xs
xsm
sm
md
lg

ซัพไพรม์..วิกฤตที่ยังไม่หมดฤทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยังไม่มีทีท่าจะจบสิ้น สำหรับวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐอเมริกา เห็นได้จากตัวเลขผลประกอบการสถาบันการเงินชั้นนำของเมืองลุงแซม ที่มีแต่ทรงกับทรุด และยิ่งมาบวกกับราคาน้ำมันที่ไม่มีวันจะดิ่งตัวกลับลงมาต่ำกว่า 90 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งนานวันยิ่งเพิ่มอัตราการเติบโตของเงินเฟ้อ หนำซ้ำราคาอาหารที่ดีดตัว ล้วนถาโถมเข้ามากระหน่ำความเชื่อมั่นของประชากรทั่วโลกให้หล่นวูบมากยิ่งขึ้น

แต่เดิม ช่วงไตรมาส 2 ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดว่าปัญหาซัพไพรม์กำลังใกล้ที่จะยุติลงแล้ว และเศรษฐกิจของสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง แต่วันนี้นักลงทุนส่วนใหญ่หายังรักการกอบโกยกำไรจากการลงทุนประเภทต่างๆ ก็ไม่ควรที่ละเลยการจับตามองการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก ว่ากำลังจะไปในทิศทางใด

เพราะปัจจุบันภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลง อย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากดัชนีตลาดหุ้นในประเทศต่างๆ มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก อันเป็นผลจากความวิตกกังวลในหลายๆประเด็น ได้แก่ ความกังวลเรื่องปัญหาซับไพร์ม ว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเด็นปัญหาซับไพร์มที่ลุกลามไปยังหลักทรัพย์แปรรูป หรือซีดีโอ ที่ทำให้สถาบันการเงินต่างๆที่ลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องตัดหนี้สูญและทยอยประการผลประกอบการที่ขาดทุนออกมาในไตรมาสที่ 1 แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในการลดภาษี ตรึงราคาสินค้า รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจากธนาคารกลางของหลายๆประเทศ แต่ยังไม่สามารถต้านทานแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้

ข้อมูลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกปี 2008ของสหรัฐ ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงจากการคาดการณ์ประกาศครั้งแรกที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งการขยายตัวนี้เกิดจากแรงหนุนในภาคการบริการ การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการส่งออกที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. ลดต่ำลงมากในรอบ 16 ปี เป็นเสมือนการส่งสัญญาณว่าผู้บริโภคจะยังไม่เพิ่มการใช้จ่าย และยังกังวลเกี่ยวกับการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจเมื่อมาตรการคืนภาษีของกระทรวงการคลังสิ้นสุดลง ซึ่งสาเหตุหลัก เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐที่ยังคงซบเซา เพราะราคาบ้านในเดือน เม.ย. ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้การเริ่มสร้างบ้านลดลงในเดือนพ.ค.ลดลงต่ำไปด้วย ส่งผลต่อไปถึงมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยลดลง 4 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2% ถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก นับตั้งแต่เฟดเริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วในเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา เฟดได้ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอในปัจจุบัน ทำให้สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าปรับตัวรับโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25 % ในเดือน ก.ย.นี้ แม้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี

ทั้งนี้ จากสัญญาณหลายอย่างที่แสดงออกมาโดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขที่มีการนำเสนอแบบวันต่อวัน เหมือนกับการชี้ชัดว่าปัญหาซัพไพรม์ยังไม่มีทีท่าจะยุติ เหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้แล้ว เพราะล่าสุดเฟดประกาศยืดอายุช่องทางกู้ยืมพิเศษสำหรับเสริมสภาพคล่องของบรรดาวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯออกไปอีกจนถึงปีหน้า หากว่าวิกฤตสภาพคล่องยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่มีความกังวลในระดับผู้กำหนดนโยบายว่า ความยุ่งยากทางการเงินจะยืดเยื้อมากกว่าที่คาดเอาไว้

การออกมาส่งสัญญาณเช่นนี้ของเบน เบอร์นันกี ประธานเฟด ก็เพื่อบรรเทาความวิตกในวอลล์สตรีทลง เพราะเท่ากับว่าเฟดให้คำมั่นว่าจะหนุนวาณิชธนกิจที่กำลังซวดเซให้ผ่านพ้นวิกฤตสินเชื่อรุนแรงไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผลของการประกาศคราวนี้ทำให้ราคาหุ้นของสหรัฐฯพุ่งขึ้นเมื่อวันอังคาร(8ก.ค.) รวมทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรและสกุลหลักอื่น ๆทั่วโลก ซึ่งก็ไปส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงมามากที่สุดในรอบหลายๆเดือน

นอกจากนี้ การขยายเวลาสินเชื่อพิเศษนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณออกไปด้วยว่า ความปั่นป่วนในตลาดการเงินอาจจะเรื้อรังกว่าที่ได้คาดเอาไว้ก่อนหน้า รวมทั้งยังส่งแรงกดดันต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ให้เร่งออกกฎหมายกำกับดูแลธนาคารเพื่อการลงทุนเหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะว่าได้นำเอาภาษีของประชาชนจำนวนมากมาใช้ในการพยุงฐานะ

เมื่อย้อนหลังกลับไปเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เฟดได้อนุมัติให้ “ผู้ให้กู้ขั้นต้น” (primary dealers) อันเป็นคำใช้เรียกครอบคลุมบรรดาวาณิชธนกิจใหญ่ๆ อย่างเช่น เลห์แมนบราเธอร์ และ เมอร์ริลลินช์ ให้เข้ามากู้ยืมเงินสดจากธนาคารกลางได้เป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน จากที่ก่อนหน้านี้เฟดให้บริการนี้แก่ธนาคารพาณิชย์อย่างซิติกรุ๊ป หรือเจพีมอร์แกนเท่านั้น สาเหตุที่เฟดเปิดช่องทางกู้ยืมพิเศษขึ้นก็เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินของสหรัฐฯ โดยเริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกันกับที่เฟดอัดฉีดเงินกู้ 29,000 ล้านดอลลาร์เพื่อประคองแบร์สติร์นสที่ล้มลงเพราะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงเอาไว้

แม้ว่าความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยประคองให้ตลาดการเงินสหรัฐฯให้มีเสถียรภาพมาหลายเดือน แต่ความกังวลเกี่ยวกับหนี้อสังหาริมทรัพย์และสุขภาพของสถาบันการเงินก็หวนกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อหลักฐานที่บ่งชี้ว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯนั้นลึกล้ำเพียงไร

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง นั่นคือคำกล่าวของเบอร์นันกี เมื่อวันอังการซึ่งกล่าวว่ารัฐสภาอาจจะต้องหันมาพิจารณาว่าจะมีเครื่องมือใหม่ใด ๆบ้างที่อาจจะต้องใช้สำหรับการยุบเลิกธนาคารเพื่อการลงทุน “ที่มีความสำคัญต่อระบบ” ซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงล้มละลาย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังก็ควรจะเข้ามาเป็นผู้นำในกระบวนการดังกล่าว และทางเลือกหนึ่งก็คือเปิดทางให้หน่วยกำกับดูแลของรัฐบาลกลางตั้ง “บริดจ์ แบงก์” หรือหน่วยงานที่รับโอนการดำเนินงานต่าง ๆมาจากบริษัทหลักทรัพย์ที่กำลังจะล้มละลาย – อันเป็นยุทธศาสตร์เดียวกับการแก้ไขปัญหาธนาคารพาณิชย์ที่ล้มละลาย

สำหรับ บริดจ์ แบงก์เหล่านี้มีกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการบรรเทาการสูญเสียของสาธารณะที่จะเกิดจากการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับการประกันก็จะต้องแบกรับภาระขาดทุน

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่าหากไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจอย่างสุดแสน เฟดอาจจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้าที่จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะไม่อยากเป็นจุดสนใจให้นักการเมืองเอาไปใช้เป็นประเด็นหาเสียง

"เฟดน่าจะไม่ต้องการเป็นจุดสนใจทางการเมือง หรือถ้าทำตัวหายไปจากสายตาของประชาชนเลยได้ยิ่งดี และมีหนทางเดียวก็คือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารระยะสั้นหรือเฟดฟันด์เรตก่อนหน้าที่จะถึงการเลือกตั้ง" วิลเลี่ยม พูล อดีตประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ซึ่งเกษียณเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากล่าว

"แต่ผมก็เชื่อว่าหากว่ามีเหตุจำเป็นจริงๆ เฟดก็จะไม่ดูดายแน่ๆ ผมไม่เชื่อว่าเฟดจะปล่อยให้สถานการณ์ผ่านไปโดยไม่มิได้ลงมือ เพียงแค่เหตุผลที่ว่าเป็นปีเลือกตั้งเท่านั้น" พูลกล่าว

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อเฟดอาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินวันที่ 16 ธันวาคม เพราะเป็นการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกของเฟดหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 4 พฤศจิกายนผ่าน พ้นไป

ท้ายสุด ยังมีเรื่องที่ให้ชวนติดตาม นั่นคือ ในสัปดาห์หน้าธนาคารกลางจะประกาศหลักเกณฑ์ปฏิบัติใหม่ สำหรับการให้กู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายเบอร์นันกี กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างมีนัยสำคัญ แบบว่า...ไม่ควรพลาด เพราะอาจมีมาตรการหรือนโยบายใหม่ออกมา ช่วยทำให้นักลงทุนชื้นใจขึ้นอีกก็เป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น