นการพูดที่ไม่เหมาะสม

นายกระมล ทองธรรมชาติ ประธาน กมธ. วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ รธน. 50 กล่าวถึงกรณีนายกฯ เสนอแก้รธน. โดยอ้างว่าเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินว่า กมธ. ฯมีหน้าที่ศึกษาปัญหาการบังคับใช้รธน. ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแนวคิดของนายกฯ เมื่อได้ข้อสรุปผลการศึกษาแล้ว หากเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไข ก็เสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ไม่แน่ใจว่าทางสภาจะเห็นด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่า การทำงานของกมธ. จะมีผลในการแก้ไขรธน. หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เชื่อว่ากมธ. จะเสนอรายงานขั้นต้นให้สภาฯ พิจารณาได้ต้นเดือน ส.ค.นี้ แต่หากมีเนื้อหาไปคล้ายคลึงกับแต่ละพรรคการเมืองเสนอมา ที่ประชุมสภาฯ ก็คงจะได้พิจารณากัน

เมื่อถามว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชน จะเสนอร่างแก้ไขรธน. เข้ามาก่อนที่กมธ.จะพิจารณาเสร็จ เหมาะสมหรือไม่ นายกระมล กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า ควรรอผลการศึกษาของกมธ. ซึ่งค่อนข้างละเอียด เพราะดูทั้งแง่มุมการเมือง วิชาการ และในทางปฏิบัติ แต่ถ้ารัฐบาลไม่รอผลการศึกษา ก็ไม่ทราบว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากเสนอแก้แล้วไม่ตรงกับผลการศึกษาของกมธ.

พปช.อัด"จรัญ" พูดแรงไป

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะส.ส.ต้องคุยกันให้ตกผลึกเสียก่อนว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งแนวทางการดำเนินการคงจะให้ส.ส.ของพรรคเข้าชื่อกันเหมือนในอดีต โดยมีประเด็นที่ต้องคุยกัน 2 ประเด็น คือ

1.จะแก้แบบไหน ทั้งฉบับ หรือบางมาตรา 2. ต้องทำความเข้าใจกันประชาชนที่เกี่ยวข้องถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองข้อนี้พรรคต้องคุยกันให้ตกผลึกก่อน จากนั้นจึงจะไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนที่นาสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกมาบอกว่าจะแก้ไขโดยไม่รอผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรธน.นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการแก้ไข ก็จะมีความคิดแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก้ และไม่ควรแก้ แต่บางคนลืมไปว่า มาตรา 291 เปิดโอกาสให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถเข้าชื่อขอแก้ไขได้ จึงจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจกันต่อไป ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ทั้งนี้ส.ส.และส.ว.จะต้องมานั่งคุยกันด้วยว่าจะแก้ไขหรือไม่ อย่างไร แน่นอนว่าความคิดเห็นคงไม่เป็นเอกฉันท์แต่เสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ต้องอธิบายให้ประชาชนฟัง

ส่วนที่ประธานศาลปกครองสูงสุดบอกว่ารธน.ไม่ผิด แต่คนใช้รธน.มีปัญหาเองนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รธน.ฉบับนี้มีที่มาจากการยึดอำนาจ มองนักการเมือง พรรคการเมืองเลวร้ายเหมือนกันหมด ยิ่งมีตุลาการออกมาบอกว่า "คุณจะให้อาชญากร แก้รัฐธรรมนูญ" มันก็แสดงถึงวุฒิภาวะ และถ้อยคำรุนแรงเกินไป

"ผมถามกลับว่าคุณร่าง รธน.เอง แล้วก็มาเป็นองค์กรอิสระเสียเอง คือการกระทำแบบไหน คนชั้นใดร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนชั้นนั้น ขณะร่างกฎหมายคุณเป็นอะไรอยู่ แล้วคุณก็มาเป็นอันนี้ หรือเป็นอันนั้นต่อไป ความคิดอยู่ที่ว่า ท้ายที่สุดพวกผมมองว่ารัฐธรรมนูญนี้มีอคติต่อพรรคการเมือง นักการเมือง เกินกว่าที่ควรจะเป็น ขณะนี้มันก็วุ่นวายเต็มไปหมด" นายชูศักดิ์กล่าว

สำหรับการทำประชาพิจารณ์ จะทำต่อหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายประชามติก็ไปได้ไกลแล้ว เป็นแนวทางที่นายกฯ ดำริไว้ แต่จะทำหรือไม่ อยู่ที่นายกฯ และขึ้นอยู้กับว่ากฎหมายจะเสร็จทันหรือไม่

เมื่อถามว่า เวลานี้มีความพยายามรื้อองค์กรอิสระ และตุลาการด้วย จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นหรือ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้มองว่าจะรื้อ แต่จะต้องมีการตรวจสอบกันไป เป็นสิทธิของส.ส.และรัฐมนตรี ที่ถูกตรวจสอบ อีกฝ่ายก็ต้องถูกตรวจสอบได้

"ผมก็เห็นใจพวก ส.ส.ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ พอจะเอาคืนบ้าง ก็หาว่าเป็นอาชญากร ผมอยากจะฝากถึงตุลาการท่านนั้นว่า พูดไม่ได้เรื่องเลย" นายชูศักดิ์ กล่าว

พปช.ขู่ดำเนินคดีกับ"จรัญ"

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร และนายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. กิจการสภาผู้แทนราษฎร แถลงตอบโต้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ระบุถึงการแก้ไขรธน. ที่ฝากถาม 3 ข้อ คือ จะให้อาชญากรแก้กฎหมายอาญาหรือไม่ จะให้นักเลือกตั้งแก้ไขการทุจริตซื้อเสียงหรือไม่ และจะให้มิจฉาทิฐิ แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยนายสุทิน กล่าวว่า นายจรัญ เป็นถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันที่ทรงไว้ซึ่งความศรัทธาของประชาชน ไม่ควรใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ดูถูกดูแคลน ส.ส.

ด้านนายนิสิต กล่าวว่า อยากให้นายจรัญ ออกมาแสดงความเห็นให้ชัดเจนว่า ที่พูดออกมานั้น มีจุดประสงค์อย่างไร ถ้าไม่ออกมาชี้แจง พวกตนจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า คำพูดดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อดำเนินคดีต่อไป

"พลังแม้ว"เผยไต๋ใช้ร่าง"หมอเหวง"

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขรธน. ว่า ที่ผ่านมา นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นร่างแก้ไข รธน. ฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรธน. ( คปพร.) ต่อประธานสภาฯ ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทางสภาฯก็ได้ตรวจสอบรายชื่อประชาชนกว่า 8 หมื่นรายชื่อ เรียบร้อยแล้ว แม้จะไม่ได้มีส.ส. และส.ว.เข้าชื่อกันยื่นก็ตาม ญัตติที่เสนอแก้ไขนี้ ก็ต้องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาใน เดือนส.ค.นี้ แน่นอน หรือถ้ามีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ไปแปรญัตติเอา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องรอผลการศึกษาจาก กมธ. เพราะเราจะใช้ช่องทางจากภาคประชาชนนี้ได้ในการเสนอแก้ไข

ทั้งนี้ นายจตุพร มั่นใจว่า นายชัย ชัดชอบ ประธานสภาฯ ต้องบรรจุวาระร่างของคปพร. ในการเปิดประชุมสภาฯ เดือนส.ค.นี้ แน่ ถ้าไม่บรรจุ ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะประชาชน เข้าชื่อกันครบถ้วนแล้ว ฉะนั้นประธานสภาฯก็ต้องบรรจุ และต้องทำตาม กฎหมาย มาตรา 291 จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

กกต.ครวญโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณี ส.ส.พลังประชาชน ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐของ ส.ส.และส.ว. ว่า ได้มอบหมายให้สำนักคดีและกฎหมาย ไปตรวจสอบข้อกฎหมายว่า ผู้ร้องได้ดำเนินการถูกต้องตามช่องทางของกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ระบุไว้ ให้ดำเนินการตรวจสอบไว้หลายช่องทาง เช่นส.ส. และส.ว. สามารถเข้าชื่อ 1 ใน 10 ส่งต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกถึงการสิ้นสุดสมาชิกสภาพของคนใดคนหนึ่ง และเมื่อสำนักกฎหมายและคดีได้ข้อสรุป ก็จะเสนอต่อประธานกกต. โดยหากไม่เห็นว่า อยู่ในขอบเขตอำนาจของ กกต. ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังประธานสภานั้นๆ ต่อไป

"ผมเห็นว่า ทางส.ส.น่าจะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงก่อนที่จะมายื่นคำร้องต่อ กกต. เพราะแม้ว่า กกต.ได้ตรวจสอบแล้ว ก็ต้องส่งกลับไปยังประธานสภาทั้งสองดำเนินการอยู่แล้ว"

นายสุทธิพล ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช ออกมาระบุว่า องค์กรอิสระหลายองค์กรเข้ามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะป.ป.ช. และ กกต.ว่า กรณีการได้มาของ กกต. และป.ป.ช.นั้น มีบทเฉพาะกาลรองรับอยู่ โดยเฉพาะ มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ ก่อนหน้านี้ก็เคยถกเถียงกันมาแล้ว กกต.ก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

"ก่อนหน้านี้ก็ออกมาชมผลการปฏิบัติงานของ กกต. แต่พอช่วงหลังที่มีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จากคำชมก็เปลี่ยนไปด้วย แต่หากมองว่าการเข้ามาของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างนี้การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยใช่หรือไม่ และทุกอย่างที่กกต.ดำเนินการไปแล้วจะถือว่าไม่มีผลด้วหรือไม่ " เลขาฯกกต. กล่าว

ปธ.วุฒิฯ ยันองค์กรอิสระตั้งโดยชอบ

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า อุปสรรคการบริหารประเทศ ไม่ได้เกิดจากรธน. ดังนั้นต้องพิจารณาดูว่า อะไรที่เป็นอุปสรรค อย่างไรก็ตามในเรื่องการแก้ไข มาตรา 190 เกี่ยวกับสนธิสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ตนได้แสดงความเห็นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า อาจเป็นปัญหาในอนาคตได้

ส่วนที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จะล่ารายชื่อ ส.ส.ถอดถอน 4 องค์กรอิสระ โดยระบุว่าที่มาขององค์กรเหล่านี้มาจากรธน. 50 ที่ขัดกับประชาธิปไตยนั้น ประธานวุฒฺสภา กล่าวว่า องค์อิสระนั้นตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายอยู่แล้ว และได้รับการโปรดเกล้าฯ อย่างนี้จะระบุว่าแต่งตั้งขึ้นโดยไม่ชอบได้อย่างไร จึงเป็นไปไม่ได้ถ้าจะมาโดยไม่ชอบ ถ้าองค์กรเหล่านี้มาโดยไม่ชอบแล้วประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร

เชื่อซื้อหุ้นจากตลาดไม่น่ามีปัญหา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พรรคพลังประชาชน ไปร้องต่อ กกต. ให้สอบสวน ส.ส.ปชป. และส.ว.ที่ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ว่า เราต้องอดทนกับการขยันสร้างสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาล ที่มีเจตนาทำให้ประชาชนเห็นว่าทุกอย่างวุ่นวาย ทำให้รัฐบาลบริหารราชการไม่ได้ โดยมีต้นเหตุมาจากรธน. จึงต้องแก้รธน. และกรณีนี้ที่พรรคพลังประชาชนพุ่งเป้ามาที่เรื่องหุ้นของ ส.ส.ปชป. และ ส.ว. ล้วนเป็นหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ตามปกติที่ใครก็ซื้อขายได้

"บังเอิญที่ผมโชคร้าย ราคาหุ้นที่ถือนั้นราคาตก จึงไม่ได้ขายทิ้ง และค้างเก็บไว้ แต่ผมได้แจ้งหุ้นดังกล่าวในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว ซึ่งถ้าหุ้นราคาดีขึ้น ผมก็จะขายออกไป ขาดทุนก็ช่าง ดีกว่าเป็นขี้ปากของฝ่ายรัฐบาล" นายสุเทพ กล่าว

ส่วนหุ้นที่ถืออยู่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนยังไม่ได้ตรวจสอบทางกฎหมาย เพราะติดงานประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค แต่จากนี้จะมีการหารือกับผู้รู้ทางกฎหมาย เพราะมี ส.ส.ของพรรคหลายคนที่โดนเช่นเดียวกับตน และเชื่อว่าถ้าเรื่องนี้ถูกส่งไปถึงศาล ศาลก็คงจะดูเจตนา เพราะหุ้นแค่ 4-5 หมื่นบาท และตนไม่ได้เป็นกรรมการบริหารบริษัท ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในบริษัท และเป็นหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จึงคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา

ส.ส.รัฐบาลถือหุ้นส่อขัด รธน.42 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. พบว่าการถือครองหุ้นของนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่อว่าจะขัดรธน. เช่นเดียวกับ ส.ส.ปชป. และ ส.ว. ปรากฎว่ามีส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ถือหุ้นในลักษณะเดียวกัน รวม 42 คน แยกเป็น พรรคพลังประชาชน 27 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 4 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 1 คน พรรคประชาราช 1 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 3 คน และ พรรคชาติไทย 6 คน

ปธ.วุฒิฯ ชี้ถือหุ้นตามที่ร้องไม่ขัด รธน.

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ยื่นต่อ กกต.เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของส.ว.และส.ส.ที่ถือหุ้นในสื่อสัมปทานของรัฐ รวมทั้งกิจการของรัฐ อาจเป็นการขัดรธน. ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นในส่วนของ ส.ว.พบว่าเป็นเพียงการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เหมือนกับประชาชน ที่สามารถถือหุ้นได้ เพราะทุกคนต้องมีรายได้ ต้องมีธุรกิจ ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดแต่หากพบว่า สมาชิกคนใดถือหุ้นสัมปทานของรัฐ หรือถือครองหุ้นเกิน ร้อยละ 5 ในบริษัทต่างๆ ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม ศาลรธน. จะเป็นองค์กรที่จะพิจารณาว่า ส.ว.และส.ส.ที่เข้าไปถือหุ้นดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา 265 หรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่าไม่ขัด ต้องตรวจสอบต่อไป แต่ทุกอย่างมีทางออก
กำลังโหลดความคิดเห็น