“อดีตผู้บริหารบางจาก” เปิดตัวเลขผลกำไร ปตท.ล่าสุดโกยไปกว่า 1.6 แสนล้านบาท ในขณะที่ประชาชนกรีดเลือดซื้อน้ำมัน แฉ “ข้าราชการ-นักการเมือง” ตัวดีรวมหัวตั้งสูตรโก่งราคาน้ำมัน เล่นลิ้นไปวันๆ ให้คนสับสน ตลกสุดๆ ราคาส่งออกไปสิงคโปร์กลับถูกกว่าขายเองในประเทศ แนะทางออกสุดท้ายต้องจี้สำนึกคนคุมนโยบายให้เห็นแก่ชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
วันนี้ (29 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายประพันธ์ คูณมี อดีต สนช. และนายโสภณ สุภาพงษ์ อดีต ส.ว.หลายสมัย ร่วมเสวนาในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ภาคพิเศษ บนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีนายสำราญ รอดเพชร และนายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายโสภณ กล่าวเรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพงว่า น้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายของทุกคนในประเทศ ฉะนั้นธุรกิจน้ำมันร่ำรวยก็ต้องระมัดระวังว่าเกินความเป็นธรรมหรือเปล่า เพราะค่าน้ำมันมันอยู่ในต้นทุนทุกอย่างในการดำเนินชีวิต ทั้งค่ารถ ค่านม ค่าส่วยรถเมล์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะสังเกตเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่าจะต้องมีนโยบายอะไรๆ ซึ่งก็เหมือนกับรัฐบาลต่างๆ แล้วก็เป็นนโยบายแก้ไขที่เหมือนสมัยตนเป็นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็ลอกกันมา แล้วมันก็ไม่ค่อยได้ผล
นายโสภณ กล่าวว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดให้ตรงเหมือนกันทุกรัฐบาล คือ ตอนนี้น้ำมันดิบซึ่งมีคุณภาพกลุ่มดีที่สุดในโลกที่อเมริกา ราคา 137 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว เพราะฉะนั้น ราคาในประเทศก็ต้องขึ้นไปอย่างนี้ ทำไมไม่บอกประชาชนตรงๆ ว่าน้ำมันที่ราคา 137เหรียญฯนี้ เท่ากับ 27 บาทต่อลิตร คือน้ำมันเวลาที่เราพูดว่า 27 เหรียญต่อลิตร เราเอา 20 สตางค์ต่อลิตร คูณเข้าไปได้เลย จะรู้เลยว่าที่พูดกันไม่รู้เรื่องนั้น จริงๆ มันเท่าไหร่ ก็บอกไปเลยว่าน้ำมันดิบที่สหรัฐฯ ที่แพงที่สุดในโลกนั้น 27 เหรียญต่อลิตร คำถามก็คือ แล้วทำไมเราต้องซื้อน้ำมันในประเทศถึง 40 บาทต่อลิตร ทำไมมันต่างกันมากขนาดนั้น ส่วนต่างมันเป็นมายังไง มันถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ อันนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจแล้วเป็นธรรม
นายโสภณ กล่าวอีกว่า แล้วธรรมชาติของราคาน้ำมันมันในต่างประเทศขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง จะได้นั่งเตรียมตัวกัน ไม่ต้องมาหลอกกัน ไม่ต้องมานั่งหวังลมๆ แล้งๆ แล้วสำคัญว่าในประเทศจะจัดการให้เป็นธรรมอย่างไร เรื่องเหล่านี้ควรให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อควบคุมความเป็นธรรมให้ได้ เขาจะพูดให้สับสนวุ่นวาย แต่เมื่อไม่ว่าจะยักย้ายถ่ายเทหรือรวมอะไรแล้วเนี่ย ก็พบว่าในปีแล้วโรงกลั่นน้ำมันใสประเทศทั้งหมด ซึ่งมี 7 โรง ปตท.มีโรงแยกแก๊สอีกโรง รวมเป็น 8 โรง ใน 5 โรงที่เป็นของเอกชน ปตท.เป็นเจ้าของ อีก 2 โรงของเอกชน รวมทั้ง 7 โรงกลั่นปีที่แล้วมีกำไรหลังหักภาษีแล้วรวมกัน 169,438 ล้านบาท
“ต้องเรียนว่าใครที่จะมาพูดเท็จในทีวีหลังจากที่ผมพูด หรือมาพูดเท็จอย่างเมื่อคืนนี้ ถ้าเป็นผู้บริหารบริษัทอาจจะผิดกฎหมายเลยก็ได้ เพราะตัวเลขรายงานกำไรเป็นแสนแต่มาบอกว่าขาดทุน กำไรที่มีนี้เป็นตัวเลขกำไรที่ทุกบริษัทต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ กับกระทรวงพาณิชย์ตามกฎหมาย แล้วจะมาบอกว่ารายงานที่แจ้งไม่จริง เป็นไปไม่ได้เพราะผูกพันตามกฎหมาย แล้วถามว่ากำไรเกือบ 1.7 แสนล้านบาทเนี่ย มันผิดปกติหรือไม่” นายโสภณ ระบุ
จากนั้น นายยุทธิยง ได้อ่านตัวเลขกำไรจากน้ำมันเมื่อปีที่ผ่านมา ตามรายงานที่นายโสภณได้รับมา ระบุว่า บริษัท โรงกลั่น ปตท.หรือบริษัท สตาร์ กำไร 12,236 ล้านบาท, บริษัทระยองคือโรงกลั่นบริษัทลูกของ ปตท. 18,018 ล้านบาท, บริษัท ไทยออยล์ 19,174ล้านบาท, บริษัท บางจาก 1,764 ล้านบาท, บริษัท ไออาร์พีซี 12,986 ล้านบาท, บริษัท เอสโซ่ 7,053 ล้านบาท บริษัท อาร์พีซี 101 ล้านบาท บริษัท ปตท.รวมโรงแยกก๊าซแอลพีจี 97,804 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จธุรกิจน้ำมันในประเทศนี้ กำไรปีที่แล้ว 169,438 ล้านบาท
นายโสภณ กล่าวเสริมว่า นั่นเป็นเพียงข้อมูล แต่ถ้าเราดูอีกตัว คือ ตัวเลขกำไรรวมของทุกบริษัทเหล่านี้ย้อนหลังไปเมื่อปี 44 ก่อนมีการเอารัฐวิสาหกิจไปขาย จะเห็นว่า ตัวเลขกำไรรวม 7-8 โรงกลั่นนั้นกำไรเพียง 20,330 ล้านบาท และปี 45 มี 22,099 ล้านบาท ซึ่งยอดสองปีนั้นถือเป็นกำไรสูงสุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา ย้อนไป 40-50 ปีก็ไม่เคยเท่านี้
“แต่หลังจากมีการเอารัฐวิสาหกิจไปขาย หลังจากมีการเล่นหุ้น คนขายก็ไปซื้อหุ้นที่ตัวเองเอาไปขายด้วย ก็มีข้าราชการผู้ใหญ่ร่วมทั้งนักการเมืองก็เกิดการผูกขาด ในต่างประเทศนี่การจะเป็นเจ้าของโรงกลั่นหลายๆโรงเขาไม่ให้นะเพราะเขาถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จะเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ ซึ่งเป็นเจ่าหน้าที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองที่อยู่นั้น ส่นหนึ่งเข้าไปเป็นกรรมการ ประธานและถือหุ้นบริษัทโรงกลั่นเอกชน แล้วตัวเองก็ตั้งราคา คุมสูตรราคา บางคนก็ใช้ภรรยาถือ ถ้าไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้นจะพบ”
นายโสภณ กล่าวต่อว่า หลังจากทำอย่างนี้ ในปี 45 กำไรระดับสองหมื่นล้านก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 5หมื่นกว่าล้านบาท ปี 47 ก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นแสนสองหมื่นล้านบาท ขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 50 กำไร 169,438 ล้านบาท ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 45 พอปี 46 ก็มีการกำหนดสูตรราคาน้ำมันและให้เงินชดเชยโรงกลั่นจนประชาชนเป็ฯหนี้อยู่แสนล้าน โรงกลั่นก็กำไรมหาศาล
“เพราะฉะนั้น คนที่ตั้งราคา ทำสิ่งพวกนี้ แล้วเป็นประธานกรรมการ เล่นหุ้นแล้วมาตั้งราคาให้ประชาชนเราเรียกประโยชน์ทับซ้อน จะเห็นว่ากำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 9 เท่า หรือประมาณ 900% ขณะที่ถ้าดูยอดขายรวม จะเพิ่ม 7% ความหมายคือมันผิดปกติมาก บางโรงกลั่นกำไรเพิ่ม 40 เท่า มีข้าราชการผู้ใหญ่ ที่หุ้นเขาราคา 75 บาท แต่ตัวเองถือได้ 10 บาท ยิ่งตั้งราคาให้มีกำไรเพิ่มขึ้น หุ้นตัวเองก็ได้กำไรด้วย”
นายโสภณ กล่าวอีกว่า ในเรื่องน้ำมันก็มีเรื่องน้ำมันดิบในต่างประเทศ แล้วก็มีการปั่นราคา กินกำไร แล้วเมื่อเอาเข้ามาในประเทศต่างๆ ก็แย่แล้ว แพงมหาศาลเลย แต่ประเทศไทยทุกข์ยากกว่านั้นเพราะว่าผู้ที่ดูแลน้ำมันในประเทศกลับร่วมกันหากินซ้ำไปอีก ในระหว่างที่วุ่นวายเดือดร้อนแทนที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์ ปรากฏว่าสุขอย่างเดียว กำไรขึ้น 7 หมื่นล้านเป็นแสนล้านอย่างนี้ มันไม่มีใครดูแลหรือไง ก็พบว่าคนดูแลได้ประโยชน์จากราคา ไม่ได้ประโยชน์จากราคาต่ำ ได้ประโยชน์จากราคาสูง
สมัยก่อนที่จะมีทุนสามานย์ ถ้าใครจะหากินกับรัฐวิสาหกิจฯ ก็เพียงขอเงินไปตีกอล์ฟเพราะไม่มีหุ้น พอมีหุ้น แทนที่จะไปคุมรัฐวิสาหกิจที่ถูกขายหุ้นไปเป็นบริษัท ก็ถูกบริษัทคุมและสั่ง วิธีสั่งก็คือผลประโยชน์ร่วม
อดีตผู้บริหารบริษัทบางจาก อธิบายด้วยว่า ถ้าเป็นรายเล็กรายน้อยเจ้าของปั๊มแย่ เพราะโรงกลั่นตั้งราคาสูงให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ จะได้ร้องบีบรัฐบาล บีบกระแสข่าว แต่ที่โรงกลั่นกำไร แต่มาทำภาพค่าการตลาดแย่แล้ว แล้วขึ้นกำไรก็เป็นของตัวเองทั้งสองขา เหมือนราคาอาหารในครัวต้นทุน 10 บาท ตั้งราคาหน้าร้าน 12 บาท แล้วในครัวก็บอกขาดทุนสองบาท ทั้งที่จริงๆ หน้าร้านแล้วในครัวก็เจ้าของเดียวกัน
นายโสภณ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของราคาน้ำมันตอนนี้คือ เราต้องการคนสุจริตมาช่วยดูให้เรา เพราะมันอยู่ในตลาดเก็งกำไร ไม่เอาประโยชน์ทับซ้อนบนความทุกข์ยากของประชาชน ดูอย่างเม็กซิโก เวเนซูเอล่า ถึงได้ยึดคืนกิจการน้ำมันหมด แล้วนำซ้ำยังไม่ขายให้เอสโซ่ด้วย
นายโสภณ กล่าวต่อว่า เมื่อน้ำมันดิบเข้ามาในเมืองไทย มันก็มีโรงกลั่น ทำตลาด โรงกลั่นก็มีการกำหนดสูตรราคาที่จะกำหนดยังไงก็ได้ เพราะเราซื้อเป็นน้ำมันดิบ ไม่ได้ซื้อสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ จะตั้งยังไงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอิงราคาจากสิงคโปร์ ทุกวันนี้เราสามารถกลั่นน้ำมันได้มากเกินกว่าความต้องการภายในประเทศ แถมยังส่งไปขายที่สิงคโปร์ด้วย แต่วันนี้เราตั้งราคาสูงกว่าในสิงคโปร์ถึง 4 เหรียญ หมายถึงส่งไปขายถูกกว่าขายในประเทศเสียด้วยซ้ำ
“วิธีแก้ปัญหาราคาน้ำมันขณะนี้ คิดว่าเราควรใช้กลไกทำราคาได้ ถ้าคนคุมกลไกราคาสุจริต” อดีตผู้บริหารบางจากกล่าว และเสริมว่า เมื่อปี 46 รัฐบาลได้ตั้งสูตรราคาน้ำมัน แล้วก็ตั้งกองทุนน้ำมันกู้เงินมา แล้วก็สงเงินชดเชยให้บริษัทโรงกลั่น จนกองทุนเป็นหนี้อยู่แสนล้าน เงินประชาชนทั้งนั้นนะ แล้วจากนั้นก็มาเก็บเงินประชาชนคืน ทำมาอย่างนี้ กิจการน้ำมันก็ร่ำรวยมหาศาลจากสูตร