xs
xsm
sm
md
lg

ทีมโฆษกรัฐบาลปะทะคารมสื่อ ปัดความรับผิดชอบ"เขาพระวิหาร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (8 ก.ค.) พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงท่าทีของ ครม. ต่อมติของศาลรัฐธรรมนูญ 8 : 1 กรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูา ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่า ในที่ประชุม มีการคุยกันว่า ทางศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าให้ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า เรื่องนี้ในแง่กฎหมายให้ดูกฎหมายประกอบกัน 2 มาตรา คือ มาตรา 190 และ 154 โดยในส่วนของ มาตรา 190 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงดังกล่าวว่า เอกสารที่ไปลงนามนั้นไม่ถูกต้องตาม ม.190 ก็ใช้ ม.154 ที่ใช้คำว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัด หรือขัดแย้งรัฐธรรมนูญนี้ หรือ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ ร่าง พ.ร.บ.นั้นเป็นอันตกไป ก็หมายความว่า เมื่อศาลมีมติ 8:1 ว่าใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไปลงนามไว้ ก็ตกไป ตาม ม.154 ก็มีเพียงเท่านี้


- เรื่องนี้ รมว.ต่างประเทศ ต้องแสดงความรับผิดชอบหรือไม่

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะว่าในกฎหมายไม่ได้บอกไว้ว่า เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้แล้วต้องทำอะไรบ้าง บอกแต่เพียงว่า เมื่อเอกสารที่ไปลงนามไว้นั้นใช้ไม่ได้ ก็ให้เอกสารนั้นตกไป ก็คือใช้บังคับไม่ได้เท่านั้นเอง ก็ไม่ได้บอกว่าต้องไปลงโทษใคร หรือใครต้องแสดงสปิริตยังไง

- ในส่วนของเรื่องการยื่นถอดถอนตาม มาตรา 270 นั้น

พ.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า กฎหมายบอกไว้แค่นี้ ส่วนใครจะทำอะไรอย่างไร ก็ทำไป แต่ก็จะไปจบที่ว่า รมว.ต่างประเทศได้ทำผิดตาม มาตรา 270 หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทาง ครม.ก็รับทราบว่า ท่านไม่ได้ทำ เพราะว่าได้ทำไปเนื่องจากมีเหตุเกิดขึ้นและปรึกษากรมสนธิสัญญาฯ และส่วนที่เกี่ยวข้องทางฝ่ายบริหารหมดเรียบร้อยแล้ว จึงได้ลงนามไป เรื่องนี้ทางรัฐบาลได้ทำโดยบริสุทธิ์ และไม่ได้ส่อไปในทางทุจริต เพราะฉะนั้นในการถอดถอนนั้น ก็ต้องพิจารณากันอีกเยอะ ในมาตรา 270 เพราะว่าจะถอดถอนได้ต้องมีพฤติกรรมส่อว่า จงใจหรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถึงจะถอดถอนได้

แต่กรณีนี้ รมว.ต่างประเทศ ได้มีการปรึกษากับกรมสนธิสัญญาฯ แล้ว ซึ่งกรมดังกล่าวได้ทำสนธิสัญญาต่างๆ และข้อตกลงต่างๆมานับ 100 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็นฉบับแรก ก็ได้มีการเข้าสู่ที่ประชุมนิติกร และผู้ที่มีหน้าที่ได้พิจารณาแล้วว่าสามารถทำได้ ไม่เข้ามาตรา 190 ประกอบกับความเห็นของเจ้ากรมแผนที่ทหาร กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นรมว.ต่างประเทศจึงได้ลงนาม ดังนั้นก็เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อศาลตัดสินว่าขัด ก็เข้า ม. 154 ก็คือว่าเอกสารนั้นก็เป็นอันตกไป

- ครั้งนี้ เป็นการที่รัฐบาลบริหารงานผิดพลาดหรือไม่ เพราะอยู่ๆก็ไปโยนความผิดให้อธิบดีกรมสนธิสัญญา และกรมแผนที่ทหาร

"ไม่ผิดพลาดครับ เรื่องความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ว่าทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราก็ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ แล้วในที่สุดทางยูเนสโก ก็มีมติขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวพระวิหาร เป็นที่เรียบร้อย แต่ไม่มีการเสียพื้นที่แม้ตารางนิ้วเดียว"

- รัฐบาลจะทำอย่างไร ต่อไป

ก็ไม่ทำหรอกครับ ก็ยกเลิกมติที่ให้ยกเลิกเอกสารที่ลงนามไปแล้วเรียบร้อย โดยใช้มาตรา 154 เมื่อถามว่า ที่ประชุมครม.ในส่วนของอัยการสูงสุด เสนอให้อุทธรณ์ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า อันนั้นเป็นส่วนของอุทธรณ์ คำสั่งศาลปกครอง แต่อันนั้นเป็นความเห็นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติ เพราะฉะนั้นถ้ามีมติออกมาอย่างนี้ อันนั้นก็ไม่มีผล เพราะจะอุทธรณ์ไป ก็ไม่เกิดประโยชน์

- แล้ว ครม.จะแสดงความรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ก็นี่ไง ก็ตามรัฐธรรมนูญ เป็นอย่างนี้ ก็ถ้ายื่นถอดถอนมาก็เข้าสู่กระบวนการ และมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำผิดตามมาตราดังกล่าวหรือไม่

- แบบนี้ยังไม่ผิดใช่หรือไม่

ขณะนี้มันจบตรงที่มาตรา 154 ทั้งนี้ใครก็ตามต้องทำตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายระบุไว้อย่างนี้ มันก็จบตรงนี้ ก็คือว่า เอกสารนั้นก็เป็นอันยกเลิกไป แต่ถ้าใครยังไม่จบ ก็มีช่องทางที่ดำเนินการต่อไปอีกได้ ซึ่งมีขั้นตอนอีกยาวไกล ซึ่งนายกฯ บอกว่า ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็คือใครจะทำอะไรก็ทำไป และไปจบตรงไหนก็จบตรงนั้น

- แสดงว่าคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ครม.ไม่ได้สะทกสะท้านอะไรเลยใช่หรือไม่

ไม่ตอบ ไม่มีความเห็น ไม่มีใครแสดงอย่างนั้น ทุกคนเคารพมติของศาล

- ยอมรับหรือไม่ว่า เหตุการณ์นี้กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

"ไม่ได้พูดกันในที่ประชุมครม."

-จะแสดงสปิริตหรือไม่ เพราะในเมื่อกฎหมายสูงสุดออกมาชี้แบบนี้

อันนี้ตนตอบแทนไม่ได้ เรื่องสปิริต เพราะเมื่อชี้แล้วต่อจากนั้นคืออะไร ก็ไปดูมาตรา 154 เท่านั้นเอง - คำว่าสปิริตในความหมายของครม. มีความหมายมากขนาดไหน

อันนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคลนะครับ เพราะในเมื่อทางผู้ที่เกี่ยวข้องทำงาน เรื่องนี้ทุกคนยืนยันว่า ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และผ่านขั้นตอนมาเรียบร้อยแล้ว ถึงได้ลงนามไป แต่เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นมา ก็ดูกฎหมายต่อว่า จะไปจบตรงไหน ส่วนเรื่องอื่นก็เป็นเรื่องที่จะตามมาตามธรรมชาติ และตามขั้นตอนอย่างที่บอก

- ก่อนหน้านี้ก็มีการทักท้วง แต่ดูเหมือนครม.ก็ไม่ฟังความเห็น

ก็เอาความเห็นนั้นมาประกอบการพิจารณา ถึงได้มีการแถลงข่าวหลายๆ ครั้งของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเอาทั้งแผนที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นบุคคลก็มาพูดกัน รวมทั้งนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ก็ได้ชี้แจงว่าการขึ้นทะเบียนมรดก โลกเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่าจริงๆ แล้วการทำทุกขั้นตอนๆ ไม่ใช่ว่าไปมุบมิบทำ มีการปรึกษาหารือกับผู้ที่รู้แล้ว เพราะถ้าเป็นเจตนาที่ก่อให้เกิดความเสียหายคงไม่มีใครกล้าไปลงนาม

- มีการมองกันว่า นายนพดล ย้ายอธิบดีกรมสนธิสัญญาคนเก่าออกไป แล้วนำคนใหม่เข้ามา มีการมองกันว่ารู้เห็นเป็นใจกันหรือไม่

อันนี้เป็นยังไงไม่ทราบ แต่ว่าจริงๆ ตัวอธิบดีคงไม่นั่งอ่านคนเดียว งานกฎหมายเหมือนกับอัยการต้องมีคณะทำงาน นั่งอ่านและนั่งตีความกฎหมายกัน ฉะนั้นต้องมีในรูปของคณะที่มีความรู้ปรึกษากัน ความเห็นทางกฎหมายไม่เหมือนกัน การฉีกบัตรเลือกตั้งคนนึงฉีกบัตรศาลตัดสินจำคุก แต่อีกคนศาลยกฟ้อง อาจารย์มหาวิทยาลัยเอาไม้กอล์ฟ ตีภรรยาตายไม่ติดคุก แต่แท็กซี่ขับรถชนคนตายโดยประมาทติดคุก ฉะนั้นเรื่องการตัดสินเป็นดุลพินิจของแต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กร หรือว่าแต่ละศาล ฉะนั้น อันนี้ผมไม่ก้าวล่วง ดังนั้นในเมื่อทางฝ่ายรัฐบาลยืนยันอย่างนี้ แล้วท่านจะไปคิดยังไงก็เป็นเรื่องของท่าน ไม่เป็นไรครับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ช่วยโฆษกรัฐบาล ชี้แจงว่า ไม่ใช่ประเด็นว่าครม.บริหารงานผิดพลาดหรือเปลี่ยนตัวอธิบดีฯ แต่เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบและส่วนราชการในสังกัดก็ทำงานร่วมกันมาเป็นขั้นตอน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมสนธิสัญญานั้นตนยืนยันว่าไม่มีผล แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ากระทรวงการต่างประเทศโดยส่วนราชการที่รับผิดชอบเรื่องนี้เห็นพ้องต้องการและสรุปตรงกันว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่เข้ามาตรา 190

"ไม่ได้เป็นความผิดของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ว่ารัฐธรรมนูญนี้ เพิ่งบังคับใช้ แล้วกรณีนี้เพิ่งเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา เห็นไม่เหมือนกัน และเมื่อเห็นไม่เหมือนกันทางกฎหมายก็บอกว่าเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ ส่วนราชการก็ต้องทำความเห็นโดยสรุปลงไป ใครที่เห็นต่างว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา เมื่อมีข้อสรุปอย่างนี้ก็อย่างที่ท่านนายกฯ บอกว่าให้เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้บอกว่ากระทรวงการต่างประเทศผิดหรือไม่ผิด ไม่ใช่ แต่ถ้าทำกันโดยบริสุทธิ์ใจทำกันโดยบริสุทธิ์ใจ เปิเผย ผู้บริหารของกระทรวงยืนยันตามนั้นรัฐบาลก็ต้องว่ากันไปตามหลักเกณฑ์และข้อสรุปของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเอง และในชั้นนี้ก็ยังไม่สรุปว่าเป็นความผิดของครม.หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือว่าตัวของรัฐมนตรี"

- การที่นายนพดลขอปิดเรื่องการปรับแผนที่เป็นความลับ นั้น เรียกว่าความบริสุทธิ์ใจหรือไม่

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ต้องเข้าใจขั้นตอนของการเจรจาระหว่างประเทศ มีทั้งประเด็นที่เจรจาอย่างเปิดเผย และไม่เปิดเผยที่มีความจำเป็นต้องเจรจาเป็นการภายใน และเมื่อรมว.ต่างประเทศ มีดุลพินิจว่าบางประเด็นควรเป็นการภายในก็ใช้วิจารณญาณนั้นในการบริหาร ส่วนผลที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้สุดท้ายก็จะได้ข้อสรุปที่ไม่คลาดเคลื่อนไปจากกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอให้กฎหมายทำงานต่อไปตามธรรมชาติ

- รัฐบาลจะมีอายุอยู่ได้นานหรือไม่

อายุรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 4 ปี แต่จะอยู่ถึง 4 ปี หรือไม่ตนเรียนว่า เหตุที่จะอยู่ไม่ครบก็เช่นยุบสภา หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด แต่วันนี้เหตุนั้นยังไม่เกิด ดังนั้นโดยหลักการก็บอกว่าอายุรัฐบาลอยู่ 4 ปี

- ดูเหมือนรัฐบาลทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ปล่อยให้ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

ช่วงนี้ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ ได้ดึงไมโครโฟนออกจากปาก นายณัฐวุฒิ เพื่อชี้แจงด้วยความไม่พอใจทันทีว่า คุณคิดว่าควรจะทำยังไงครับ ตัวคนถามนี่ คิดว่าจะให้รัฐบาลทำยังไง ก็อธิบายหมดแล้วว่าขั้นตอนเป็น ยังงี้ ยังงี้ แล้วรัฐบาลก็จะปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่ท่านก็ยังไม่พอใจ จะถาม จะต่อว่ายังงั้น ยังงั้น ผมถามว่าท่านต้องการให้เราทำยังไง

- ช่วงนี้ ผู้สื่อต่างช่วยกันตะโกนตอบว่า อยากเห็นการแสดงความรับผิดชอบของ ครม.

เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายคัดค้านเรื่องนี้ตามขั้นตอนตั้งแต่ต้น แต่ นายนพดล ยังยืนยันว่ากระทำถูกตามกฎหมาย

- นายนพดล เคยบอกว่า หากเกิดสิ่งใดจะรับผิดชอบ และครม. จะร่วมรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร

นายณัฐวุฒิ ตอบว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลรับผิดชอบทุกการดำเนินการ และนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ความรับผิดชอบนั้นต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ความรับผิดชอบที่สื่อมวลชนพยายามสอบถามพวกตนว่า รัฐบาลจะลาออก หรือกรณีอื่นๆ นั้น หากถามแบบนี้ พวกตนคงตอบไม่ได้ หากถามว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อไปได้อีกเพียงเสี้ยววัน หรือสัปดาห์จากเรื่องนี้นั้น ตนก็ตอบไม่ได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบทุกกรณีที่ดำเนินการตามที่กรอบกฎหมายกำกับ ฉะนั้นขอให้ใจเย็นๆ ไม่ใช่หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว รัฐบาลต้องแสดงออกในวันนี้ทันที นั้น คงไม่ได้ เพราะยังมีขั้นตอนและกระบวนการอยู่ หากมีการดำเนินการให้รัฐบาลมีอันต้องไม่สามารถอยู่ในการบริหารได้ด้วยกรณีนี้ก็มีช่องทางอยู่แล้ว รัฐบาล ก็ไม่ได้ปิดกั้น เพราะทุกอย่างทำได้ตามขั้นตอนกฎหมาย ตนคิดว่า จริงๆแล้วน่าจะมีความชัดเจน แต่จะถามว่า นายนพดล และรัฐบาลจะรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ คิดว่าเป็นคำถามที่สุดจะหาคำตอบมาให้สื่อมวลชนพอใจในวันนี้ได้

- ความรับผิดชอบเรื่องนี้จะถึงขั้นลาออกหรือไม่

พวกผมไม่มี อำนาจและดุลพินิจพิจารณาเรื่องนี้ และผมพยายามสิ่งที่อธิบายได้ ท่ามกลางคำถามที่อธิบายลำบาก

ช่วงนี้ น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาล ยึดกฎหมายเป็นหลัก ส่วนอารมณ์ความรู้สึกของสังคม นายกฯ และครม. รับฟังความเห็น ทุกฝ่าย แต่รัฐบาลจะตัดสินใจ โดยใช้อารมณ์ ความรู้สึกเป็นหลักนั้น

- ผู้สี่อข่าวได้ชิงถามว่า ขอชี้แจง เพราะ สิ่งที่ถามไปนั้นไม่ได้ใช้อารมณ์ความรู้สึก เพราะหลักประชาธิปไตยนั้นต้องยึดหลักกฎหมาย

นส.ศุภรัตน์ ตอบว่า ขอย้ำว่ารัฐบาล ยึดกฎหมาย และพร้อมฟังความเห็นของทุกภาคส่วน ตามระบอบประชาธิปไตย และนำมาซึ่งกระบวนการหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สังคมนั้น ก็ต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาล จะมีทางออกอย่างไร วันนี้ต้องยึดกฎหมายก่อน ส่วนอารมณ์ความรู้สึกนั้น เข้าใจดีว่าสังคมคิดอย่างไร นายกฯ และครม. ก็เป็นปุถุชน ย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นกัน และพร้อมฟังความเห็นสังคม ส่วนการตัดสินใจนั้น คงตอบไม่ได้ว่า ณ วันนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือปรับครม. คนใดออก ขอย้ำว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะทราบดีว่า หากทำ ผิดนั้น จะมีผลเช่นใดตามมา ฉะนั้นกฎหมายเป็นสิ่งที่ตีความแตคกต่างกันได้ แต่ยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมรับผิดชอบไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

- วันนี้ครม.มีอารมณ์ความรู้สึกเช่นใด

นส.ศุภรัตน์ ตอบว่า นายสมัคร บอกว่า ไม่ต้องวิตกกังวล ปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย หากใครเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเช่นนี้ แล้วครม.จะแสดงความรับผิดชอบแบบใด ก็ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ในการยื่นถอดถอนตามกฎหมาย ซึ่งเป็นที่พึ่งได้นั้นก็ต้องติดตามต่อไป

- นายสมัคร บอกว่า ไม่ต้องกังวล แต่ ครม.คนอื่นๆ แสดงความกังวลหรือไม่

พล.ต.อ. วิเชียรโชติ ตอบว่าไม่มีใครกังวล เพราะทุกคนถือรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจก็ถอดถอนได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 และสุดท้ายจะจบแบบใดก็จบแบบนั้น

- หากมีบางฝ่ายยื่นถอดถอน ครม.ไปยัง ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช.รับเรื่องไว้ ครม.ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที และฝ่ายใดจะบริหารบ้านเมือง

พล.ต.อ.วิเชียรโชติ ตอบว่า ตั้งคำถามได้ดีมาก กำลังรอคำถามนี้อยู่ ผมเป็นนักกฎหมาย และนักรัฐศาสตร์ คราวนี้แหละจะได้พิสูจน์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างปัญหา และทางตันในการบริหารงาน หากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ป.ป.ช. ครึ่งหนึ่งบอกว่า ข้อหานี้มีมูล ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้จนกว่าจะมีมติ หมายความว่า หากป.ป.ช.บอกว่ามีมูล ครม. ต้องหยุดทำงาน แล้วจะทำอย่างไร จบเลย เพราะกฎหมายไม่ได้บอกต่อว่า แล้วใครจะมาเป็น ครม.แทน เพราะคนที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องเป็นส.ส.

- แสดงว่ากฎหมายผิด

ผมไม่ได้บอกว่าผิด แต่มันเป็นทางตัน

- กฎหมายคือตัวอักษร คนคือผู้นำตัวอักษรมาปฏิบัติ และการปฏิบัติอยู่ที่ความรับผิดชอบ และสปิริต

ไม่ใช่ การปฏิบัตินั้นต้องทำตามลายลักษณ์อักษร เขียนไว้แบบใด ต้องปฏิบัติแบบนั้น ฉะนั้นเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนจนถึงสุดท้าย จะมีวิธีการและสิ่งจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อเปิดทางตัน

- หากเป็นแบบนี้แสดงว่ากฎหมายผิดเพราะทำให้เกิดทางตัน

กฎหมายไม่สมบูรณ์ เหมิอนรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 นั้น ไม่ได้เขียนบทลงโทษไว้ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สมบูรณ์ จึงขอพยายามแก้ไข

- รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติแล้ว และรัฐบาลก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็น่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญ

รู้ไหม ประชามติเกิดจากอะไร และถูกต้องรัฐบาลไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ก็ปล่อย ไปตามกฎหมาย มันจบตรงนั้นก็จบตรงนั้น เท่านั้นเอง ก็รอวันนั้นแล้วกัน ครม.เชื่อความบริสุทธิ์ใจในการกระทำครั้งนี้ และอีกฝ่ายไม่เชื่อก็ปล่อยไปตามขั้นตอน คนไม่เชื่อ ก็ว่าไป สุดท้ายจบอย่างไรก็จบอย่างนั้น เมื่อถามแบบนี้ก็อธิบายแบบนี้ (พล.ต.อ.วิเชียรโชติ กล่าวอย่างมีอารมณ์)
กำลังโหลดความคิดเห็น