xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ศึก2สื่อ ไม่ทำสังคมเผชิญหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดประชุมเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน(กวส.) และอภิปรายหัวข้อ สื่อเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน : แนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายสื่อ มีนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และนายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณะบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช. ) ร่วมอภิปราย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2540-2551 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลง กฎหมายสื่อสารมวลชน 7 ฉบับ ส่งผลกระทบทั้งทางด้านวิชาการ และวิชาชีพ มีทั้ง ผู้เสียประโยชน์และได้รับประโยชน์ กฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ยิ่งใหญ่มากในวงการวิชาชีพ เช่น พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2551พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น โดยเฉพาะ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านร่างกฎหมายและบรรจุเข้าสู่การพิจารณา ของสภาอย่างเงียบเชียบที่สุด แต่สุดท้ายก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ เนื่องจากมีกระบวนการสรรหาที่ค่อนข้างมีคำถามว่าเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน เพราะให้ คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลือกตัวแทนจากองค์กรต่างๆ หากมีกระบวนการฮั้วเกิดขึ้นในขั้นตอนการคัดเลือก จะทำให้คณะกรรมการชุดนี้ เป็นคนของรัฐทั้งหมด ทำให้เป็นคนดูแลเรื่องการจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมด ตามไปด้วย หากสื่อใดนำเสนอรายการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ผู้มีอำนาจก็สามารถสั่งระงับรายการได้
นายเกษม กล่าวว่า สำหรับวงการเคเบิลทีวีในรอบ 20 ปี ถือว่าอยู่ในช่วง ลูกผีลูกคน แต่วันนี้มีความหวังอยู่บ้างหลังมีการออก พ.ร.บ.มา แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่กำหนดเคเบิลทีวีมาพร้อมๆ กัน นับว่าประเทศไทยยังเสียโอกาสอยู่มาก เนื่องจากตัวกฎหมายของไทยไม่ทันสมัยและตามไม่ทัน จึงอยากเรียกร้องว่าการออกกฎหมายสำหรับเคเบิลทีวีจะต้องกำหนด กติกา และปกป้องคุ้มครองเคเบิลทีวีไว้ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับร้านโชว์ห่วย ที่ทุนต่างชาติ เข้ามากลืนกินจนกระทั่งร้านโชว์ห่วยตายไปเพราะกฎหมาย
นายเกษม กล่าวต่อว่า สำหรับคำสั่งของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งให้ปิด ASTV และเคเบิลทีวีที่ถ่ายทอดช่อง ASTV นั้น สมาคมฯได้ขอเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และยืนยันที่จะแพร่ภาพต่อไป แต่ยินดีจะร่วมมือกับภาครัฐในการระมัดระวังการนำเสนอ หากมีถ้อยคำรุนแรง ไม่เหมาะสมเราพร้อมที่จะดูดเสียง ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยินดี ทั้งนี้เป็นเพราะเราในฐานะสื่อจำเป็นจะต้องทำหน้าที่เสนอข่าว ให้รอบด้าน และจะไม่เป็นผู้พิพากษาใคร
นายอนุสรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ปัจจุบันนี้ที่สื่อมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน เห็นได้จากล่าสุดสถานี PTV เตรียมที่จะออกอากาศในวันจันทร์ที่ 7 ก.ค.นี้ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกในการแบ่งแยกสื่ออย่างชัดเจน เพราะหากย้อนไป เมื่อประมาณ 30-40 ปี ตั้งแต่ช่วง 14 ต.ค.2516 และเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ก็มีการแบ่งขั้ว อย่างชัดเจนเช่นกัน เช่นเดียวกับปัจจุบัน การแบ่งขั้วครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์หนึ่งของสังคม ซึ่งคงจะนำไปสู่สมดุลของสังคมและกลับไปสู่ความเป็นปกติ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติอย่างที่ว่า
ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เสพสื่อคงจะต้องจำแนกข่าวสาร ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ จะต้องเรียนรู้และเข้าใจสื่อ ไม่ใช่สื่อนำเสนออะไรก็เชื่อไปตามนั้น ซึ่งจะทำให้คนไทย เติบโต แยกแยะ และรู้จักการคิดวิเคราะห์ แต่โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่า สถานการณ์สื่อแบ่งขั้วระหว่าง ASTV กับ PTV จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือเผชิญหน้าในสังคมมากขึ้น
ด้านนายเกษม ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับสถานี PTV ขณะนี้ยังไม่มีการประสานมา ที่สมาคมเคเบิลทีวีว่ารูปแบบการออกอากาศจะเป็นแบบไหน แต่ที่ผ่านมาได้แพร่ภาพ ในช่อง MV ซึ่งไม่ใช่ช่องใหม่ หากไม่ได้มีการเปิดช่องใหม่ก็สามารถแพร่ภาพได้ ตามปกติ แต่ถ้าขอช่องใหม่ สมาคมฯ จะต้องพิจารณาว่าช่องเต็มหรือไม่ ถ้าเหลือ เราก็ยินดีแพร่ภาพให้ เพราะต้องคำนึงถึงความนิยมชมชอบของประชาชน
อย่างไรก็ตามอยากเรียกร้องว่า เคเบิลทีวีไม่ควรรับใช้การเมือง และมาออกอากาศโจมตี ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ตรงข้ามกัน เพราะจะมีความเป็นไปได้ ที่จะทำให้ประชาชน ที่ขณะนี้เรียกว่า อินเกินไป มีอารมณ์ร่วมไปด้วย แต่ถ้าสื่อนำเสนอ ข่าวสารที่มีลักษณะให้สติแก่สังคมครบทุกแง่มุม ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่วันนี้เราปฏิเสธ ไม่ได้ว่า สังคมมีการเลือกข้างอย่างชัดเจน ซึ่งเราก็ไม่สบายใจแต่ก็ไม่สามารถไปปิดกั้นการนำเสนอข่าวได้ หากเลือกนำเสนอก็จะไม่ถูกต้อง แต่สุดท้ายคงต้องขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นสำคัญ ที่จะรับข่าวสารด้วยความมีสติ
นายเกษม กล่าวว่า ส่วนเงินทุนในการเปิดช่องเคเบิลทีวีนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ PTV ระบุว่าขาดทุนจึงต้องปิดสถานี แต่ในวันนี้กลับมาอีกครั้ง ตนก็ไม่ขอออกความเห็น ว่า มีแหล่งเงินทุนมาจากไหน แต่ยืนยันว่าการทำธุรกิจนี้จะต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่ พอสมควร ยิ่ง PTV มีการผลิตรายการอย่างเป็นมืออาชีพ ดังนั้นต้นทุนก็จะต้องสูงตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น