xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจวกรัฐเมิน ศก.จี้สกัดเงินเฟ้อก่อนเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - เอกชนเหลืออด มองไม่เห็นทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จวกรัฐบาสไร้อนาคต ไม่มีมาตรการดูแล ห่วงแต่การเมืองว่าใครจะอยู่จะไป ทำให้ทีมเศรษฐกิจทำงานไปคนละทาง จี้แบงก์ชาติหารือคลังเคาะดอกเบี้ยด่วนก่อนที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ลำบากขึ้น เสนอกระทรวงการคลังต่ออายุโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3.9 หมื่นล้าน ยอมรับครึ่งปีหลัง NPL มากขึ้น ด้านเงินบาทอ่อนค่ารอบ 7 เดือน ล่าสุดแตะ 33.76

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วานนี้ (7 ก.ค.) ว่า กกร.ยังคงมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเช่นเดิมเนื่องจากยังไม่เห็นแนวทางใดๆ ที่จะทำให้ความเป็นห่วงของเอกชนน้อยลงไปหลังจากก่อนหน้าได้ส่งหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอหารือด้านเศรษฐกิจกับนายกรัฐมนตรีในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) กับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไปแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับ

“เราก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะส่งหนังสือขอหารือไปแล้ว ตอนนี้เข้าใจว่ารัฐคงเน้นแก้ไขปัญหาด้านการเมืองก่อนก็คงจะยุ่งแต่ว่าใครจะอยู่ใครจะไปมากกว่าที่จะดูแลด้านเศรษฐกิจตอนนี้นโยบายก็เลยทำงานไม่ประสานกันจริงๆ แล้วคงจะต้องปรับปรุงกกร.เองก็เคยส่งสัญญามานานแล้วเรื่องการทำงานต้องเป็นทีม ซึ่งก็เข้าภาครัฐว่าคงจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการเมืองก่อนที่จะปรับทีมเศรษฐกิจได้เพราะอาจต้องรอการตัดสินคดีต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน”นายประมนต์กล่าว

สำหรับปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่จะต้องเร่งแก้ไขด้วยการใช้นโยบายด้านการเงินว่าด้วยเรื่องดอกเบี้ยนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และคลังควรหารือแล้วเร่งสรุปเรื่องอัตราดอกเบี้ยเร่งด่วนเพราะหากการตัดสินใจล่าช้าด้วยการปล่อยให้เกิดการถกเถียงกันอาจจะหยุดปัญหาได้ลำบากมากขึ้น ซึ่งการตัดสินเข้าใจว่าลำบากเพราะมีทั้งฝ่ายไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ย และอีกฝ่ายที่ต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจำเป็นต้องถ่วงน้ำหนักและตัดสินใจบนประโยชน์สูงสุดเพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้รู้ทิศทางในการปรับตัวล่วงหน้า

“ปัญหาเรื่องเขาพระวิหารเป็นห่วงเกี่ยวกับการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา แม้ขณะนี้ยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นบานปลายไปในวงกว้างหรือมีผลในทันทีแต่ต้องติดตามใกล้ชิด ส่วนกระแสข่าวการปฏิวัติตัวเองของรัฐบาลนั้นยอมรับว่าเป็นกระแสข่าวแต่จะเกิดขึ้นหรื่อไม่ต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ จึงไม่สามารถแสดงความเห็นจากภาคเอกชนได้”นายประมนต์กล่าว

วอนคลังต่ออายุโครงการดอกเบี้ยต่ำ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาโครงการสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่มในวงเงินที่รัฐบาลได้อนุมัติไว้เดิม อาทิ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 39,000 ล้านบาท ให้สามารถต่ออายุโครงการได้อีก 1-2 ปี หลังจากกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้และไม่สามารถนำวงเงินดังกล่าวมาใช้ได้

นอกจากนี้ประธานสมาคมธนาคารไทย ยังกล่าวอีกว่าวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลได้เคยอนุมัติไว้เดิมมีจำนวนกว่า 84,000 ล้านบาท ซึ่งทางภาคเอกชนได้ขอกู้ไปแล้วเพียง 56,000 ล้านบาท เท่านั้น

ยอมรับ NPL ครึ่งปีหลังน่าห่วง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่ธปท.ระบุให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นโดยให้จับตาครึ่งปีหลังเพราะปัญหาน้ำมันแพงนั้นเห็นว่า ธปท.คงไม่ต้องส่งสัญญาณใดๆ เพราะแบงก์ต่างๆ ได้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้วในปัจจุบันและยอมรับว่าครึ่งปีหลังแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL คงจะเพิ่มขึ้นเพราะคาดว่าผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้น้อยลงหากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวสูงและหากแรงซื้อยังไม่ดีขึ้นเพราะจะกระทบต่อรายได้ที่ลดต่ำ

“กกร.วันนี้เห็นว่าสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะลำบากประกอบกับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรัฐที่เคยให้ไว้ผ่านธปท.วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาทซึ่งใช้แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาทเกรงว่าที่เหลือจะไม่ได้ใช้เพราะระเบียบใหม่ของ ธปท.ไม่สามารถดำเนินการได้ทาง กกร.จึงจะส่งหนังสือไปยังคลังเพื่อให้จัดสรรเงินเหล่านี้ผ่านธนาคารเฉพาะกิจได้หรือไม่ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นเอกชยังไม่ต้องการปรับขึ้นช่วงนี้เพราะจะกระทบต้นทุนผู้ผลิตให้สูงขึ้น”นายสันติ กล่าว

ตั้งคณะทำงานศึกษานิวเคลียร์

นายสันติกล่าวว่า กกร.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาปัญหาราคาพลังงานแพงและเห็นว่าไทยควรจะต้องมีพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มั่นคงในระยะยาวและพลังงานหนึ่งที่เอกชนมองว่าน่าจะแก้ไขได้คือ นิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังจะมีการรวบรวมประเด็นจากการสัมมนาร่วมกับหอการค้าต่างประเทศเพื่อที่จะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

เงินบาทวูบอ่อนสุด 7 เดือนที่ 33.76

นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่าการการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวานนี้ ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวแตะ 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 50 และปิดตลาดในช่วงเย็นที่ระดับ 33.74-33.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"การอ่อนค่าลงของเงินบาท น่าจะมีสาเหตุมาจากเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย และการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก" เขากล่าว และว่า การอ่อนค่าของบาทก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค และเชื่อว่าวานนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าแทรกแซงตลาดด้วย แต่ทำได้เพียงชะลอการอ่อนค่าเท่านั้น เนื่องจากมีความต้องการซื้อดอลลาร์เป็นจำนวนมาก คาดว่าในทางเทคนิคเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก โดยมีแนวต้านต่อไปที่ 33.90 และ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในวันนี้ (8 ก.ค.) มองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ 33.65-33.80 บาทต่อดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น