xs
xsm
sm
md
lg

“เฟด”ให้วาณิชธนกิจกู้ยืมต่อ บ่งชี้วิกฤตสภาพคล่องยังยื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ – ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ประกาศยืดอายุช่องทางกู้ยืมพิเศษสำหรับเสริมสภาพคล่องของบรรดาวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯออกไปอีกจนถึงปีหน้า หากว่าวิกฤตสภาพคล่องยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่มีความกังวลในระดับผู้กำหนดนโยบายว่า ความยุ่งยากทางการเงินจะยืดเยื้อมากกว่าที่คาดเอาไว้
การออกมาส่งสัญญาณเช่นนี้ของเบน เบอร์นันกี ประธานเฟด ก็เพื่อบรรเทาความวิตกในวอลล์สตรีทลง เพราะเท่ากับว่าเฟดให้คำมั่นว่าจะหนุนวาณิชธนกิจที่กำลังซวดเซให้ผ่านพ้นวิกฤตสินเชื่อรุนแรงไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผลของการประกาศคราวนี้ทำให้ราคาหุ้นของสหรัฐฯพุ่งขึ้นเมื่อวันอังคาร(8) รวมทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรและสกุลหลักอื่น ๆทั่วโลก ซึ่งก็ไปส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงมามากที่สุดในรอบหลายๆเดือน
อย่างไรก็ตาม การขยายเวลาสินเชื่อพิเศษนี้ก็ยังเป็นการส่งสัญญาณออกไปด้วยว่า ความปั่นป่วนในตลาดการเงินอาจจะเรื้อรังกว่าที่ได้คาดเอาไว้ก่อนหน้า รวมทั้งยังส่งแรงกดดันต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ให้เร่งออกกฎหมายกำกับดูแลธนาคารเพื่อการลงทุนเหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะว่าได้นำเอาภาษีของประชาชนจำนวนมากมาใช้ในการพยุงฐานะ
เบอร์นันกีแสดงท่าทีในเรื่องนี้ ระหว่างไปพูดที่เวทีสัมมนาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่มลรัฐเวอร์จิเนียเมื่อวันอังคารว่า “ ตอนนี้เรากำลังจับตาดูพัฒนาการของตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด รวมทั้งกำลังพิจารณาทางเลือกหลากหลาย ซึ่งรวมทั้งการขยายเวลาการให้กู้ยืมแก่ “ผู้ให้กู้ชั้นต้น”เหล่านี้ออกไปให้เลยสิ้นปีนี้ หากว่าสถานการณ์อันยุ่งยากในตลาดที่เป็นแหล่งเงินแก่ผู้ให้กู้อสังหาริมทรัพย์อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป”

ในเดือนมีนาคม เฟดได้อนุมัติให้ “ผู้ให้กู้ขั้นต้น” (primary dealers) อันเป็นคำใช้เรียกครอบคลุมบรรดาวาณิชธนกิจใหญ่ๆ อย่างเช่น เลห์แมนบราเธอร์ และ เมอร์ริลลินช์ ให้เข้ามากู้ยืมเงินสดจากธนาคารกลางได้เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน จากที่ก่อนหน้านี้เฟดให้บริการนี้แก่ธนาคารพาณิชย์อย่างซิติกรุ๊ป หรือเจพีมอร์แกนเท่านั้น สาเหตุที่เฟดเปิดช่องทางกู้ยืมพิเศษขึ้นก็เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินของสหรัฐฯ โดยเริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกันกับที่เฟดอัดฉีดเงินกู้ 29,000 ล้านดอลลาร์เพื่อประคองแบร์สติร์นสที่ล้มลงเพราะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงเอาไว้
แม้ว่าความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยประคองให้ตลาดการเงินสหรัฐฯให้มีเสถียรภาพมาหลายเดือน แต่ความกังวลเกี่ยวกับหนี้อสังหาริมทรัพย์และสุขภาพของสถาบันการเงินก็หวนกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อหลักฐานที่บ่งชี้ว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯนั้นลึกล้ำเพียงไรถูกประกาศออกมาในวันอังคาร ซึ่งก็คือ ดัชนีชี้วัดจำนวนบ้านที่อยู่ในระหว่างกระบวนการซื้อขายของเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่าลดต่ำลงไปถึง 4.7%
ในขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแล แฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค สถาบันสินเชื่อเคหะยักษ์ใหญ่ที่ได้รับความอุดหนุนจากรัฐบาล ก็พยายามบรรเทาความตระหนกของนักลงทุนที่ว่า สถาบันสินเชื่อเคหะทั้งสองแห่งอาจจะต้องระดมเพิ่มทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพราะกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกบัญชีเสียใหม่
เจมส์ ล็อคฮาร์ท ผู้อำนวยการของสำนักงานกำกับดูแลสถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยของรัฐบาลกลางต้องออกมาบอกว่า “การเปลี่ยนแปลงวิธีการทางบัญชีไม่น่าก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทุน” แต่คำพูดของล็อคฮาร์ทก็ไม่สามารถช่วยให้นักลงทุนมีความรู้สึกดีขึ้น หุ้นของแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมคถูกทุบร่วงลงไป 16.2% และ 17.9% ตามลำดับเมื่อวันจันทร์ แต่ในที่สุดก็ดีดขึ้นมาได้ 11.94% และ 13.01% ในวันอังคาร
ทางด้านรัฐสภาก็กำลังจะเริ่มศึกษาหาหนทางว่าควรจะเปลี่ยนแปลงระเบียบการกำกับดูแลสถาบันการเงินไปอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นซ้ำสอง คณะกรรมาธิการภาคบริการการเงินของสภาผู้แทนราษฎร จะเริ่มรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆในประเด็นนี้วันพฤหัสบดี ซึ่งก็คาดว่าเบอร์นันกี และแฮงค์ พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็จะไปแสดงความคิดเห็นด้วย
ในคำกล่าวของเขาเมื่อวันอังคาร เบอร์นีนกีกล่าวว่ารัฐสภาอาจจะต้องหันมาพิจารณาว่าจะมีเครื่องมือใหม่ใด ๆบ้างที่อาจจะต้องใช้สำหรับการยุบเลิกธนาคารเพื่อการลงทุน “ที่มีความสำคัญต่อระบบ” ซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงล้มละลาย
นอกจากนี้ประธานธนาคารกลางก็ยังกล่าวด้วยว่ากระทรวงการคลังก็ควรจะเข้ามาเป็นผู้นำในกระบวนการดังกล่าว และทางเลือกหนึ่งก็คือเปิดทางให้หน่วยกำกับดูแลของรัฐบาลกลางตั้ง “บริดจ์ แบงก์” หรือหน่วยงานที่รับโอนการดำเนินงานต่าง ๆมาจากบริษัทหลักทรัพย์ที่กำลังจะล้มละลาย – อันเป็นยุทธศาสตร์เดียวกับการแก้ไขปัญหาธนาคารพาณิชย์ที่ล้มละลาย
เบอร์นันกีกล่าวว่าหน่วยงานบริดจ์ แบงก์เหล่านี้มีกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการบรรเทาการสูญเสียของสาธารณะที่จะเกิดจากการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับการประกันก็จะต้องแบกรับภาระขาดทุน
นอกจากนี้เบอร์นันกียังได้กล่าวด้วยว่าในสัปดาห์หน้าธนาคารกลางจะประกาศหลักเกณฑ์ปฏิบัติใหม่ สำหรับการให้กู้ยืมเพื่อซื้อบ้านในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น